The Brewing Project x Benxblues ลายเส้นเอกลักษณ์ที่สะท้อน รส และ เรื่อง

The Brewing Project x Benxblues ลายเส้นเอกลักษณ์ที่สะท้อน รส และ เรื่อง

The Brewing Project เริ่มต้นสร้างสรรค์ฉลากที่ถ่ายทอดเรื่องราวและสื่อสารถึงรสชาติผ่านลายเส้นภาพประกอบ โดยยึดไอเดียความเป็นไทย และแนวคิดที่ว่าฉลากของบรรจุภัณฑ์นั้นสำคัญไม่ต่างจากตัวผลิตภัณฑ์เลยปกติจะซื้อเครื่องดื่มสักกระป๋องเราไม่รู้หรอกว่ารสชาติข้างในเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นฉลากและหน้าตาของบรรจุภัณฑ์จึงสำคัญมากเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเป็นครั้งแรก

The Brewing Project


#จุดเริ่มต้นการทำเบียร์พร้อมกับใช้ดีไซเนอร์ออกแบบแพ็คเกจมาจากอะไร
“เราไม่รู้หรอกว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร เราก็ต้องดูจากฉลากและหน้าตาของมันอยู่ดี สำคัญมากสำหรับเบียร์กระป๋องแรกที่ขาย” ประโยคจากทางแบรนด์หลังจากเป็นผู้ดื่มมาหลายปีจากความชอบจนผันตัวมาเริ่มต้นทำธุรกิจเครื่องดื่มแบรนด์ โดยเริ่มคอนเซ็ปต์ดีไซน์ วางรากฐานมาตั้งแต่ตัวแรกที่เริ่มทำ ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คราฟต์จากต่างประเทศที่มีมากมายนั้น ถ้าสังเกตฉลาก สีของตัวกระป๋องจะมีสีสันฉูดฉาด มีความสนุกวาไรตี้ทางแบรนด์นั้นจึงอยากเป็นจุดพักสายตาจากชั้นขายสินค้า ทางทีมจึงเลือกใช้กระป๋องสีขาว ใส่ความเป็นเอกลักษณ์ของไทยลายเส้นแบบไทยที่เพิ่มความโมเดิร์นประยุกต์เข้าไป เพื่อต่อยอดแบรนด์ในอนาคตออกสู่สายตาเวทีโลก


#การเลือกใช้ศิลปินมาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ได้อย่างไร
เพราะปกติการเลือกซื้อสินค้าของคนทั่วไปมาจากการเห็นฉลากเป็นอันดับแรก ทางทีมมองว่าเป็นการสร้างแบรนด์และพัฒนาต่อได้ในอนาคต เสมือนเป็นการลงทุนระยะยาว การเข้าใจตลาดธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ จะเห็นได้จากการออกแบบหรือชวนศิลปิน ดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบนั้น ช่วยทำให้สินค้าเป็นหนึ่งในตัวเลือกของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น การลงทุนกับงานออกแบบ คือการลงทุนที่คุ้มค่าให้กับแบรนด์ดิ้งอย่างมาก ไม่ต่างจากการทำอัตลักษณ์ของแบรนด์เลยทีเดียวแต่มากกว่านั้นคือผลลัพธ์ของคนที่จะเห็นโปรดักต์ของเราในชั้นวางสินค้า จะเข้าใจสิ่งที่อยากจะสื่อได้เพียงโมเมนต์ที่เห็นฉลาก เป็นสิ่งที่สื่อสารและง่ายต่อการจดจำแบรนด์


#การให้ความสำคัญนักวาดจนมาเลือกbennxblues
“เราตามผลงานเบนซ์มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน เมื่อมีเมนู ‘วิฬาร์’ เรานึกถึงความนุ่มละมุนของแมวดื่มง่าย แต่เมนูก่อนหน้านั้น วาฬและราเวน ลายเส้นเราดูจริงจัง หนักแน่น จึงอยากปรับลายเส้นเลยได้เบนซ์มาวาดให้ เพราะผลงานเบนซ์ตั้งแต่มันมีความสนุก ผ่อนคลาย ซึ่งค่อนข้างมีความแตกต่างจาก 2 ตัวแรก เพราะมันไม่ใช่แค่รสชาติของเครื่องดื่ม แต่มันคือฉลากที่เราอยากให้เห็นแล้วเข้าใจเลย”


#เรารู้สึกว่าเรากำลังจะสื่อสารกับผู้ดื่ม
“คุยกันเหมือนเพื่อน” คือพอยท์สำคัญของการทำงานร่วมกันของทีมได้วางแผนคุยกันตั้งแต่การวางเรื่องราว ตัวละครหลัก การสื่อความหมาย องค์ประกอบต่าง ๆ บนฉลาก เหมือนงานกลุ่มที่ทุกคนช่วยกันคิด จากฉลากแต่ละเมนูจะเห็นได้ว่าทุกงานมีความใส่ใจ ลงรายละเอียดองค์ประกอบต่าง ๆ ให้สมบูรณ์แบบมากที่สุด เพราะการที่ฉลากตอบโจทย์กับสินค้านับว่าเป็นการซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคอย่างที่ควรจะเป็น


