“Coffee Ngeggee” จากร้านกาแฟเล็ก ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกตามชื่อของอาม่า ที่คนในละแวกอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่อยู่ใกล้เคียงต่างติดใจ มาวันนี้ถึงคราวต้องย้ายจากคาเฟ่บ้านไม้ สู่พื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นภายในโกดังเก็บสินค้าเก่าของครอบครัว เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับทำเบเกอรี่และอาหารที่จริงจังขึ้น พร้อมกับช่วยสะท้อนตัวตนและเรื่องราวความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนได้อย่างตรงตัวและชัดเจน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: pommballstudio
โดยทีม pommballstudio ยังคงรักษารูปทรงของโครงสร้างโกดังเก่า ขนาด 240 ตารางเมตร นี้ เอาไว้ ไม่รื้อหลังคา หรือโครงสร้างใด ๆ ก่อนจะบรรจุงานออกแบบที่สะท้อนถึงกลิ่นอายความเป็นจีนเข้าไป สร้างสรรค์ให้โกดังเก่ากลายเป็นคาเฟ่สไตล์จีนที่น่ามาเยือน
โดยได้วางใจให้ pommballstudio เป็นผู้ออกแบบ โดยทีมออกแบบยังคงรักษารูปทรงของโครงสร้างโกดังเก่า ขนาด 240 ตารางเมตร นี้ เอาไว้ ไม่รื้อหลังคา หรือโครงสร้างใด ๆ ก่อนจะบรรจุงานออกแบบที่สะท้อนถึงกลิ่นอายความเป็นจีนเข้าไป สร้างสรรค์ให้โกดังเก่ากลายเป็นคาเฟ่สไตล์จีนที่น่ามาเยือน
แนวคิดการออกแบบ สถาปนิกหยิบไอเดียภาพวาดพู่กันจีนโบราณ มาใช้เป็นคอนเซ็ปต์หลัก เริ่มตั้งแต่ทางเข้าคาเฟ่ ที่หากสังเกตดี ๆ ที่พื้นจะพบกับกราฟิกตัวหนังสือภาษาจีน ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ยินดีต้อนรับ” เป็นเสมือนพรหมแดงนำทางทุกคน มุ่งเดินจากลานจอดรถเพื่อมายังตัวอาคาร ที่ถูกขนาบข้างทั้งซ้าย-ขวาด้วยสวนหิน ซึ่งทำจากแผ่นหินที่นำมาเรียงต่อกันเป็นรูปก้อนหินในลักษณะของแผ่นแบน ๆ ซ้อนเลเยอร์กัน เหมือนรูปวาดสองมิติในภาพวาดจีนโบราณ เป็นดังลานประติมากรรมเล็ก ๆ ก่อนเข้าสู่พื้นที่ Foyer หรือโถงทางเข้าที่ออกแบบแบบซิมิเอ๊าต์ดอร์
“สำหรับคอนเซ็ปต์การออกแบบครั้งนี้ เรามีไอเดียหลัก ๆ คือภาพวาดพู่กันจีนโบราณ โดยในรูปหนึ่งอาจจะมีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย ทั้งรูปภูเขา ต้นไม้ ก้อนเมฆ คนปีนเขา มังกร ฯลฯ แต่มันจะเป็นรูปที่มีลักษณะของ Perspective ที่ดูแปลก ๆ จะเป็นภาพสองมิติ แต่ก็ดูมีมิติขึ้นมาได้ด้วยเทคนิคของจิตรกร หรือด้วยการวาดแบบซ้อนเลเยอร์กัน เราจึงพยายามดีไซน์กิมมิกต่าง ๆ ด้วยเลเยอร์พวกนี้ครับ” ธนชาติ สุขสวาสดิ์ ตัวแทนจาก Pommballstudio เล่าให้ฟังถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบที่น่าสนใจครั้งนี้
มื่อผลักประตูเข้ามายังพื้นที่ภายใน จะพบกับลูกเล่นหลากหลาย เพื่อเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ให้กับสเปซ ทั้งในแง่ของการสร้างแพตเทิร์น เลเยอร์ และเท็กซ์เจอร์ สะดุดตากับภาพของเคาน์เตอร์บาร์ขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง ด้านบนประดับโคมไฟลายเมฆ ชวนจินตนาการถึงก้อนเมฆในภาพวาดพู่กันจีน ดีไซน์ให้ซ้อนเลเยอร์กัน สว่างด้วยหลอดไฟแอลอีดีที่ซ่อนไว้ด้านใน หลังคาด้านบนถูกเปลี่ยนเป็นช่องแสงสกายไลท์ เพื่อนำแสงให้ส่องเข้ามายังอาคารที่เป็นโกดัง
