THE FIELD สำนักงาน รีเทล และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการของศิลปิน - room
The Field Buddha residence

THE FIELD สำนักงาน รีเทล และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่ปรับปรุงจากโรงงานอลูมิเนียม

บนพื้นที่เดิมของโรงงานอลูมิเนียมในเขตหูหลี่ เมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ตัวอาคารเดิมซึ่งเคยเป็นห้องอาบน้ำส่วนกลางของโรงงาน ที่เมื่อปี 2019 อาคารนี้ได้รับการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนให้เป็นอาคารสำนักงานสร้างสรรค์ บาร์ สนามบาสเก็ตบอล และพื้นที่ไลฟ์สตรีมมิง

กระทั่งล่าสุด TEAM_BLDG ได้รับโจทย์จากศิลปิน Jiang Sheng ในการปรับปรุงพื้นที่อาคารส่วนที่เหลือเป็นสตูดิโอแห่งใหม่ และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในชื่อโครงการ The Field
The Field Buddha residence The Field Buddha residence The Field Buddha residence

Buddha residence

TEAM_BLDG อธิบายว่า โครงการนี้คือความแตกต่างจากการออกแบบสถาปัตยกรรมก่อนหน้าทั้งหมด เพราะที่นี่เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับการจัดแสดงพระพุทธรูปในนิทรรศการ JIANGJIABAN ดังนั้น ในการปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหม่จึงต้องออกแบบให้สะท้อนถึงบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบ The Field สถาปัตยกรรมที่ซ่อนเร้นและล่องหน ตัวอาคารทำหน้าที่เป็นเพียงสื่อกลางสำหรับจัดแสดงพระพุทธรูป บรรจุแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และเป็นที่พำนักของพระพุทธเจ้าในโลกโลกีย์ ถึงกระนั้น Jiang Sheng ศิลปินเจ้าของอาคารก็ไม่ได้มุ่งหวังให้ The Field เป็นดินแดนบริสุทธิ์เฉกเช่นสุขาวดี แต่ตั้งใจให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่มีจิตวิญญาณน่าดึงดูด เพื่อปลดเปลื้องแนวคิดที่โดดเดี่ยวซึ่งเข้าถึงได้มากกว่า
The Field Buddha residence
ทีมออกแบบคงรูปแบบของอาคารเก่าไว้ อันประกอบด้วยอาคารสามส่วนเรียงกันจากทิศใต้ไปทิศเหนือในลักษณะขั้นบันได โดยกำหนดเป็นอาคาร 1, 2 และ 3 ตามลำดับและจำนวนชั้น เริ่มจากอาคาร 1 เดิมที่มีหน้าต่างจำนวนหลายบานหากมองจากด้านหน้า ในขณะที่ภายในแบ่งสเปซออกเป็น 5 ส่วน ต่อมาคืออาคาร 2 ที่ทางด้านตะวันออกของอาคารมีต้นแมกโนเลียขนาดใหญ่เป็นจุดสังเกต ส่วนภายในอาคารเป็นพื้นที่โปร่งเพดานสูงแบบดับเบิ้ลสเปซ และสุดท้ายอาคาร 3 ทางด้านทิศเหนือซึ่งเป็นพื้นที่สำนักงานที่มีบานกรอบหน้าต่างทางด้านหน้าของอาคารเป็นจุดสังเกต
The Field Buddha residence The Field Buddha residence
จากแนวคิดทางสถาปัตยกรรมซึ่งเป็น “ที่ประทับของพระพุทธเจ้า” หรือ Buddha residence นำมาสู่การปรับปรุงอาคารจากภายในสู่ภายนอก เริ่มจากลบหน้าต่างที่มีโดยการสร้างผนังปิดทึบหนาให้กับตัวฟาซาดอาคาร 1 และ 2 และทุบผนังภายในของอาคาร 1 ออกเพื่อสร้าง “ห้องมืด” ที่มีบรรยากาศปิดล้อม นอกจากนี้ยังเลือกใช้สีขาวเป็นโทนสีหลักภายในห้องจัดแสดง ลดทอนรายละเอียดในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เพื่อขับเน้นให้พระพุทธรูปเด่นชัดยิ่งขึ้น ส่วนอาคารด้านนอก ออกแบบรูปฟอร์มอย่างเรียบง่าย ผืนผนังเป็นดั่งผ้าใบที่ไร้รอยหมึก ถูกทาทับด้วยสีเหลืองโทนเดียวกับดอกของไม้จันทน์เช่นเดียวกับภายในอาคาร ที่ซึ่งพื้นผิวนั้นมีความหยาบกระด้าง ตรงข้ามกับความประณีตของพระพุทธรูป
The Field Buddha residence The Field Buddha residence The Field Buddha residence