#ชื่อเมนูกับไอเดียการออกแบบ
ผลงานที่ Benxblues ร่วมออกแบบ จะมีอยู่ 5 ตัว หลัก ๆ จะมี 2 ตัวที่เป็นโปรดักต์ออกมาขายตลอด คือวิฬาร์และคริสปี้บอย ทั้ง 2 เป็นการสื่อถึงรสชาติที่ดื่มง่าย ดังนั้นการออกแบบฉลากต้องเข้าใจง่าย สื่อถึงความผ่อนคลาย วิฬาร์คือความนุ่มนิ่ม มีความแงว ๆ เป็นแมวขี้อ้อน ทางแบรนด์อยากได้แมวน่ารัก ๆ และเป็นทีมที่ชอบแมวกันอยู่แล้ว คุณเบนซ์ก็ได้ดึงจุดเด่นของแมวขี้อ้อนออกมานั่นคือแววตา และท่าทางแสนซนของมันและใส่ไฮไลต์ความเป็นไทยโดยให้ท่าทางของแมวนั้นนั่งพิงหมอนขิดหรือมองสามเหลี่ยมที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

The Brewing Project

ส่วนคริสปี้บอยนอกจากความผ่อนคลาย สนุก ที่ทางแบรนด์อยากสื่อความหมายถึงรสชาติแล้วนั้น เป็นตัวละครหลักที่เป็นตัวเล่าเรื่องยังคงชายหนุ่มหน้าไทยเอกลักษณ์ที่มีความร่วมสมัยนั่งบนห่วงยางคอหงส์ ให้ภาพรีแลกซ์ไปตามรสชาติของเครื่องดื่ม

อีก 3 ตัวจะเป็นคอลเล็กชั่นที่ได้ไปร่วมทำโปรดักต์ที่ต่างประเทศ อย่าง ๕๘๖ เป็นตัวที่พัฒนามาจากผลไม้เมืองร้อนผลไม้อบแห้งจากการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่มันมีมากเกินไป มีความฟรุตตี้กลิ่นอายทรอปิคัลนิด ๆ สดใสหน่อย ๆ บวกกับความเป็นไทย ทางแบรนด์จึงนึกถึงความเป็นไทย ที่เป็นรถเข็นขายผลไม้ นำมาเป็นประยุกต์กับตัวละครหลักที่เป็นชายหน้าไทย ให้ดูเป็นเรื่องราวเดียวกัน

อีก 2 ตัวเป็นเครื่องดื่มที่บินไปร่วมงานกับทางญี่ปุ่น คุณเบนซ์เรียกง่าย ๆ ว่า “เบียร์ส้ม และ เบียร์ไม้” โดยทางทีมก็ช่วยกันคิดคอนเซ็ปต์อาร์ตที่จะช่วยเล่าความเป็นญี่ปุ่นกับไทยให้รวมกัน แล้วยังคงความเป็นแบรนด์ที่มีความสนุกอยู่ โดยตีความออกมาเป็นโจทย์ว่า เบียร์ส้ม คือผู้หญิง มีรสชาติของความเปรี้ยวจากยูซุเป็นลายเส้นญี่ปุ่น ทางทีมได้ศึกษาหลายเส้นญี่ปุ่นอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแพตเทิร์นของดีเทลชุดที่นำมาประยุกต์ผสานลายเส้นไทยและญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว

“อรัญ” หรือ เบียร์ไม้ แปลว่า ทิวเขา เป็นเครื่อมดื่มที่พัฒนาประยุกต์มาจากพันธ์ไม้ในหมู่บ้านญี่ปุ่นในหุบเขา อรัญจะเป็นผู้ชายหน้าไทย ทรงผมไทย ส่วนดีเทลนั้นจะเป็นส่วนชุดเสื้อผ้า ชุดญี่ปุ่นที่มีลายประจำตระกูล จึงนำโลโก้แบรด์ ใส่เข้าไปในชุด จะเห็นได้ว่าทางแบรนด์มีความละเอียดและใส่ใจตั้งแต่กรรมวิธีการผลิต ไปจนถึงการวางเรื่องราวของงานศิลปะบนฉลากที่อยากให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายที่สุด

The Brewing Project


#ทำไมลายเส้นถึงสะท้อนรสและเรื่อง
สุดท้ายแล้ว The Brewing Project x Benxblues ไม่เคยทิ้งปณิธานแรกที่เริ่มต้นการทำแบรนด์เลยไปแม้แต่น้อย พวกเขายังคงตั้งหลักความเป็นไทย และรักษาภาพจำของแบรนด์ตลอดมา หลังจากพัฒนามาจาก ”ภาพจิตกรรมฝาผนังไทย” มีคอยปรับประยุกต์ให้มีความโมเดิร์นแล้ว ทางแบรนด์ยังยึดถือ “ art emotion culture” ใช้ในการทำเครื่องดื่มและงานออกแบบไปพร้อม ๆ กัน
“สิ่งที่เราทำมันไม่ได้ดันแค่คอมมูนิตี้เครื่องดื่ม แต่ยังผลักดันคอมมูนิตี้งานศิลปะ” เมื่อถ้าสิ่งนี้ก้าวหน้าไปด้วยกันแล้ว คงผลักดันดีไซเนอร์อีกหลายท่านได้ส่งผลงานสู่สายตาสาธารณะชนอีกมากมาย ศิลปะนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาพวาด งานศิลปะคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราที่สามารถสร้างสรรค์ไปพร้อมธุรกิจได้ในหลากหลายมิติ ช่วยส่งเสริมมูลค่าของสินค้าอย่างเฉกเช่นเดียวกับที่ลายเส้นของ Benxblues สะท้อนเรื่องราวของเครื่องดื่มและยังเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ที่น่าสนใจสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจอื่น ๆ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม: The Brewing Project Benxblues



ภาพ : The Brewing Project Benxblues
เรื่อง: Lily J.

ขวดซอส Kikkoman’s Soy Sauce Dispenser ดีไซน์ที่ดี จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ขวดซอส Kikkoman's Soy Sauce Dispenser