Rabbit Digital Group ดิจิทัลครีเอทีฟเอเจนซี่น้องใหม่ที่กล้าฉีกทุกกรอบการทำงาน เมื่อไอเดียดี ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นที่โต๊ะทำงานเสมอไป นำโดย คุณเล็ก – รุ่งโรจน์ ตันเจริญ ผู้บริหาร Rabbit Digital Group จึงชักชวนเพื่อนดีไซเนอร์อย่าง คุณพจนฤทธิ นิมิตกุล แห่ง MUN Architects มาทดลองเปลี่ยนโกดังอะลูมิเนียมเก่าบนถนนบรรทัดทอง ให้กลายเป็นออฟฟิศโพรงกระต่ายสุดซิ่งของชาวแร็บบิท
เพื่อเป็นการดึงพลังในตัวหนุ่มสาวชาวเจน Y ออกมาใช้อย่างเต็มสูบ และชวนให้ผู้คนในออฟฟิศที่ไม่มีโอกาสร่วมงานกัน ได้มาพบปะพูดคุย และร่วมทำกิจกรรมสนุก ๆ จุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงานภายใต้พื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตรที่ถูกแบ่งเป็น “พื้นที่ส่วนกลาง” กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยออกแบบให้มีทั้งลานสเกตบอร์ด โต๊ะปิงปองโต๊ะสนุ้กเกอร์ แพนทรี่ เรื่อยไปจนถึงโต๊ะนั่งเล่นขนาดใหญ่ สำหรับใช้จัดปาร์ตี้อาหารกลางวัน นั่งรวมกลุ่มระดมสมอง เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียเจ๋ง ๆ
จัดวางพื้นที่ส่วนกลางในตำแหน่งที่เป็นเหมือนใจกลางของโกดัง สามารถมองเห็นได้จากทุกมุมของบริษัทบริเวณมุมทำงานมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใช้สอยอย่างหลวม ๆ ให้ดูกลืนไปกับพื้นที่ส่วนกลาง อย่างการติดตั้งพาร์ทิชันที่มาพร้อมฟังก์ชันช่องเก็บของและเก็บหนังสือได้ในตัว โดยหันช่องเก็บหนังสือออกด้านนอก เพื่อให้คนที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางสามารถใช้งานร่วมกันได้
พื้นที่ส่วนกลางจัดวางอยู่ในตำแหน่งเปิดโล่งรับแสงได้เต็มที่ ใจกลางพื้นที่มีต้นไม้เป็นตัวละครเอกช่วยให้รู้สึกเหมือนอยู่เอ๊าต์ดอร์ จัดวางเฟอร์นิเจอร์โต๊ะ – เก้าอี้ที่มีทั้งทรงกลมและโค้งมน สร้างความรู้สึกสนุก ยืดหยุ่น ผ่อนคลาย ส่วนฉากหลังเป็นบันไดเหล็กพับ สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางสัญจรหลักให้พนักงานทุกคนมีปฏิสัมพันธ์และได้พบปะกับผู้คนต่างแผนกมากขึ้น
แทนที่จะแยกมุมรับประทานอาหาร ออกมาเป็นสัดส่วน ที่นี่กลับผนวกรวมส่วนนี้เข้ากับออฟฟิศในบริเวณที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ มากที่สุด แถมยังเปิดโล่งเพื่อเชื่อมต่อมุมมองและเอื้อให้ทุกคนเข้ามาใช้งานได้อย่างสะดวก
“ ผมชอบสเปซที่ไม่เหมือน ออฟฟิศ มีความดิบ ๆ อินดัสเทรียลแบบโกดังเก่า และเนื่องจากเราเป็นบริษัทครีเอทีฟเอเจนซี่ เพราะฉะนั้นพาร์ตที่เป็นงานครีเอทีฟ เรามองว่ามันไม่ใช่การนั่งทำงานในคอก ความสร้างสรรค์อาจเกิดขึ้นระหว่างที่เราเดินมาเจอกันตรงโถงทางเดิน ตีปิงปอง หรือรับประทานอาหารร่วมกันก็ได้
