รีโนเวททาวน์เฮ้าส์ เปลี่ยนบ้านเก่าอายุ ประมาณ 30 ปี ของคุณเซ่ง-จิรเมธ ชนะธุรการนนท์ ที่ได้รับมาจากพ่อและแม่ ให้เป็นบ้านพักอาศัยตอนเข้ามาทำธุระที่กรุงเทพฯ และเผื่อไว้สำหรับให้คนมาเช่าในบางช่วงเวลา ด้วยเหตุนี้จึงต้องออกแบบ Common Area ขนาดใหญ่ ใช้งานได้หลากหลายและยืดหยุ่น
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: OAAS
ตัวอย่างบ้านน่าอยู่ กับการ รีโนเวททาวน์เฮ้าส์ ให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่ต่อเนื่อง โดยโถงทางเข้าบ้านนั้นเกิดจากการเปลี่ยนระเบียงชั้นสองเดิมด้วยการทุบออก แล้วจึงออกแบบทำโครงสร้างเหล็กเข้าไปแทน ให้เป็นทั้งการจัดการพื้นที่หน้าบ้านและปรับพื้นที่ใช้งานที่ชั้นบนไปพร้อมกัน
เนื่องจากพื้นที่ของบ้านเดิมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม การยกพื้นทั้งบริเวณจึงเป็นสิ่งจำเป็น จากหน้าบ้านจะมีการค่อยๆปรับระดับของพื้นให้สูงขึ้นจากพ้นจากแนวระดับน้ำท่วม
จากประตูใหญ่จะเป็นพื้นที่จอดรถที่เข้าบ้านได้จากประตูด้านข้างฟาซาด (Façade) ที่ออกแบบเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ยังคงสามารถมองออกไปด้านนอกได้ผ่านบล็อกช่องลม โดยยอมให้ลมและแสงธรรมชาติเข้ามาภายในบ้านได้อยู่
เมื่อเข้าสู่ตัวบ้านจะพบกับพื้นที่ Semi Outdoor ที่ผู้ออกแบบเรียกว่า “ศาลา” พื้นที่ส่วนนี้เปรียบเสมือนส่วนหน้าบ้าน หากแต่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว สามารถเปิดเชื่อมโยงกับส่วนนั่งเล่นและส่วนกินข้าว เพื่อสร้างบรรยากาศคล้ายการนั่งในสวนให้กับบ้านทาวน์โฮม โดยที่มีทางเดินข้างบ้านคั่นกลางเอาไว้
ความพิเศษของบ้านหลังนี้ คือการออกแบบให้มีพื้นที่ทางเดินรอบบ้าน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่แตกต่างให้กับบ้านแบบทาวน์เฮาส์ จากเดิมจะนึกไปว่าความเป็นบ้านทาวน์เฮาส์นั้นไม่สามารถที่จะมีสวนและพื้นที่รอบ ๆ ได้ ทางเดินข้างบ้านนี้สร้างให้เกิดความรู้สึกของความเป็นบ้านมากขึ้น และเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ เข้าหากัน ในขณะเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนทางเดินนี้เป็นพื้นที่ภายในบ้านได้เพียงแค่ปิดประตูหน้าบ้านและหลังบ้านเท่านั้น
วัสดุที่เลือกใช้ส่วนใหญ่เป็นกระเบื้องลายหินและผนังปูนขัดดูแลรักษา เลือกใช้ไม้สีอ่อนในส่วนของบานประตูต่าง ๆ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์เกือบทั้งหมด เพื่อลดทอนความแข็งกระด้างให้ดูนุ่มนวลน่าสัมผัสมากขึ้น มีการออกแบบที่เน้นเหลี่ยมมุมที่ดูเป็นระเบียบ แต่ในขณะเดียวกันก็ปล่อยพื้นผิวเดิมของเพดานไว้ หลังจากรื้อฝ้าเดิมออกจนเห็นท้องพื้นแต่แต่เดิมที่เป็นไม้และคานปูนเปลือย สร้างให้เกิดความแตกต่างน่าสนใจ ข้อดีของการเปิดเพดานจนถึงท้องพื้นชั้น 2 จะช่วยให้บ้านที่มีการยกพื้นเพิ่มจากเดิมมีพื้นที่จากพื้นถึงเพดานมากขึ้น ทั้งเพดานที่ดูดิบยังช่วยพรางงานระบบที่เดินท่อใหม่ให้ดูเรียบร้อยไปด้วยกันได้ดี นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนการคงไว้ซึ่งเรื่องราวของบ้านก่อนที่จะรีโนเวทไว้อีกด้วย
สุดท้ายสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการรีโนเวทบ้านหลังนี้ คือการที่ต้องมีการปรับแบบกันตลอดจากการที่การทำงานรีโนเวทนั้นมักพบกับสิ่งที่ไม่ได้คาดหมายเพราะเป็นบ้านเก่า หลาย ๆ อย่างที่ออกแบบไว้อาจจะไม่สามารถทำได้ หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบไปยังส่วนอื่น ๆ เช่นกัน
งานรีโนเวทจึงเป็นงานที่ต้องติดตามไปจนจบ และอีกส่วนที่ท้าทายคือการพยายามใส่ทางเดินข้างบ้านเข้าไปในบ้าน ทำให้บ้านโดยรวมมีพื้นที่น้อยลง การออกแบบที่จะทำให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถใช้งานร่วมกันได้จึงต้องทำให้มีการใช้พื้นที่ร่วม แต่สิ่งที่ทำให้การออกแบบส่วนนี้สำเร็จลงได้ส่วนหนึ่งก็เพราะวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีชุดทีวี หรือโฮมเธียเตอร์อีกแล้ว การหันหน้าของชุดโซฟา หรือโต๊ะกินข้าวจึงค่อนข้างมีอิสระและลงตัวได้ในที่สุด และด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ ในอนาคตอันใกล้ก็อาจจะทำให้การออกแบบพื้นที่ใช้งานมีความเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน
ออกแบบ: OAAS โดยคุณยอช สิระกิจ เจริญกิจพิสุทธิ์ และคุณนาฏ สินีนาฏ สัพทานนท์
ภาพ: เบียร์ ณัฐกิต จีรพัฒน์ไมตรี https://www.instagram.com/nj.ap
เรื่อง: Wuthikorn Sut