รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น สำหรับคนชอบกลิ่นอายความเป็นไทย - บ้านและสวน
รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

รวมสถาปนิกสำหรับคนรักบ้านไทยกลิ่นอายพื้นถิ่น

ช่วงนี้ บ้านไทยกลิ่นอายพื้นถิ่น ได้รับความสนใจมากขึ้น เราจึงได้ รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น ใน บ้านและสวน room Designer Directory ที่มีผลงานออกแบบบ้านลงในเว็บไซต์บ้านและสวน มาให้ชมกัน

Arsom Silp Institude of the Arts

บ้านหลังนี้มีลักษณะคล้ายเรือนสามหลังที่มีชานแดดผูกติดกันตรงกึ่งกลาง เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวกทุกพื้นที่ เรือนแต่ละหลังมีชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันแดดและฝน ชั้นล่างใช้ผนังดินอัดเพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวนหน่วงความร้อนให้บ้านเย็นลงในช่วงกลางวัน ส่วนหลังคาไม้ก็ปรับไปใช้หลังคาไม้ซีดาร์ วัสดุส่วนใหญ่เลือกใช้ไม้เพราะมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งดูดและคายความร้อนได้รวดเร็ว >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

AWAKEN DESIGN STUDIO

เรือนพินรัตน์ไม่เพียงจะรักษาและส่งต่อคุณค่าของเรือนพื้นถิ่นภาคใต้ให้คนรุ่นหลังแล้ว ยังแสดงถึงความผูกพันของครอบครัวไทย ซึ่งเป็นรากฐานของวิถีชีวิตที่สะท้อนอัตลักษณ์คนพื้นถิ่น เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสานความทรงจำให้ซ้อนทับวิถีชีวิตใหม่อย่างน่าประทับใจ ด้วยความที่บ้านปูนผสมไม้ในจังหวัดพัทลุงซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่มีฝนตกหนัก สถาปนิกจึงเน้นชายคาที่ต่ำกว่าเรือนภาคอื่นกับหลังคาทรงปั้นหยาที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้ครบทั้งสี่ด้านมากกว่าหลังคาทรงจั่ว พร้อมกับออกแบบวางเรือนตามเเนวตะวัน ให้บันไดอยู่ทางทิศตะวันตกเพื่อกันเเดดบ่าย วางห้องน้ำไว้ทางทิศตะวันออกเพื่อใช้เป็นพื้นที่รับแดดและกันไม่ให้แดดเข้าสู่ส่วนพักผ่อนโดยตรง แล้วเปิดทิศเหนือและทิศใต้ให้โล่งที่สุดเพื่อที่จะเชื่อมบ้านกับสวนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังดึงเอกลักษณ์พื้นถิ่นอย่างการทำช่องคอสองที่ชั้นสองของบ้านเป็นส่วนระบายอากาศและความชื้น หรือช่วงพาดเสาที่เป็นไม้กับบานเฟี้ยมที่เปิดออกได้จนสุด แล้วจึงเติมองค์ประกอบใหม่ๆ อย่างการเปิดพื้นที่แบบ Double Volume เพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

Chang Het Bab (ช่างเฮ็ดแบบ)

โดย คุณสุริยา เขาทอง แบบบ้านพื้นถิ่นสไตล์ร่วมสมัยที่เลือกใช้ไม้ผสมเหล็ก เพราะเจ้าของบ้านต้องการเข้าอยู่เร็ว ซึ่งหากใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กต้องใช้เวลาในการหล่อนาน หรือหากเป็นงานไม้ล้วนก็ทำให้ดูทันสมัยยาก ด้วยความที่ออกแบบเป็นบ้านหลังคาจั่วซึ่งยังมีกลิ่นอายบ้านพื้นถิ่นอยู่มาก จึงเพิ่มลูกเล่นการใช้วัสดุ ทั้งการเข้าไม้สัก ผสมงานเหล็ก คอนกรีต กระเบื้องผสมผสานกันให้ร่วมสมัย และอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

Housescape Design Lab

โดย คุณพีระพงษ์ พรมชาติ บ้านโมเดิร์นพื้นถิ่น ที่แสดงถึงตัวตนของความเป็น Craftmanship ผ่านการเล่นและทดลองวัสดุ แม้องค์ประกอบหลายๆ อย่างไม่ได้เป็นสิ่งใหม่แปลกตาอะไร แต่ผู้ออกแบบนำมาเรียบเรียงภาษาในการออกแบบใหม่ ผ่านการทดลองกันหน้างาน จนเกิดเป็นความงาม ณ ช่วงเวลานั้น >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

IS Architects

โดย คุณปวิณ ทารัตน์ใจ บ้านหลังเล็กกะทัดรัดขนาดพื้นที่ 35 ตารางเมตร ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบนภูเขาที่ตำบลดอยฮาง จังหวัดเชียงราย เจ้าของบ้านเป็นคู่รักที่ต้องการสร้างบ้านหลังเล็กเพื่อหลีกเร้นจากความวุ่นวายและเร่งรีบของเมืองหลวง ออกไปสร้างพื้นที่ขนาดย่อมไว้ใช้ชีวิต และทำงานได้จากที่บ้าน โดยทำงานร่วมกับช่างฝีมือในพื้นที่ และใช้วัสดุที่หาได้จากในท้องถิ่น เช่น แผ่นหลังคา ไม้เนื้อแข็ง ไม้เก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว และงานฉาบปูนแบบหยาบ ใช้เทคนิคที่ตรงกับความถนัดของช่างให้งานออกมาเข้ามีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