เดิมทีภายในโกดังอะลูมิเนียมเก่าเป็นพื้นที่แบบดับเบิ้ลสเปซโปร่งโล่ง และมีโครงสร้างสวยเท่ตามสไตล์ของอินดัสเทรียลอยู่แล้ว ดีไซเนอร์จึงเก็บโครงสร้างเดิมและพื้นปูนทาสีที่มีร่องรอยการใช้งานมาหลายสิบปีไว้ทั้งหมดขับเน้นสไตล์ดิบ ๆ ด้วยการทาสีดำบริเวณเสาและคานเหล็ก ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ตกแต่งด้วยเหล็กและงานไม้ที่มีความโปร่งเบาให้ดูกลมกลืนกัน
“สำหรับผม ออฟฟิศคือตัวปลดล็อก แต่ถ้าถามว่าเป็นสิ่งสำคัญไหม ไม่ใช่ทั้งหมด ผมแค่คิดว่า ถ้าออฟฟิศมีสเปซที่ดี พื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่ปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ออกมา”
ไม่ใช่แค่กิจกรรมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แต่การจัดวางเส้นทางสัญจรในออฟฟิศที่นี่ ยังเอื้อให้ทุกคนเดินเข้ามายังพื้นที่ส่วนกลางได้อย่างไม่รู้ตัว และบ่อยครั้งบทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้า สามารถเกิดขึ้นง่าย ๆ ผ่านมื้ออาหาร ดีไซเนอร์จึงจัดตำแหน่งแพนทรี่ไว้บริเวณทำเลทอง ซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น ๆ ในออฟฟิศได้สะดวกไม่ว่าจะเป็นบันไดสัญจรหลักของพนักงาน ห้องน้ำ ห้องประชุม หรือแม้แต่ห้องนอนกลางวันที่ซ่อนอยู่หลังโซนครัว
ต่อเติมทางเดินรูปตัวแอล (L)บริเวณชั้นลอยเพื่อรองรับการขยายขนาดออฟฟิศในอนาคต เพียงทุบผนังทึบสีขาวออกก็จะเปิดออกสู่ออฟฟิศเฟส 2 ได้ไม่ยาก โดยออกแบบให้มีบันไดทางขึ้นตัวที่ 2 เพิ่มเติม คนที่มาติดต่องานเองก็สามารถขึ้นบันไดนี้มานั่งในส่วนรับรองได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินผ่านแผนกต่าง ๆ ให้เคอะเขิน
ชาวกระต่ายที่ง่วงระหว่างวันทำงาน สามารถมานอนเอาแรงสักตื่นในห้องนอนกลางวันซึ่งซ่อนอยู่ด้านหลังห้องครัวของบริษัท ก่อนไปลุยงานอีกครั้งด้วยความสดชื่น!
อีกหนึ่งช่องทางสนุก ๆ ในการเข้าถึงพื้นที่ส่วนกลางคือ การลื่นไถลสไลเดอร์สเตนเลสสุดซิ่ง
เวทีกลางของชาวกระต่ายไม่ได้เป็นแค่ที่พรีเซนต์งานหรือจัดประชุมใหญ่ แต่ยังเป็นทั้งลานสเกตบอร์ด ลานปั่นจักรยานสนามดวลปิงปองชิงแชมป์ประจำวันด้วย
ในแง่ความงาม ดีไซเนอร์ได้ขับเน้นเสน่ห์ความเป็นอินดัสเทรียลที่มีอยู่เดิมของโกดังให้เด่นชัดขึ้น ผ่านเส้นสายของโครงสร้างอาคารทาสีดำ ผสมผสานเข้ากับการเลือกใช้วัสดุใหม่ ๆ อย่างบันไดเหล็ก สไลเดอร์สเตนเลส และไม้ยางเปลือยผิวธรรมชาติ บวกกับดับเบิ้ลสเปซที่โปร่งโล่งมีต้นไม้ใหญ่เป็นพระเอก สร้างความรู้สึกชวนผ่อนคลาย จนทำให้ลืมไปเลยว่า นี่คือ “ ออฟฟิศ ”
รักษาความโปร่งโล่งเดิมของตัวโกดังไว้ โดยใช้บันไดเหล็กพับซ่อนแม่บันไดไว้ด้านในสุดให้ความรู้สึกเบาลอย เติมความเท่ด้วยเส้นสายของราวจับเหล็กเส้นหุ้ม PVC ส่วนพื้นที่ทำงานชั้นบนดีไซเนอร์ได้ออกแบบให้มีชั้นวางของตีช่องสี่เหลี่ยมเปิดโล่ง มีความสูงตั้งแต่ 1.20 – 1.50 เมตร ทำหน้าที่เป็นพาร์ทิชันกรองสายตาให้คนทำงานในแผนกต่าง ๆ แถมยังช่วยกำหนดเส้นทางการสัญจรอย่างหลวม ๆ อีกด้วย
ออกแบบ MUN Architects
เรื่อง polarpoid
ภาพ นันทิยา
เรียบเรียง Parichat K.
www.facebook.com/RabbitsTale