“มาที่นี่เป็นครั้งแรกหรือเปล่าคะ”
มัคคุเทศก์นำชม พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เอ่ยถามผม ใจจริงก็ไม่แน่ใจว่าควรตอบอย่างไรดี แม้ว่าผมจะเคยมาแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนผมจะมีความทรงจำเกี่ยวกับที่นี่น้อยมากส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะครั้งแรกที่มาเยือนเป็นการมาทัศนศึกษากับทางโรงเรียนแค่ช่วงสั้นๆ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปจากความทรงจำในวัยเด็กค่อนข้างมากทว่าสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นเอกลักษณ์ให้พอจดจำได้ก็คืออาคารเฉลิมพระเกียรติฯที่มีหลังคาทรงปั้นหยาสีเหลืองสูงเด่น 9 หลังซึ่งผมกำลังเดินเข้าไปชม
ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติฯทั้ง 9 หลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่าเรื่องให้ความรู้ใหม่ มีการออกแบบนิทรรศการให้ดูตื่นตาตื่นใจขึ้น หลังจากที่สำนักงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นองค์การมหาชนอาคารแต่ละหลังจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรในหัวข้อที่แตกต่างกันไป ทั้งพิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเราและพิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรมซึ่งผมประทับใจอาคารหลังเป็นพิเศษ เพราะมีการใช้เทคโนโลยีแสง สี เสียงสวยงามสะท้อนเรื่องราวที่ชวนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องพันธุกรรมผ่านเมล็ดพันธุ์หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพรและส่วนที่เพิ่งเปิดใหม่อย่างพิพิธภัณฑ์วิถีน้ำกับพิพิธภัณฑ์ดินดลที่ให้ความรู้ได้อย่างน่าสนใจผ่านภาพยนตร์แบบ 4 มิติและการตกแต่งนิทรรศการที่ทันสมัย
ผมเดินชมพิพิธภัณฑ์ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติฯจนทั่วก็นับว่าจุใจและได้ความรู้กลับบ้านไปมากทีเดียว แต่ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ยังมีพิพิธภัณฑ์ส่วนกลางแจ้งอย่างพิพิธภัณฑ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงและพิพิธภัณฑ์เกษตรตามรอยพ่อ ว่าแล้วผมก็ขึ้นรถกอล์ฟตามคุณมัคคุเทศก์ตรงไปยังแปลงนาเกษตรอินทรีย์ของพิพิธภัณฑ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง และถัดไปเป็นส่วนที่เข้ากับผมและคนในสังคมเมืองปัจจุบันเป็นอย่างมากนั่นคือแปลงสาธิตปลูกผักสวนครัวชนิดต่างๆในกระบะบนพื้นคอนเกรีตและบนพื้นที่ดาดฟ้า
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นเกษตรกรมือใหม่ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดกิจกรรมสร้างรายได้จากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการทำนา เลี้ยงสัตว์และปลูกผัก ภายในพื้นที่คนละ 1 ไร่ รวมถึงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและให้ความรู้ทั้งแบบบุคคล หมู่คณะและครอบครัวในหลากหลายหัวข้อ เช่น เทคนิคการปลูกมะนาวเพื่อสร้างอาชีพ การทำบ้านดินแบบมืออาชีพ และโซลาร์เซลล์เพื่อการพึ่งตนเอง โดยสามารถติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรมได้ทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ทุกวันเสาร์อาทิตย์ต้นเดือนทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดกิจกรรมตลาดนัดเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำเสนอองค์ความรู้ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปควบคู่กับการเลือกซื้อสินค้าและผลผลิตที่มีคุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง
ภายในระยะเวลาเกือบหนึ่งวันเต็มที่ผมเที่ยวชมและทำกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเกษตรกรรมที่มากกว่าการเข้ามาอ่านและฟังเพียงอย่างเดียว ในโลกปัจจุบันที่สังคมเมืองดูจะห่างไกลจากวิถีชีวิตเกษตรกรรมไปทุกที พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมศาสตร์แห่งแผ่นดินให้ผสานสู่ความเป็นเมืองในปัจจุบันอย่างลงตัว นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ที่ไม่รู้จบ
หากมีใครถามผมว่าอยากจะมาที่นี่อีกไหม ผมตอบได้เต็มปากอย่างมั่นใจว่า แน่นอน … ผมอยากกลับมาอีกครับ
ติดตามกิจกรรมของสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : http://www.wisdomking.or.th/
เรื่อง : “ปัญชัช ชั่งจันทร์”
ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง, ดำรงลี้ไวโรจน์