P30 House ความงามไร้กาลเวลากับ บ้านโมเดิร์น ที่สอดแทรกบรรยากาศ Tropical

P30 House ความงามไร้กาลเวลากับ บ้านโมเดิร์น ที่สอดแทรกบรรยากาศทรอปิคัล

ข้อดีของภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้น (Tropical) นั้นทำให้ บ้านโมเดิร์น ที่ออกแบบในพื้นที่แถบนี้สามารถสร้างสรรค์พื้นที่ที่เปิดรับธรรมชาติ และอยู่กับสภาพอากาศได้อย่างดี ไม่เหมือนบ้านในเขตอื่น ๆ ของโลกที่อาจจะหนาวจนเกินไปจนต้องปิดตัวเองไว้ภายใน หรือร้อนจนต้องทำบังแดดปิดกั้นไม่สามารถใช้ชีวิตแบบ Semi-Outdoor ได้โดยสะดวก

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: LANA STUDIO

นี่คือความละเมียดละไมในงานออกแบบที่คิดคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการเลือกใช้วัสดุ ลักษณะพื้นที่ ให้มีจังหวะที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว เกิดเป็นความหรูหราที่ไม่มีที่ใดเหมือน กับ บ้านโมเดิร์น ที่มีชื่อว่า P30 House โดย Normal Practice บ้านที่รุ่มรวยไปด้วยความรื่นรมบนนิยามแบบ Modern Tropical


ความงามที่สอดประสานกับบริบทเขตร้อน
ด้วยที่ตั้งของบ้านหลังนี้มีทำเลที่ดีติดริมคลอง และความต้องการของเจ้าของบ้านที่กล่าวถึงบ้านสวยในสไตล์ Moderm สถาปนิกจึงเลือกใช้แนวคิดแบบ Modern Tropical ให้ตอบโจทย์ความพิเศษของพื้นที่ และรูปแบบที่ลงตัวสอดแทรกความหรูหราไร้กาลเวลาไว้ในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่โครงสร้าง จนถึงการตกแต่ง เพื่อให้ตัวสถาปัตยกรรมมีมิติสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยรอบ มากกว่านั้นคือการส่งเสริมกันกับบริบทธรรมชาติที่บรรจงเรียงร้อยลงไปในพื้นที่ เกิดเป็นความงามของการใช้องค์ประกอบ วัสดุ รวมถึงการออกแบบช่องเปิด และพื้นที่ต่างๆในบ้าน ที่สะท้อนออกมาเป็นบ้านโมเดิร์นที่คงเสน่ห์ภูมิอากาศ รวมทั้งอัตลักษณ์ในแบบที่เป็น ไทย แต่ในจังหวะที่ร่วมสมัย และหรูหรามากกว่าที่เคย



เมื่อความสง่างามคือเรื่องของสัดส่วน
เพื่อให้สัดส่วนที่แตกต่างกันระหว่างความโอ่อ่า และพื้นที่ใช้งานในแบบ Over Scale และ Human Scale ทำงานกันได้อย่างสัมพันธ์ลงตัว การออกแบบเพื่อสร้างจังหวะที่ต่อเนื่องกันจึงต้องมีการ ลดทอน สัดส่วนเหล่านั้นด้วยการซ้อนทับ(Overlap) เช่น การใช้องค์ประกอบอย่าง บันได เข้ามาสอดแทรกเชื่อมโยงให้พื้นที่เหล่านี้สัมพันธ์กัน

พื้นที่อันโดดเด่นที่แสดงออกถึงความหรูหราของบ้านหลังนี้ได้อย่างชัดเจน คือพื้นที่กิจกรรมด้านหน้าที่เป็นโครงสร้างแบบคานยื่น (cantilever) ในส่วนนี้สถาปนิกได้แบ่งมวลก้อนอาคารออกเป็น 2 ก้อน และสร้างให้มวลก้อนอาคารนั้นทำแนวขนานกัน โดยไม่บดบังซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมีการลดหลั่นความสูงอาคารให้แตกต่างกันเพื่อสร้างอัตลักษณ์เชิงประติมากรรมให้กับอาคาร

ไม่เพียงสัดส่วนในรูปแบบของมวลก้อนอาคารเพียงเท่านั้น ในส่วนของโครงสร้างแล้วสถาปนิกยังเลือกใช้ การเลือกใช้โครงสร้างที่โดดเด่นเช่น เสาหน้าตัดรูปดาว (Star Column) ที่ดูบางเบาสวยงามแต่ยังคงความคงทนรับน้ำหนักได้ดีเทียบเท่ากับเสาที่มีหน้าตัดเท่ากัน เสานี้ถูกใช้รายล้อมรอบอาคารช่วยส่งให้ทรงอาคารดูโปร่งสบายยิ่งขึ้น และการด้วยการเลือกใช้สีดำก็จะช่วยทำให้พื้นที่ส่วนหน้าอาคารเกิดเป็น Foreground สร้างความรู้สึกที่โดดเด่นต่อวัสดุคู่ตรงข้าม เช่นหินอ่อนทราเวอร์ทีนที่เป็นลวดลาย ต่อวัสดุใกล้เคียงที่เป็นหล็กซึ่งมีความมันเงา การใช้วัสดุที่แตกต่างแต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างจังหวะความหนักเบาให้พื้นที่ทั้งหมดสอดประสานกันได้อย่างลงตัว