ถ้าไล่จากพื้นจะพบว่า มีดีเทลของแพตเทิร์นที่มีความซ้อนชั้นกันอยู่ของแมททีเรียล เช่น อิฐสีแดง กระเบื้องสีขาว และเส้นที่พื้นซึ่งทำจากกระเบื้องสีดำ ขยับขึ้นมาที่หน้าเคาน์เตอร์ที่กรุซ้อนกันด้วยกระเบื้องโบราณสีแดงรูปทรงครึ่งวงกลม ดูคล้ายเกล็ดปลา หรือเกล็ดมังกร เช่นเดียวกับผนังแบ็กกราวนด์หลังเคาน์เตอร์ พร้อมหน้าต่างกระจกวงกลมแทนภาพพระจันทร์ หากชั้นบนเปิดบริการในฐานะร้านอาหารในเฟสที่สอง แสงไฟที่ส่องออกมาจะดูเหมือนภาพดวงจันทร์ส่องแสงนวลตา
ขณะเดียวกันยังหยิบเส้นโค้งมาใช้ในส่วนของผนังด้านหลังที่นั่ง เพื่อให้คล้ายกับซุ้มประตูบ้านจีนโบราณ โดยนำมาจัดเรียงใหม่ให้อยู่ร่วมกับวัสดุไม้สีแดงอมส้มที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น นอกจากรายละเอียดเรื่องเลเยอร์และแพตเทิร์นแล้ว เรื่องของเท็กซ์เจอร์ก็ถูกบอกเล่าผ่านการเลือกใช้วัสดุที่ให้ผิวสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใช้งาน เช่น การเลือกใช้ไม้จริงตรงส่วนของผนังด้านหลังที่นั่ง ประตู บันไดวน และเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงกระเบื้องเกล็ดปลา และผ้าหุ้มเบาะกำมะหยี่สีแดงนุ่ม ๆ ซึ่งเป็นสีคีย์หลักของแบรนด์ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ไกลมืออย่าง ฝ้าเพดาน เลือกใช้วัสดุทดแทนไม้จริง โดยยังคงมีโทนสีเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งร้าน
อีกสองโซนน่าสนใจ คือ บันไดวน ที่ทำจากเหล็กสีอิฐแดง กรุด้วยไม้ ดีไซน์ให้มีลักษณะครึ่งวงกลมคล้ายกรงนก สำหรับเสิร์ฟคนให้ขึ้นไปยังชั้นบน ซึ่งสร้างไว้เผื่อสำหรับการขยายพื้นทำร้านอาหารในอนาคต เป็นเสมือน Display Feature ที่สร้างเรื่องราวและความน่าสนใจให้กับโถงคาเฟ่ เช่นเดียวกับซุ้มที่นั่งด้านซ้ายมือ ที่ได้ไอเดียมาจากซุ้มที่นั่งฮองเฮาอย่างที่เคยเห็นในหนังจีน เป็นการแบ่งสเปซให้เป็นบล็อกที่นั่งที่เป็นสัดส่วน เป็นการใส่กิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แต่ละมุมมีเรื่องราว สมกับชื่อของคาเฟ่ที่ตั้งเป็นชื่อภาษาจีน แต่เป็นคาเฟ่จีนที่ไม่โมเดิร์น และก็ไม่ได้เป็นสไตล์จีนแบบดั้งเดิม
“เรามีการแปลงกิมมิกอะไรบางที่บอกเล่าถึงความเป็นจีน โดยอยากให้คนจินตนาการเองมากกว่าว่ามุมนี้มองแล้วเหมือนอะไร เหมือนกับภาพวาดที่คนดูจะต้องใช้จินตนาการ ตรงกับไอเดียตั้งต้นของการรีโนเวตครั้งนี้ ซึ่งมาจากภาพวาดพู่กันจีน ส่วนวัสดุก็เป็นวัสดุธรรมดา เราไม่ได้ใช้อิฐ หรือกระเบื้องสมัยใหม่ แต่พยายามใช้วัสดุที่เรียกว่ามีความบ้าน ๆ จับต้องได้มากกว่า เพื่อสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเรียบง่ายที่สุด”
ที่ตั้ง
156 ซอย 14 หมู่ 3 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด https://goo.gl/maps/CDLTsaqohNEfjDyd7
เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8.00-17.30 น.
โทร.08-4040-9430
https://www.facebook.com/coffeeNgeggee/
ออกแบบ
Design Teams : กานต์ คำแหง, ธนชาติ สุขสวาสดิ์ และสิรวิชญ์ จิตติวัฒนพงศ์ จาก pommballstudio
Structural Designer : พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
Branded CI Design : WYWH Studio, ธเนศ ทัพเงิน
Architectural Construction Consultant : D Steel Frame Co.,Ltd.
Interior Construction Consultant: สหัสนัยน์ ศิริเขตต์ และณัฏฐา ศิรินันท์
ภาพ : PanoramicStudio
เรื่อง : Phattaraphon