Trial Not Error คาเฟ่เชียงใหม่ ไซซ์มินิ ตั้งอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับการตกแต่งตามใจฉัน แต่ออกมาเท่จัดเต็มด้วยสไตล์ลอฟต์
คาเฟ่เชียงใหม่ แห่งนี้ เกิดขึ้นจากความชื่นชอบของเจ้าของร้าน แม้จะเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์รั้วมช. แต่ด้วยความชื่นชอบ หรืออาจเรียกว่าความหลงใหลในเครื่องดื่มประเภทชาเขียว เขาและเพื่อนจึงร่วมกันมองหาทำเลตั้งร้าน โดยเลือกตึกแถวในย่านที่คุ้นเคยตั้งแต่สมัยเรียน เพื่อเปิดคาเฟ่เล็ก ๆ แต่กลับดูโดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุและแนวคิดที่ต้องการสื่อสารความไม่ธรรมดา ผ่านงานออกแบบ-ตกแต่งเพื่อเอาใจพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่
และเนื่องจากที่ตั้งเป็นอาคารตึกแถว พวกเขาจึงเกิดแนวคิดนำแผ่นสเตนเลสที่มีผิวมันวาวทั้งแผ่นมากรุลงไปที่ฝ้าเพดาน เพื่อเป็นตัวช่วยสะท้อนให้ร้านดูกว้างขึ้น ทั้งยังเป็นไอเดียทำให้ร้านมีจุดเด่นเป็นที่จดจำได้ง่าย โดยผ่านลูกเล่นที่ไม่เหมือนใคร แต่ทั้งนี้คุณนอร์ทก็แอบกระซิบว่า การใช้แผ่นสเตนเลส อาจมีข้อเสียอยู่บ้าง นั่นคือเป็นวัสดุมีราคาค่อนข้างสูง และไม่ค่อยมีใครใช้ทั้งแผ่นดังเช่นแบบนี้ โดยแลกมาด้วยผลลัพธ์ที่สร้างความรู้สึกสวยงามเข้ากันได้อย่างดีกับร้านคอนกรีตสีเทา
นอกจากสเตนเลสจะเป็นวัสดุช่วยสะท้อนเรื่องราวและบรรยากาศแล้ว ผนังด้านหนึ่งออกแบบด้วยการทำลวดลายคล้ายลอนลูกฟูก ซึ่งใช้เทคนิคการนำปูนกาวมาปาดทำลายลูกฟูก (มองเผิน ๆ ให้อารมณ์เหมือนผนังกรุด้วยแผ่นสักกะสี) เพิ่มดีเทลด้วยการทาสีไล่เฉดแบบเกรเดียนต์ ขณะที่ผนังอีกฝั่งเลือกโชว์ลายของอิฐบล็อกดิบ ๆ แบบไม่ปิดผิว แล้วแทรกฟอนต์สเตนเลสเครื่องหมายคำถามฝังลงไปข้างใน เป็นอีกมุมที่ใคร ๆ เห็นก็ต้องมาถ่ายรูป ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ก็เน้นทำมาจากสเตนเลสเช่นกัน แล้วแทรกอะคริลิกใส มีโซนสำหรับนั่งกึ่งยืนพิงราวสเตนเลสแบบไม่ใช่มุมที่นั่งถาวร สำหรับคนที่ต้องการแค่แวะมาซื้อเครื่องดื่ม แล้วยืนคอยสักพัก ก่อนรับเครื่องดื่มกลับไปเรียน หรือทำงานต่อแบบทำเวลา เป็นอีกไอเดียเก๋ ๆ ที่ยึดตามพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ
จากการลองผิดลองถูก ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง สิ่งนี้ได้กลายเป็นที่มาของการออกแบบโลโก้รูปลายนิ้วมือ และเครื่องหมายคำถาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการคิดและลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ และการออกแบบร้านด้วยตนเอง แม้ชื่ออาจจะจดจำยาก แต่อย่างน้อยคนก็น่าจะจดจำเครื่องหมายคำถามนี้ ผ่านโลโก้และการเลือกใช้ธีมสีฟ้าสดใส คุณนอร์ทอธิบายไว้เช่นนั้น
สำหรับเมนูของที่นี่ส่วนใหญ่เขาเน้นเครื่องดื่มประเภทชาเขียวเป็นหลัก กินคู่กับขนมที่มีชื่อเรียกว่า ครอฟเฟิล (Croffle) ขนมสุดป็อปลูกครึ่งระหว่างครัวซองต์กับวาฟเฟิล “ผมคิดว่าที่เชียงใหม่ร้านขนมครอฟเฟิลยังมีน้อย จึงอยากลองทำขาย แล้วก็ทำในรูปแบบใหม่ อย่างเมนู Croffle with Chocolate Bar นำมาหนีบกับชอกโกแลตบาร์ เป็นอีกเมนูที่ขายดีประจำร้านครับ”