CEDAR Thai Restaurant ร้านอาหารเอกมัย สไตล์ไทยเยาวราช - room

CEDAR Thai Restaurant ร้านอาหารเอกมัย สไตล์ไทยเยาวราช

หากใครมีภาพจำถึงบ้านตึกแถวยุคเก่าในเยาวราช ต้องบอกว่าถ้ามา สีดา CEDAR Thai Restaurant แล้ว อาจทำให้อดีตในวันวานหวนคืนกลับมาอีกครั้ง เพราะมีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนกินข้าวในบ้านตึกแถวของอาม่า

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: SpaceLAB architects

ร้านอาหาร สีดา CEDAR Thai Restaurant ในโครงการ Earth Ekamai มีแนวคิดการตั้งชื่อภาษาไทยให้พ้องเสียงกับคำว่า Cedar ในภาษาอังกฤษ เพื่อให้ลูกค้าต่างชาติในย่านอ่านออกเสียงได้ง่าย มาพร้อมคอนเซ็ปต์จัดเสิร์ฟอาหารแบบ “เยาวราชสไตล์ไทยฟู้ด” โดยเน้นอาหารไทยแต่มีกลิ่นอายของความเป็นเยาวราชสูง นั่นจึงนำมาสู่แนวทางการออกแบบของ SpaceLAB เพื่อให้ที่นี่ให้เจือกลิ่นอายทั้งโมเดิร์นและดั้งเดิมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

บรรยากาศมีความโฮมมี่สื่ออารมณ์ถึงความเป็นบ้าน ด้วยโครงสร้างไม้สักคล้ายทรงจั่วครึ่งเดียว ทำหน้าที่สำคัญคือช่วยลดทอนสเกลของฝ้าที่สูงกว่า 8 เมตร
เคาน์เตอร์บาร์ใช้งานไม้สักเก่าจากเชียงใหม่ เช่น ท็อปเคาน์เตอร์บาร์จากไม้เก่าโชว์ผิวไม่เรียบและมีรอยไหม้มีเสน่ห์
ตกแต่งผนังด้วยกรอบกระจกเงา เพื่อสะท้อนภาพของร้าน อีกลูกเล่นหนึ่งที่ช่วยให้ร้านแคบดูกว้างขึ้น

ที่ตั้งของร้านนี้ มีหน้ากว้างเพียง 5 เมตร ลึก 15 เมตร ประกอบกับมีระดับฝ้าเพดานที่สูงแบบ Double Height การออกแบบของทีม SpaceLAB จึงมาพร้อมโจทย์การแก้ปัญหาพื้นที่เพื่อลดทอนพื้นที่ว่างระหว่างสเปซให้เกิดมุมมองน่าสนใจ แทรกทั้งความ Modern และ Traditional ได้อย่างลงตัว ภายใต้แนวทางการออกแบบที่อยากให้ลูกค้าเมื่อเข้ามาแล้ว สัมผัสได้ถึงความเป็นกันเอง ไม่แฟนตาซีจนเกินไป แต่กลับอบอุ่นเหมือนได้มานั่งกินข้าวอยู่ที่บ้าน

ออกแบบพื้นที่แตกต่าง โซนเคาน์เตอร์บาร์และไพรเวตรูมเลือกใช้หินขัดสีชมพูจำลองบรรยากาศเหมือนอยู่ในบ้านตึกแถวเก่าในเยาวราช ตัดกับที่นั่งด้านนอกที่เป็นพื้นอีพ็อกซี่สีเทาสะท้อนถึงความโมเดิร์น
ติดแผ่นอะคริลิกเพื่อเลียนแบบบานเกล็ด ช่วยพรางสายตาให้ห้องไพรเวตมีความเป็นส่วนตัว

จากสเปซที่แคบและยาวดังกล่าว การใช้งานพื้นที่จึงต้องแบ่งเป็นฝั่งขวาและซ้าย มีทางเดินตรงกลางยาวไปจนสุดห้องครัวด้านหลัง แก้ปัญหาฝ้าเพดานที่สูงแบบ Double Height ด้วยโครงสร้างไม้สักที่ได้แรงบันดาลใจจากโครงหลังคาบ้านทรงจั่วแต่เป็นแบบครึ่งเดียวโชว์โครงสร้างเปลือยเปล่า ไม่มีหลังคามาคลุม เพิ่มความโฮมมี่สื่ออารมณ์ถึงความเป็นบ้าน หน้าที่สำคัญคือช่วยลดทอนสเกลของฝ้าที่สูงกว่า 8 เมตร หากมองจากด้านล่างยังสามารถมองทะลุขึ้นไปถึงฝ้าเพดานที่มีท่อแอร์ลอยอยู่แบบดิบ ๆ นอกจากนี้ ยังเปิดรับแสงผ่านช่องกระจกหน้าร้าน ช่วยให้เวลากลางวันภายในร้านไม่มืดทึบจนเกินไป ส่วนกลางคืนก็ช่วยนำพาแสงไฟสีแดงจากในร้านให้ส่องประกายออกไปดูโดดเด่น

แก้ปัญหาฝ้าเพดานที่สูงแบบ Double Height ด้วยโครงสร้างไม้สักที่ได้แรงบันดาลใจจากโครงหลังคาบ้านทรงจั่วแต่เป็นแบบครึ่งเดียวโชว์โครงสร้างเปลือยเปล่า ไม่มีหลังคามาคลุม

