การศึกษาศิลปะ อย่างไร้ขีดจำกัด ในทรรศนะของ ผศ.นันทพล จั่นเงิน - room
จารย์โอ๊ต ผศ.นันทพล จั่นเงิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปากร และ Design Director ของ JUNNARCHITECT เจ้าของ somewhere ถึงคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์”

การศึกษาศิลปะ อย่างไร้ขีดจำกัด ในทรรศนะของ ผศ.นันทพล จั่นเงิน

ตั้งแต่ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นชีวิตชีวาของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กลับมาอีกครั้ง และอีกสถานที่หนึ่งที่หลายคนตั้งตารอคอยการกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง นั่นคือหอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การออกแบบและบริหารโดย อาจารย์โอ๊ต – ผศ.นันทพล จั่นเงิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Design Director ของ JUNNARCHITECT เจ้าของ somewhere สเปซน่ารักของชุมชนคนประดิพัทธ์

การศึกษาศิลปะ อย่างไร้ขีดจำกัด ในทรรศนะของ ผศ.นันทพล จั่นเงิน จะเป็นอย่างไร วันนี้เราจึงชวนคุณมาคุยกับอาจารย์โอ๊ตถึงบทบาทหลากหลายที่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์”

เปิดพื้นที่เพื่อเรียนรู้

การศึกษาศิลปะ อย่างไร้ขีดจำกัด ในทรรศนะของ ผศ.นันทพล จั่นเงิน - บ้านและสวน

“บทบาทหลักที่คิดว่าทิ้งไม่ได้ก็เป็นอาจารย์” อาจารย์โอ๊ตรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาตรีและโท ส่วนหลักในรายวิชาอาคารสาธารณะ “เพราะว่าเด็กปีหนึ่งสองจะเริ่มก้าวจากงานออกแบบบ้าน ที่พักอาศัย มาสู่ความเป็นสาธารณะ ส่วนปริญญาโท ก็เน้นเรื่องแนวความคิด แต่ไม่ว่าทั้งปริญญาตรีหรือโทก็ต้องมีเรื่องแนวความคิดนั่นแหละ แค่ว่ากลุ่มคนต่างกัน”

และจากบทบาทด้านการศึกษานี่เอง ทำให้อาจารย์โอ๊ตได้รับโอกาสจากทางมหาวิทยาลัย เริ่มจากการเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์เป็นเวลา 8 ปี ก่อนจะเดินทางมาสู่ตำแหน่งล่าสุดคือผู้อำนวยการหอสมุดวังท่าพระ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้นำเอาความเป็นศิลปะและการออกแบบเข้าไปจับกับห้องสมุดในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ ที่นี่จึงนับเป็นห้องสมุดศิลปะเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย

“จริงๆ ถ้าพูดถึงห้องสมุดศิลปะ ทุกคนอาจจะมองว่าแค่มีหนังสืออาร์ตหรือดีไซน์ ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจว่า ศิลปากร วังท่าพระ ก็คือต้องเป็นห้องสมุดทางด้านศิลปะ แต่นิยามคำว่าด้านศิลปะ มันไม่ใช่เรื่องเอาหนังสือแค่ด้านอาร์ตดีไซน์ไปใส่ แต่ความเป็นสเปซ สิ่งแวดล้อม เนื้อหาสาระที่อยู่ข้างใน สิ่งของต่างๆ ที่ถูกจัดวาง เป็นไปได้ไหมคุณนั่งอยู่คุณเห็นประติมากรรม คุณนั่งอยู่แล้วมองไปข้างนอกเห็นความงามของพระบรมมหาราชวัง เห็นความงามของซุ้มประตูที่กรมพระยานริศราฯ ออกแบบ ซึ่งแต่ก่อนห้องสมุดแห่งนี้เหมือนกับ introvert มาก การรีโนเวตครั้งนี้จึงต้องการทั้ง extrovert สู่ความเป็นบริบทที่มีความเข้มข้นทางด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่แล้ว เราก็ introvert เข้ามาสู่ตัวเนื้อหาสาระของตัวเองที่มีก็คือของมหาวิทยาลัย”

จารย์โอ๊ต ผศ.นันทพล จั่นเงิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปากร และ Design Director ของ JUNNARCHITECT เจ้าของ somewhere ถึงคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์”

นอกจากบทบาทการเป็นพื้นที่สะสมองค์ความรู้ด้านศิลปะและงานดีไซน์แล้ว อาจารย์โอ๊ตยังมุ่งหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดแลกเปลี่ยนและระดมความคิดของเหล่านักศึกษาสายออกแบบที่เรียนอยู่ในรั้ววังท่าพระ เพื่อจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน

