Schoonschip ชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ ยั่งยืนด้วยพลังงานหมุนเวียน - room

Schoonschip ชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ ยั่งยืนด้วยพลังงานหมุนเวียน

ในเมื่อผืนน้ำกินพื้นที่กว่า 70% ของโลก ถ้าเรามองหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างยั่งยืน ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อในเขตเมืองนับวันยิ่งมีอัตราการอยู่อาศัยที่หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ Schoonschip จึงเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ ที่ออกแบบทางเลือกใหม่ของการใช้ชีวิตบนน้ำของผู้คนสำหรับโลกยุคอนาคต

Schoonschip ชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ ตั้งอยู่ในคลอง Johan van Hasselt ทางเหนือของกรุงอัมสเตอร์ดัม ออกแบบโดย Space&Matter สำนักงานสถาปนิกสัญชาติเนเธอแลนด์ ด้วยความตั้งใจที่จะออกแบบผังเมืองที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยยุคใหม่ พวกเขาร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา และผู้อยู่อาศัยท้องถิ่น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนต้นแบบแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วย 30 ยูนิตลอยน้ำ โดยแต่ละยูนิตอยู่ร่วมกัน 2 ครอบครัว รวมบ้าน 46 หลังสำหรับสมาชิกชุมชนกว่าร่วม 100 คน โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2011 และบ้านหลังสุดท้ายจะแล้วเสร็จในปีนี้ เจ้าของบ้านสามารถร่วมออกแบบกับสถาปนิกที่ตนเลือก ส่งผลให้บ้านแต่ละหลังแตกต่างกัน ทั้งด้วยวัสดุ และรูปแบบเฉพาะตัว นอกจากนี้ แต่ละยูนิตของบ้านลอยน้ำ Schoonschip สามารถใช้เรือเคลื่อนย้ายไปก่อสร้างในพื้นที่อื่น โดยไม่ทำให้เกิดมลภาวะทางเสียง รบกวนเพื่อนบ้านรอบข้าง

Space&Matter สำนักงานสถาปนิกสัญชาติเนเธอแลนด์ ที่ทำงานออกแบบมากกว่าแค่งานสถาปัตยกรรม แต่ยังรวมไปถึงงานผังเมือง และการวางแผนพัฒนา เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น

ชุมชนพลังงานหมุนเวียนแห่งนี้ สร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานด้วยกันเองภายในชุมชน ผ่านระบบไฟฟ้า smart – grid ที่เชื่อมต่อกับแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแต่ละหลัง ในขณะเดียวกันก็มีระบบกักเก็บน้ำฝนบนหลังคาเพื่อนำมาใช้ภายในบ้าน ส่วนน้ำประปาผลิตด้วยการดึงน้ำใสจากคลองหมุนเวียนผ่านตัวเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วส่งไปยังเครื่องทำความร้อนที่อยู่ใต้คลอง เพื่อเปลี่ยนอุณหภูมิน้ำให้ร้อนหรือเย็น นอกจากนี้ ท่าเรืออัจฉริยะยังออกแบบให้มีระบบรับน้ำเสียจากภายในบ้าน และลำคลอง เพื่อส่งไปบำบัดเป็นพลังงาน (ก๊าซชีวภาพ) และธาตุอาหารสำหรับพืช หมุนเวียนกระจายกลับไปให้ชุมชนได้ใช้ตลอดทั้งปี

นอกจากความยั่งยืนทางด้านสภาพแวดล้อม และพลังงานหมุนเวียนแล้ว ชุมชนยังเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้ร่วมกันวางแผนปรับปรุงที่อยู่อาศัย สถาปนิกจึงออกแบบท่าเรืออัจฉริยะ ให้สามารถเดินเชื่อมต่อเข้ากับบ้านทุกหลัง เพื่อเป็นจุดนัดพบสังสรรค์ ยิ่งไปกว่านั้น ในการเดินทางของสมาชิกในชุมชน ยังใช้เรือที่ชาร์จพลังงานผ่านระบบไฟฟ้า smart – grid รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบส่วนรวมในการคมนาคมบนท้องถนน


หากใครสนใจบ้านลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonschip ก็พร้อมที่จะมอบประสบการณ์ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาให้ได้เรียนรู้กันอีกด้วย ในเว็บไซต์ www.schoonschipamsterdam.org ซึ่งแบ่งปันความรู้แบบ Open source ให้ทุกคนสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้เลย

ไดอะแกรมแสดงการสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชน

ภาพแสดงแผนผังสีตำแหน่งของตัวบ้าน และตัวบ้านซึ่งมีรูปแบบ และขนาดที่แตกต่างกัน

เมื่อย้อนกลับไปดูรูปเก่า ๆ ของแม่น้ำลำคลองในอดีต จะพบว่าไทยเราก็มีบ้านลอยน้ำหรือเรือนแพมีมายาวนาน และปัจจุบันก็ยังพบได้ในจังหวัดอุทัยธานี บางทีอาจถึงเวลาที่เราต้องปรับตัว หยิบบ้านเรือนแพกลับมาปัดฝุ่น และผนวกเข้าด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยท่ามกลางปัญหาน้ำท่วมก็อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ออกแบบ: Space&Matter
ภาพ: Isabel Nabuurs, Alan Jensen, Space&Matter
เรียบเรียง: j – bob


เปลี่ยนแก้วพลาสติกเหลือใช้เป็นอาคาร PEA ECO-PAVILION