ถ้าถามว่าเมนูกาแฟอะไรคือเอกลักษณ์ของออสเตรเลีย ประเทศต้นกำเนิดกระแสกาแฟ Thrid Wave ก็คงบอกได้ทันทีว่าคือ Flat White ประกอบกับที่เจ้าของร้าน(และบ้านที่ชั้นบน) เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เมื่อกลับมาไทยเขาจึงเปิดร้านกาแฟของตัวเองขึ้น โดยใช้ชื่อว่า Flat+White Cafe เพื่อบ่งบอกตัวตนและความผูกพันกับกาแฟที่นั่น
“ความนุ่มละมุนจากครีมนม” คือคอนเซ็ปต์ที่ถูกนำมาใช้ สองส่วนหลักที่เห็นได้ชัดคือ “สีสันบรรยากาศ” และ “เส้นสายโค้งรับต่อเนื่อง” ตลอดทั้งโครงการ
การเลือกใช้ “สีขาว” เป็นหลักนี้ เพื่อสื่อถึงความนวลเนียนของนมบนกาแฟที่ถูกเจือด้วยสีน้ำตาลอ่อน ๆ ผนวกกับพื้นผิวที่ใช้เทคนิคปูนปั้นสร้างความนูนต่ำเกิดเป็นแสงเงาคล้ายคลื่นบาง ๆ ทำให้รู้สึกถึงความนุ่มละมุนมากยิ่งขึ้น เปรียบได้กับการที่เมื่อเข้าไปใช้บริการร้านแห่งนี้ ก็เหมือนได้เข้าไปอยู่ในครีมนมอันนวลเนียน
อีกส่วนคือ “เส้นสายต่อเนื่อง” ที่ถูกใช้ตั้งแต่ฟาซาดภายนอก จนไหลเข้าสู่ภายในนั้นเปรียบเหมือนเทคนิค Latte Art ของการเทแบบ Free Pouring การสร้างลวดลายที่เกิดจากการซ้อนทับของชั้นเลเยอร์จากนม เมื่อถูกเทลงไปแล้วส่ายสะบัดจนเกิดเป็นลวดลาย ภายนอกนั้นใช้สเตนเลสแผ่นทำสีขาวด้านซ้อนเรียงกันและโค้งรับขับเน้นบริเวณทางเข้าไหลเข้าสู่ภายใน ทุกพื้นที่มีการเน้นด้วยเส้นและการซ้อนกันของฝ้าเพดาน สร้างความต่อเนืองโค้งมนช่วยลบความรู้สึกเป็นเหลี่ยมของอาคาร
“เมื่อจะออกแบบร้านการแฟร้านนี้ ผมอยากให้มันร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันไปตลอดทั้งอาคาร ตั้งแต่แรกเห็นที่จากภายนอกจนเข้าสู่ภายใน ไปจนถึงทุก ๆ องค์ประกอบ เช่น ลวดลาย สีสัน และแสงเงา การสื่อถึงความนุ่มละมุนของนม เลเยอร์ที่ค่อย ๆ ซ้อนทับเข้าด้วยกัน แต่ด้วยความที่เป็นอินทีเรียร์การคิดสเปซทั้งหมดนี้ ผมเริ่มจากการออกแบบการใช้งานภายในก่อนจะค่อย ๆ ไหลออกสู่ภายนอกครับ นั่งตรงนี้ แสงลงตรงนั้น มองออกไป คนที่ใช้งานภายในจะรู้สึกอย่างไร แล้วจึงค่อย ๆ ประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันในท้ายที่สุด”
ความน่าสนใจคือในการออกแบบ คุณต้น-บดินทร์ พลางกูร ได้เลือกใช้วิธีการคำนวณแบบ Parametric Design แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่ยังต้องการความคราฟต์ ในงานทำมืออยู่ ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นลายเซ็นอันโดดเด่นของ Context Studio เช่น พื้นผิวของผนังนูนต่ำที่แสดงลูกคลื่นจากฟองนม คุณต้นใช้การร่างแบบด้วยมือในพื้นที่ก่อนจะผูกเหล็ก และเลือกใช้ช่างฝีมือปูนปั้นมาทำการผลิตชิ้นงานในพื้นที่อีกขั้นหนึ่ง ในส่วนนี้เขาได้อธิบายว่า แม้เราจะมีความจำเป็นในการออกแบบอย่างแม่นยำ ทั้งในแง่การก่อสร้างและการควบคุมวัสดุ ผ่านวิธีการแบบ Parametric Design สำหรับรูปทรงฟรีฟอร์มเช่นนี้ แต่สุดท้ายแล้วเสน่ห์แบบงานคราฟต์ก็ยังจำเป็นเพื่อให้ผลงานมีคุณค่าและแตกต่างอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่จะเป็นเหมือนเอกลักษณ์เฉพาะของงานชิ้นนั้น ๆ
สำหรับในส่วนภายนอกที่เป็นตะแกรงฟาซาดห่อหุ้มโดยรอบอาคาร แท้จริงไม่ใช่เพียงส่วนประดับเพียงเท่านั้น แต่แผ่นสเตนเลสเหล่านี้ยังช่วยในการบังแดดให้กับพื้นที่ใช้งานภายในอาคาร ทั้งยังสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน และผู้อยู่อาศัยที่ชั้นบน โดยที่ผู้ที่อยู่ภายในไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด
ออกแบบ: Context Studio
ภาพ: SkyGround architectural film & photography
เรื่อง: Wuthikorn Sut