Jaibaan Studio

โดย คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร บ้านไม้พื้นถิ่นร่วมสมัยหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านสวนอธิษฐาน” ซึ่งออกแบบให้มีสัดส่วนรูปทรงที่สอดคล้องกับการวางฟังก์ชันภายใน ใช้งานตามทิศแดดลมฝนได้ดี ดูกลมกลืนไปกับบ้านไม้ของชุมชนโดยรอบ >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

Pomelo Studio

โดย คุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ และคุณปรียชนัน สายสาคเรศ บ้านไม้ติดน้ำรูปทรงยาวที่ออกแบบให้ทุกห้องมองเห็นวิวธรรมชาติสวยๆ ทั้งบ่อน้ำ ภูเขา และท้องฟ้า ตัวบ้านมีลักษณะเหมือนบ้านใต้ถุนที่สูงเกือบ 4 เมตร ผสมคาแรกเตอร์มาจากบ้านไม้ตึกแถวของจันทบุรีและระยอง >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

S PACE STUDIO

บ้านอีสานโมเดิร์นที่มีหลังคาหน้าจั่วขนาดใหญ่ โดดเด่นด้วยชานหน้าบ้านขนาดกว้างขวางเพื่อรองรับญาติๆและเพื่อนบ้านที่หมั่นแวะเวียนมาทักทาย ด้านบนทำหลังคาหน้าจั่วขนาดเล็กกรุหลังคาลอนใสเพื่อช่วยนำแสงธรรมชาติให้ส่องลงมาถึงด้านล่างอย่างทั่วถึง ซึ่งไอเดียการออกแบบบ้านนั้นมาจากการตีความวิถีชีวิตที่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยของคนอีสาน ผสมผสานกับรูปแบบของบ้านที่ทันสมัย สะอาดตา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

Sher Maker

โดย คุณธงชัย จันทร์สมัคร และคุณพัชรดา อินแปลง บ้านไม้สไตล์พื้นถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ที่โอบล้อมไปด้วยทิวทัศน์ของขุนเขาและทุ่งนา งดงามด้วยแนวคิดและวิถีชีวิตเรียบง่าย เป็นโฮมสตูดิโอและพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจของศิลปิน “เขียนไขและวานิช” การออกแบบบ้านไม่ได้มีแนวคิดที่ซับซ้อน ด้วยเจ้าของบ้านเพียงแค่อยากอยู่ในบรรยากาศที่สงบและใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด บ้านจึงมีความเป็นพื้นถิ่นชนบท ไม่ได้ทำให้มีทางเข้า-ออกชัดเจน แต่ใช้ลักษณะเปิดพื้นที่โล่งอย่างบ้านชนบท ไม่มีรั้วมิดชิดหรือมีประตูหลักที่ล็อกแล้วปิดได้ทั้งหลัง ซึ่งเข้ากับบริบทรอบบ้านที่มีความเรียบง่าย เพื่อนบ้านเป็นกันเอง >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

Studio Miti

โดย คุณประกิจ กัณหา บ้านไม้ใต้ถุนสูงซึ่งบรรจงคัดเลือกไม้เต็งเก่าจากอยุธยามาสร้างเป็นบ้านในฝัน และการยกใต้ถุนสูงก็เพื่อเลี่ยงปัญหาพื้นที่น้ำท่วมถึง สถาปนิกจึงเพิ่มฟังก์ชันให้พื้นที่ใต้ถุนเป็นเหมือนชานนั่งเล่นและครัวเปิด ส่วนชั้นบนของบ้านจัดสรรเป็นส่วนนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอน แต่ก็เน้นเปิดโล่งและเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย เพื่อให้พื้นที่ในบ้านปลอดโปร่งและมีลมหมุนเวียนได้ดี ขณะที่พื้นที่รอบๆ บ้านก็จัดการทำสวนเกษตร โดยปลูกไม้ใบ ไม้ผล พืชสวนครัว ควบคู่ไปกับการขุดบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ไข่ เจ้าของบ้านจึงสามารถใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองได้อย่างสบายๆ >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

Taweecool Architects

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง บ้านของผู้สืบสานโนรา ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ บ้านหลังนี้สร้างใหม่บนที่ดินเดิมของครอบครัว โดยรื้อบ้านไม้เดิมออกและแปรสภาพเป็นวัสดุในการสร้างบ้านใหม่ เป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นที่สะดุดตาด้วยการใช้สีสดตัดกัน โดยได้แรงบันดาลใจจากสีสันเครื่องแต่งกายของโนรา และการผสมผสานองค์ประกอบงานเหล็ก ไม้ และคอนกรีตได้อย่างมีศิลปะ ขณะที่ภายในบ้านเน้นพื้นที่เปิดโล่งที่เชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งสองชั้น >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

YANGNAR STUDIO

โดย คุณเดโชพล รัตนสัจธรรม เเละ คุณเมธี มูลเมือง บ้านไม้ที่ผสมผสาน “ขนำ” เพิงแบบภาคใต้ กับ “เพิงผาม”ของภาคเหนือ ประกอบขึ้นจากฟังก์ชันการใช้งานพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง แต่เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยได้อย่างสบายในขนาด 50 ตารางเมตร ภายในบ้านแบ่งแยกพื้นที่ออกจากกันและสามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยชานทางเดินซึ่งทอดยาวไปตลอดทั้งเเนวอาคาร >> ชมภาพบ้านหลังนี้เพิ่มเติม

รวมสถาปนิกบ้านไทยพื้นถิ่น

เรียบเรียง : Tarnda     

ภาพ : ฝ่ายภาพบ้านและสวน, room

รวมรายชื่อสถาปนิก สไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล

รวมรายชื่อสถาปนิก สำหรับคนอยากรีโนเวตบ้าน