/ Sometimes, an ordinary brick wishes to be something beyond itself./
จุดเริ่มต้นของบ้านเกิดจากจุดเล็ก ๆ อย่าง “อิฐ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบและวัสดุพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังงานก่อผนังและใช้ในการตกแต่ง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Junsekino A+D
“Brick House” คือบ้านที่เราจะพาคุณมาเยี่ยมชมกันในวันนี้ เป็นบ้านที่ก่อขึ้นด้วยอิฐทั้งหลัง แค่เห็นแวบแรกก็ประทับใจสุด ๆ ดูราวกับเป็นบ้านเท่ ๆ ในต่างประเทศอย่างไรอย่างนั้น ซึ่งเป็นของครอบครัวสวัสดิ์วงศ์ โดยเราได้พบกับ คุณอู๋ – ปิติ สวัสดิ์วงศ์ นักลงทุนทางการเงิน เจ้าของบ้านผู้มีบุคลิกนิ่ง ๆ เขาออกมาต้อนรับเราอย่างยิ้มแย้ม พร้อมเล่าเรื่องราวความเป็นมาของบ้านอิฐสุดเท่ของเขาให้ฟังว่าก่อสร้างมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
“เริ่มจากช่วงน้ำท่วมในปี 2554 ครอบครัวเราโดนผลกระทบจากน้ำท่วมแบบจัดเต็ม บ้านเราเป็นบ้านชั้นเดียวน้ำท่วมถึงเข่า ส่วนปากซอยก็ท่วมถึงเอว พอน้ำลดบ้านเละมาก ทีแรกคิดจะรีโนเวตบ้านใหม่ แต่สุดท้ายสมาชิกในครอบครัวก็โหวตกันพร้อมกับลงความเห็นว่าควรสร้างใหม่และยกพื้นให้สูงขึ้น”
ช่วงแรกก่อนสร้างบ้าน คุณอู๋เริ่มต้นตามหาสถาปนิกจากการไปเดินงานสถาปนิกที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยหาข้อมูลบริษัทรับออกแบบจากนิทรรศการภายในงาน โดยเลือกรูปแบบบ้านจากสไตล์ที่ชอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสไตล์เรียบง่าย โชว์เสน่ห์สัจวัสดุ มีรูปทรงเรขาคณิตอย่างลอฟต์ มินิมัล และอินดัสเทรียล โดยมีบริษัทรับออกแบบ 2 แห่งเป็นตัวเลือกอยู่ในใจ แล้วนำมาปรึกษาที่บ้าน สุดท้ายสมาชิกทุกคนก็โหวตเป็นเสียงเดียวกันให้กับบริษัท Junsekino Architect and Design ของ คุณจูน เซคิโน สถาปนิกลูกครึ่งไทย – ญี่ปุ่น ที่มีสไตล์การออกแบบเป็นเอกลักษณ์ มารับหน้าที่ถ่ายทอดความต้องการจนเกิดเป็นบ้านสุดเท่หลังนี้ขึ้น
คุณอู๋เล่าว่าอยากได้บ้านที่มีความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้เขายังมีส่วนร่วมในการออกไอเดีย โดยการนำอิฐมากรุเป็นผนังสลับทึบและโปร่งด้วย
“ตัวอย่างบ้านที่ผมส่งให้คุณจูนดูเป็นเรเฟอเรนซ์บ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยม ส่วนการใช้อิฐเป็นสิ่งที่คุณจูนนำเสนอนอกเหนือจากคอนกรีตพิมพ์ลายและไม้ แต่ในที่สุดครอบครัวเราก็เลือกอิฐเพราะดูแล้วเป็นความรู้สึกที่ใช่ที่สุด”
ครอบครัวนี้มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน คือ คุณพ่อ คุณแม่ คุณอู๋ และน้องชาย ส่วนที่ดินแปลงนี้ครอบครัวคุณอู๋อาศัยอยู่มานานกว่า 40 ปี เป็นบ้าน 2 ชั้น บนที่ดิน 66 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 200 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ชั้นหนึ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ มีทั้งห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว