AGRO OUTLET KKU แห่งนี้ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาคารทรงเรขาคณิตที่ตั้งขนานไปกับถนนสายหลักภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งนี้จะดึงดูดสายตาด้วยเส้นสายที่ตรงไปตรงมาแต่ถ่อมตน ท่ามกลางบริบทที่เชื้อเชิญให้ผู้ผ่านไปมาอยากเข้าไปสัมผัส
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: S PACE STUDIO
หากพูดถึงหนึ่งในเส้นทางที่เหล่านักวิ่งต่างชวนไปออกกำลังกายเป็นประจำทั้งเช้า – เย็นภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น คงหนีไม่พ้นถนนที่มีวิวสวย ๆ เป็นทุ่งหญ้าสุดสายตาอย่างถนนที่เรียกกันติดปากว่า “เส้นหอกาญฯ” อย่างแน่นอน แต่นอกจากถนนสายนี้จะเป็นเส้นทางหลักของทั้งเหล่านักวิ่งและช่างภาพแล้ว บริเวณอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร (Agro Park) ยังมีอาคารรูปทรงสะดุดตา ชวนให้เราสงสัยว่า ภายใต้รูปลักษณ์ที่ตรงไป-ตรงมาแห่งนี้จะมีอะไรซ่อนอยู่!?
อาคารที่เรากำลังพูดถึงความเป็นมาของอาคารตรงไปตรงมาไม่ต่างจากรูปทรง เพราะเกิดจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องการพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรจากคณะโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ออร์แกนิก เนื้อสัตว์ หรือผักสดปลอดสารพิษ โดยอยากให้เป็นทั้งแหล่งซื้อขายและแหล่งท่องเที่ยวทั้งขาจรและคนในพื้นที่แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องการให้สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำไปพร้อมกัน ดังนั้นหน้าที่สำคัญในการออกแบบจึงตกอยู่ในความดูแลของศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อย่าง คุณทวิชากร เหล่าไชย และ คุณปัณณพัฒน์ เพ็ชร-จรัส สถาปนิกรุ่นใหม่ฝีมือดีจาก บริษัท S Pace Studio มาเป็นผู้วางคอนเซ็ปต์ รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานภายในโครงการทั้งหมดโดยใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 365 วันพอดี
สถาปนิกเล่าให้เราฟังว่า พื้นที่ในอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นกว้างมาก คณะเกษตรฯจึงให้สถาปนิกเลือกตำแหน่งที่ตั้งอาคารเอง จนมาลงเอยที่บริเวณนี้ซึ่งอยู่ติดกับถนนเส้นหลักของมหาวิทยาลัย โดยอีกฟากหนึ่งของถนนเป็นเลนให้คนมาวิ่งออกกำลังกาย และยังหันไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศทางที่ดีสามารถใช้ตัวอาคารบังความร้อนจากแสงแดดได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นจึงเริ่มออกแบบรูปทรงของอาคารภายใต้โจทย์จากทางคณะเกษตรฯที่อยากให้อาคารมีรูปทรงน่าสนใจ เข้าถึงง่าย กระทั่งออกมาเป็นอาคารรูปทรงสามเหลี่ยม ที่แบ่งเป็น 4 หลังตามฟังก์ชันการใช้งาน แต่ละหลังมีขนาดพื้นที่ประมาณ 60 ตารางเมตรใช้เป็นทั้งพื้นที่จัดงานอีเว้นต์ พื้นที่จำหน่ายสินค้า คอฟฟี่ช็อป และส่วนเซอร์วิส
รูปทรงที่ตรงไปตรงมาอย่างสามเหลี่ยมที่เห็นนี้ น้อยคนนักจะรู้ว่าต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบมากกว่าที่ตาเห็น อย่างแรกคือ การเลือกทรงสามเหลี่ยมที่ได้แรงบันดาลใจจากทรงหลังคาแบบหน้าจั่วที่คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุ้นเคยกันดี ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกเป็นมิตรให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้อาคารกับตัวอาคารได้เป็นอย่างดี ส่วนในเรื่องฟังก์ชันการใช้งาน ผู้ออกแบบต้องการให้หลังคาระบายน้ำได้ดี จึงออกแบบให้หลังคาหน้าจั่วสูงจากพื้นถึง 8.50 เมตรโดยไม่ต้องก่อสร้างผนัง ช่วยลดค่าก่อสร้างได้มาก ส่วนในเรื่องการเลือกใช้วัสดุ ผู้ออกแบบเลือกธีมสีและเท็กซ์เจอร์ของวัสดุให้กลมกลืนกับบริบทรอบ ๆ ที่เป็นต้นไม้ด้วยการมุงหลังคาไม้ซีดาร์ โครงเหล็กเป็นสีดำ นอกจากจะเข้ากับสีน้ำตาลจากต้นไม้แล้ว ยังช่วยขับให้พื้นที่ภายในที่ตั้งใจให้เป็นสีขาวดูเด่นออกมาสู่สายตาภายนอก
ความเรียบง่ายแต่ดูหนักแน่นในตัวเองกลายเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้อาคารโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง แถมยังกลมกลืนกับบริบทรอบ ๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน นี่ก็เพียงพอแล้วที่จะดึงดูดให้ผู้พบเห็นอยากเข้าไปทำความรู้จัก อาคารสามเหลี่ยมที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้กันมากขึ้น
เรื่อง Ektida N.
ภาพ นันทิยา ภาพประกอบ คณาธิป