Vessel of light

เพราะเซียะเหมินตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งมีแสงแดดและฝนตกชุก อาคารแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นทั้งหมดจึงใช้หลังคาลาดขนาดใหญ่ และมักจะสร้างช่องแสงด้วยหน้าต่างที่มีบานกรอบขนาดเล็ก ทีมออกแบบนำแรงบันดาลใจดังกล่าวมาประยุกต์กับการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยการเพิ่มช่องแสงสกายไลท์จำนวน 31 ดวง ด้านบนของอาคาร ทั้งแบบทรงกลมจำนวน 28 ดวง และทรงสี่เหลี่ยม 3 ดวง เพื่อสร้างมิติของแสงที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้พื้นที่จัดแสดงงานมีความน่าดึงดูด ทั้งบริเวณพื้นที่ภายในห้องโถงใหญ่ และในห้องมืดที่แสงปะทะลงมากระทบเพียงองค์พระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้และหินเปลี่ยนไปตามมุมของแสงแดดในแต่ละช่วงของวัน
The Field Buddha residence The Field Buddha residence The Field Buddha residence The Field Buddha residence
พื้นที่ชั้นเดียวที่เชื่อมต่อกับทางทิศใต้ของห้องโถงใหญ่คือ ห้องมืด ทีมออกแบบเปิดช่องหลังคาสกายไลท์สี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดต่างกันสองบานที่ด้านบนของห้องมืด และหน้าต่างแถบแนวนอนที่ด้านล่างของผนังด้านหนึ่ง เทียบกับห้องโถงใหญ่แสงในห้องมืดจะฟุ้งกระจายและเกิดหมอกได้มากกว่า ดังนั้นพระพุทธรูปในห้องมืดจึงทำจากวัสดุโปร่งใสเช่นหยก ซึ่งภายใต้การสะท้อนของแสงและเงาของพระพุทธรูปจะให้ภาพที่ขมุกขมัวและเห็นเป็นสายรุ้งในบางคราว
The Field Buddha residence The Field Buddha residence
มุมหนึ่งของห้องโถงนิทรรศการหลัก มีบันไดวนนำไปสู่ระเบียงดาดฟ้า ที่ซึ่งกิ่งก้านใบของต้นแมกโนเลียอยู่ใกล้แค่เอื้อม คลุ้งด้วยกลิ่นหอมของใบไม้และดอกไม้ จากมุมนี้มีการเพิ่มบันไดกลางแจ้งที่มุมระเบียงเพื่อเชื่อมต่ออาคาร 2 และ 3 เข้าด้วยกัน และเพื่อเพิ่มความโปร่งโล่งในพื้นที่สำนักงาน ทีมออกแบบได้ถอดผนังปล่องลิฟต์ที่หนาทึบและเพิ่มช่องสกายไลท์ด้านบนของบันไดเพื่อสร้างแสงและเงา พร้อมนำไปสู่โชว์รูมแฟชั่นและเวิร์คช็อปที่ชั้นหนึ่งและชั้นสองของอาคารสำนักงาน ด้วยการออกแบบนี้เอง ก่อให้เกิดการหมุนเวียนหมุนเวียนเข้าและออกจากอาคารจาก ต้นแมกโนเลีย – รูปปั้นพระพุทธรูปและแสง – ระเบียงดาดฟ้า – พื้นที่สำนักงาน – โชว์รูมแฟชั่น – ต้นไม้แมกโนเลีย ซึ่งเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเส้นทาง
The Field Buddha residence The Field Buddha residence
นอกจากนี้เนื่องจากบริบทของเมืองที่ซับซ้อน ภายหลังจากสร้างเสร็จ ทีมออกแบบยังพบ “อุบัติเหตุ” อันเกิดากความไม่ตั้งใจที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ห้องประชุมเดิมที่เปลี่ยนเป็นสีชมพูภายใต้เงาสะท้อนของอาคารสีแดงจากนอกหน้าต่าง กรอบหน้าต่างสีเทาเรียบง่ายที่ดูเหมือนสีม่วงจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายนอก ที่สุดแล้วศิลปินเจ้าของอาคารก็ตัดสินใจที่จะเก็บ “อุบัติเหตุ” ที่เป็นเหมือนการตีความความหมายของ “Elysium” ในพุทธศาสนา เหล่านี้ไว้ทั้งหมด
The Field Buddha residence The Field Buddha residence The Field Buddha residence
TEAM_BLDG อธิบายทิ้งท้ายว่า เมื่อพูดถึงจุดประสงค์ของการสร้าง “The Field” สำหรับตัวของ Jiang Sheng เขาหวังที่จะสร้างบางสิ่งบางอย่างโดยมีรูปปั้นพระพุทธรูปช่วยนำเสนอประสบการณ์ใหม่และข้อมูลเชิงลึกในพลังแห่งศรัทธาเป็นสำคัญ
The Field Buddha residence
พื้นที่ใช้สอย: 842 ตารางเมตร
ออกแบบ: TEAM_BLDG | http://www.team-bldg.com
สถาปนิก: Xiao Lei, Yang Yuqiong, Lin Wenjun และ Wang Han
ภาพ: Jonathan Leijonhufvud, TEAM_BLDG
เรียบเรียง: ND24