“เด็กจิตรกรรม โบราณคดี มัณฑนศิลป์ และสถาปัตย์ไม่ค่อยมีทางที่จะมาต่อยอดกันในเชิงความคิดนัก เพราะต่างคนต่างก็ทำโปรเจ็คต์ อดหลับอดนอนส่งงาน แล้วก็เริ่มโปรเจ็คต์ใหม่ เราเลยคิดว่าอยากทำให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นอะไรสักอย่างที่มากกว่าแค่ที่เก็บหนังสือ เพราะส่วนใหญ่เด็กเดี๋ยวนี้เข้าห้องสมุดก็เพื่อมานั่งทำงาน แต่ทำยังไงเราจะจุดประกายในโอกาสที่เค้าเข้ามาตรงจุดนั้นได้ต่างหาก และห้องสมุดน่าจะเป็นพื้นที่แพลตฟอร์มที่คนพูดคุยได้ ห้องสมุดเงียบไม่มีอีกต่อไปแล้ว มันควรจะต้องพูดกันได้”

เปิดพื้นที่เพื่อศึกษาและสื่อสาร

“มันเหมือนมีสามส่วนในชีวิต” ทั้งบทบาทของผู้บริหารหอศิลป์ อาจารย์สายออกแบบซึ่งเป็นสายงานที่รัก จึงต่อยอดมา JUNNARCHITECT ที่มีทีมงานเป็นลูกศิษย์ลูกหาที่คุ้นมือกันมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ “ก็พยายามรักษาสมดุลของมันให้ดีที่สุด แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้ไปสุดสักทางหนึ่ง แต่เราทำทุกทางให้เต็มที่ที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันจะเป็นไปไม่ได้ถ้ามันไม่มีทีมงานที่ช่วยเรา เพราะว่าหน้าที่หลักก็ต้องเป็นอาจารย์”

การผลิตผลงานสร้างสรรค์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่ทางความคิดออกมาสู่การเป็นพื้นที่ทางกายภาพ และ somewhere ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้กระบวนการดีไซน์เพื่อสร้างงานสถาปัตยกรรม และพื้นที่นี้ยังส่งต่อเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา ทั้งสำหรับผู้มาเยือน และเป็นพื้นที่เรียนนอกห้องสำหรับนักศึกษาสายดีไซน์

“อย่างพื้นที่ตรงนี้ ด้วยความเป็นสถาปนิก เรามองเห็นศักยภาพที่จะเกิดสถาปัตยกรรม เราก็ลองทำทางเลือกมาตั้งแต่หนึ่งถึงร้อย กว่าจะเป็นที่นี่ทำงานกันเยอะมากว่าจะเป็นอะไรได้บ้าง สุดท้ายมันถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง ร่วมกับบริบทของพื้นที่จริง กระบวนการคิดจึงเริ่มจากเพื่อนบ้านรอบข้าง ชีวิตจริง และความไม่สมบูรณ์ที่มีความงามอยู่ในนั้น”​ (อ่านต่อ https://www.baanlaesuan.com/223545/design/design-update/places/somewhere)

จากปกติในห้องเรียนที่สอนในเรื่องพื้นที่สาธารณะ พูดถึงอาคารใหญ่ พื้นที่ใช้สอยมหาศาล แต่พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ของ somewhere เป็นพื้นที่พิเศษที่อาจารย์โอ๊ตบอกว่า “โปรเจ็คต์นี้สอนอาจารย์”

“ในเชิงสังคม พื้นที่สาธารณะ มันก็ได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วคนมันโหยหาความเป็นโอเพ่นสเปซ เอาจริงๆ คนอาจจะไม่ได้อยากไปเที่ยวร้านอย่างเดียว แต่อยากจะออกมาพื้นที่ข้างนอก อาจจะไม่ได้ต้องการเห็นสวนสวยๆ เค้าอาจจะต้องการแค่พื้นที่เอ๊าต์ดอร์ที่รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย อยู่ใน enclosure space แบบนึงที่ฉากหลังอาจไม่ต้องเป็นวิวพันล้าน แต่มีองค์ประกอบครบ มีต้นไม้ มีเสียงคน มีหมามีแมว ก็ได้เรียนรู้ทั้งหมดด้วยตัวเองจากโปรเจ็คต์นี้”

พื้นที่ของความสมดุล

ก่อนจบบทบสนทนา เราถามอาจารย์โอ๊ตทิ้งท้ายถึงความเหมือนและแตกต่างระหว่างบทบาททั้งหมดนี้ และตรงไหนคือจุดสมดุลของทุกบทบาท

“มีความรู้สึกว่า ถ้าเราเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาด้านออกแบบ มันเหมือนเราต้องลับมีดตลอดเวลา เราก็รีเสิร์ชจากการทำ เรียนรู้จากคน ทดลอง เราก็ต้องเรียนรู้จากตรงนี้แล้วไปสอนเด็ก แล้วเด็กก็สอนเราด้วย บางทีเราก็ได้เรียนรู้มุมมองดีๆ จากเด็กด้วยเหมือนกัน บางไอเดียเราก็เซอร์ไพรส์ว่าเด็กคิดได้ยังไง แล้วบนออฟฟิศก็เป็นลูกศิษย์ผมหมด มันสบายใจกว่าเยอะ”


เรื่อง Skiixy
ภาพ JUNNARCHITECT