ออกแบบองค์ประกอบเพื่อลำดับความสำคัญของพื้นที่
การลำดับการเข้าถึงของบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากเช่นนี้ นับเป็นสิ่งคำคัญไม่แพ้การออกแบบความสวยงามเลย ผู้ออกแบบจึงสร้างลำดับการใช้งาน จากพื้นที่ที่คนภายนอกเข้าถึงได้จนถึงพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว พื้นที่ภายนอกของบ้านที่ติดกับเพื่อนบ้านนั้นจะถูกออกแบบเป็นพื้นที่ส่วน Service ไม่ว่าจะเป็นครัว ที่จอดรถ ด้านหน้าจะเป็นพื้นที่รับแขก พื้นที่อออกำลังกาย จนกระทั่งเข้าสู่พื้นที่ภายในอย่าง ห้องรับแขก โดยออกแบบเป็นโต๊ะ long table สำหรับรับรองการสังสรรค์ ทานข้าว ในแบบ double volume ด้วย เพดานที่สูงเป็นพิเศษ เพื่อสื่อถึงก้อนมวลอาคาร จากนั้นจึงหักเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัว ด้วยคอร์ตรูปตัว U เพื่อสร้างจังหวะที่เปลี่ยนไป เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ขนาบด้วยสระว่ายน้ำที่ขนานไปกับอาคาร และพื้นที่นั่งซึ่งจมลงแบบ Sunken ที่เปิดให้ธรรมชาติ และความผ่อนคลายได้โอบล้อมผู้ใช้งาน ก่อนจะเริ่มปิดซ่อนพื้นที่ส่วนตัวด้วยแนวระแนงไม้ และประตูสู่ชั้นบน ใช้ประตูเปลี่ยนบรรยากาศพื้นที่ ทำให้คนรู้สึกถึงการข้ามผ่านพื้นที่ การผ่านประตู ที่มี corridor ทางเดิน ที่ยาวนั้นทำให้มีความรู้สึกปรับเปลี่ยนเป็นความรู้สึกว่าเข้าใกล้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานค่อย ๆปรับอารมณ์ให้นิ่งสงบลงนั่นเอง

พื้นที่โถงส่วนกลางที่เหมือนเป็นพระเอกของบ้านนั้น ออกแบบให้มีช่องแสงธรรมชาติจากเพดาน และปล่อยให้พื้นที่อื่น ๆหลบอยู่ในเงาสลัวโดยรอบ เป็นการออกแบบพื้นที่ด้วยการหยิบยืมธรรมชาติภายนอกเข้ามาเติมเต็มภายใน การออกแบบโดยวิธีนี้ก็เป็นวิธีการสร้างลำดับของพื้นที่ และจัดแบ่งแต่ละส่วนการใช้งานออกจากกันโดยไม่ต้องพึ่งพากำแพงที่บางครั้งอาจกลายเป็นการปิดกั้นจนเกินไป

เชื่อมโยงบริบทภูมิสถาปัตยกรรมด้วยวัสดุธรรมชาติอันปราณีตขับเน้นความวิจิตร หรูหราของบ้านหลังนี้เกิดจากการใช้วัสดุธรรมชาติด้วยเทคนิคที่มีความละเมียดละไม เช่น หินธรรมชาติที่ใช้ในการออกแบบนั้นจะมีการวางลวดลายให้ต่อกันอย่างลงตัว หรือเรียกว่าการ Bookmatch Marble การเลือกใช้ไม้ธรรมชาติอย่าง ไม้รกฟ้า ที่มีคุณสมบัติเป็นไม้เนื้อแข็ง เพื่อสร้างให้สีสันภายในบ้านยังไปในโทนเดียวกัน ให้ผิวสัมผัสที่สุขุมเข้ากับความหรูหราแค่เพียงนำมาขัดเงา คุณค่าของงานออกแบบเหล่านี้คือการเข้าใจคุณค่าภายในของวัสดุที่มาจากธรรมชาติ และนั่นคือจุดที่ทำให้ผู้ใช้งานภายในพื้นที่สามารถสัมผัสได้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมอันรุ่มรวยด้วยบรรยากาศแบบ Tropical กับความละเมียดวิจิตรหรูหราในแบบ Modern นั่นเอง



ออกแบบสถาปัตยกรรม: Normal Practice
ออกแบบโครงสร้าง: KEYSTONE Consultant
ออกแบบแสงสว่าง: Aey Jongsiriwanich
ออกแบบสวน: Lana Design Studio



ภาพ: SkyGround architectural film & photography
เรื่อง: Lily J.

TJ HOUSE บ้านโมเดิร์น ที่เชื่อมโยงมุมมองอันร่มรื่นสู่ทุกพื้นที่