มีไฮไลต์ คือโซนเคาน์เตอร์บาร์ใช้งานไม้สักเก่าจากเชียงใหม่ เช่น ท็อปเคาน์เตอร์บาร์จากไม้เก่าโชว์ผิวไม่เรียบและมีรอยไหม้มีเสน่ห์ เช่นเดียวกับชั้นวางเครื่องดื่มด้านหลังที่ประกอบขึ้นจากไม้เก่า ราวกันตกและที่แขวนแก้วทำจากเหล็กดัดโค้ง โชว์คาแรกเตอร์ที่อยากให้ร้านมีกลิ่นอายของงานคราฟต์ ซึ่งทำให้ร้านมีทั้งความรัสติกและกลิ่นอายแบบร่วมสมัย

ฝั่งที่ติดกับเคาน์เตอร์บาร์ ออกแบบเป็นประตูบานเฟี้ยมเมื่อเปิดออกจะช่วยเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าหากัน
บรรยากาศในห้องไพรเวตรูม สร้างบรรยากาศเหมือนอยู่ในบ้าน จัดวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเคลื่อนย้ายเพื่อรองรับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มได้สะดวก

ต่อเนื่องกับบาร์ คือห้อง Private room รองรับลูกค้ากลุ่มใหญ่ ประตูด้านขวาออกแบบให้เป็นประตูบานสไลด์ ส่วนฝั่งที่ติดกับบาร์ทำเป็นประตูบานเฟี้ยมคล้ายบานเกล็ดซึ่งทำมาจากแผ่นอะคริลิก สามารถปิดทั้งหมดให้กลายเป็นห้องแบบส่วนตัว และเมื่อเปิดออกก็จะเห็นการเชื่อมต่อกันกับโซนบาร์ภายใต้พื้นที่โครงหลังคาไม้ ภายในห้องไพรเวตตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ปรับเปลี่ยนได้ สีของพื้นโซนนี้พื้นหินขัดสีชมพูทำให้รู้สึกคล้าย ๆ พื้นห้องแถวเยาวราช สลับกับพื้นอีพ็อกซี่ที่แสดงถึงความโมเดิร์น บอกเล่าความใหม่และเก่ารวมกัน

โต๊ะทำจากไพ่นกกระจอกที่นำมาเรียงเป็นท็อปโต๊ะ และท็อปโต๊ะจากลามิเนตสีแดง
นำวัสดุแผ่นหลังคามาพลิกแพลงมากรุตกแต่งลงบนผนัง สร้างมุมมองแปลกใหม่

นอกจาก Private room ยังมีชุดโต๊ะเก้าอี้แบบ 4 ที่นั่ง และโต๊ะหัวกลมเหมือนโต๊ะกินข้าวบ้านอาม่าจับคู่กับเก้าไม้ไผ่ สลับกับอีกฝั่งที่มีโต๊ะทำจากไพ่นกกระจอกที่นำมาเรียงเป็นท็อปโต๊ะ และท็อปโต๊ะจากลามิเนตสีแดง เรียกมีการใช้แมทีเรียลที่ผสมผสานหลากหลาย เพราะอยากให้ร้านมีคาแรกเตอร์ของตนเอง สร้างบรรยากาศเหมือนเข้ามานั่งกินข้าวในบ้านจริง ๆ ที่มีการผสมผสานสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างละนิดละหน่อย รวมถึงยังแสดงถึงความใส่ใจเหมือนมีเจ้าของมาทำกับข้าวเสิร์ฟให้ลูกค้าได้รับประทานอาหารดี ๆ

คุณธเนศ แซ่อู เจ้าของร้านและผู้ออกแบบจาก SpaceLAB architects 

มาที่นี่แล้วสามารถมารับประทานอาหารได้ตั้งแต่มื้อเที่ยงจรดค่ำคืน โดยกลางวันจะให้ความรู้สึกเหมือนนั่งในบ้านตึกแถว ได้ชิมอาหารที่บางเมนูเหมือนอาม่าเคยทำให้กินในความทรงจำ ส่วนกลางคืนแสงไฟสีแดงที่ถูกซ่อนไว้เหนือเพดานด้านหน้าจะอาบไล้ไปทั่ว สร้างบรรยากาศคล้ายแสงนีออนบนถนนเยาวราช สัมผัสได้ถึงความพิเศษที่ไม่ซ้ำ และเซอร์ไพรส์ไปกับรสชาติอาหารที่แสนอร่อย รับรองว่าต้องอยากกลับมาเยือนซ้ำอีกหลาย ๆ รอบแน่นอน

ที่ตั้ง
โครงการ Earth Ekamai ซอยสุขุมวิท 63 แขวงคลองตันเหนือ กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน 11.00 – 22.00 น.
โทร. 09-3889-4111

เจ้าของ-ออกแบบ: คุณธเนศ แซ่อู จาก SpaceLAB

เรื่อง: Phattaraphon
ภาพ: ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู
ผู้ช่วยช่างภาพ: ธนากรณ์ วงษ์ละคร


AKANEE ตีความวิธีทำอาหารจากเตาไฟ สู่ร้านอาหารไทยโบราณสี่ภาค