โดยมีพระเอกคือคอร์ตกลางบ้านเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน และมีประตูบานเลื่อนกรุกระจกเป็นตัวกำหนดสเปซ จากคอนเซ็ปต์การออกแบบที่คุณอู๋เล่าให้ฟัง พื้นที่ข้างในจึงสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด โดยยังคงความเป็นส่วนตัวไว้ตามต้องการ คอร์ตกลางบ้านก็ได้กลิ่นอายเหมือน “ชาน” ของบ้านไทย ให้สมาชิกในบ้านสามารถออกมานั่งชิล ๆ ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ตั้งแต่เวลา 10 โมงเป็นต้นไปของทุกวัน คอร์ตกลางบ้านก็จะได้ร่มเงาจากผนังหน้าบ้านที่สูงเกือบ 9 เมตรช่วยบังแดดให้ การเปิดพื้นที่คอร์ตตรงกลางนี้ช่วยให้สเปซดูโปร่งโล่ง ไม่ทึบตัน ทุกห้องในบ้านจึงไม่มืดทึบ มีแสงสว่างเพียงพออยู่สบาย
เมื่อเข้ามาถึงตัวบ้านเราสัมผัสได้ถึงความเป็นส่วนตัวเหมือนที่คุณอู๋เล่าให้ฟังจริง ๆ สังเกตได้จากตำแหน่งช่องเปิดที่ออกแบบให้มีความเหมาะสมตอบสนองฟังก์ชันการใช้งานตามที่เจ้าของบ้านต้องการ มีทั้งความสวยงามและความสัมพันธ์ของสเปซและดีไซน์ตามคอนเซ็ปต์ที่สถาปนิกออกแบบไว้ ด้านเทคนิคการก่อสร้าง บ้านอิฐหลังนี้มีสองเลเยอร์เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ผนังอิฐที่หนาถึง 30 เซนติเมตร ใช้เป็นผนังกันความร้อน อีกทั้งอิฐยังมีข้อดีช่วยให้บ้านเย็นทั้งวัน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงความรู้สึกผูกพันกับบ้านหลังเก่าด้วยการนำไม้กลับมาใช้ใหม่ด้วย
“แต่เดิมบ้านเก่าปูพื้นไม้ ดังนั้นพื้นบางส่วนในบ้านหลังนี้จึงปูพื้นไม้เพราะคุณพ่อและคุณแม่อยากให้บ้านมีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้านเก่า”
สำหรับแนวทางการตกแต่งภายในเน้นจัดเรียงเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นตกแต่งเรียบง่ายสไตล์มินิมัลอย่างที่คุณอู๋ชื่นชอบ “ของตกแต่งและของสะสมของครอบครัวเรา ทุกอย่างไปกับน้ำท่วมหมดแล้วครับ ก็จะมีเหลือเท่าที่เห็นเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดมาจากบ้านเก่าที่รอดจากน้ำท่วม ข้าวของบางอย่างก็เป็นของที่คุณแม่ซื้อมา ในอนาคตว่าจะค่อย ๆ ทยอยหามาเพิ่มครับ”
คุณอู๋เล่าให้ฟังต่อถึงขั้นตอนการออกแบบบ้านที่ใช้เวลากว่า 3 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ว่า “ช่วงก่อสร้างมีปัญหาอยู่บ้าง เช่นรูปแบบการก่ออิฐแต่ละส่วนให้ได้ตามแบบ เจอปัญหาอิฐยืดหดตัว กว่าช่างจะก่อให้ลงตัวเหมือนในแบบได้นั้น ถือว่าเป็นงานที่ค่อนข้างยาก ต้องใช้ฝีมือ ความอดทน และความพยายาม เช่น ผนังสูงด้านหน้าที่ใช้เวลาก่อถึง 6 เดือน โชคดีที่เราได้ช่างฝีมือดี ใจเย็น และมีความประณีตมาก ผลงานที่ออกมาแม้จะใช้เวลานานแต่ก็ประทับใจ”
ปิดท้ายก่อนจบทริปเยี่ยมชมบ้านอิฐแสนอบอุ่นหลังนี้ เราอดถามความรู้สึกของคุณอู๋ที่มีต่อบ้านหลังใหม่บนที่ดินแปลงเดิมไม่ได้
“ความรู้สึกต่อบ้านตอนนี้ พอเห็นบ้านสร้างเสร็จ รู้สึกหายเหนื่อย ช่วงระหว่างก่อสร้างผมก็วิ่งดูของ ซื้อของตลอด โชคดีที่มีคุณจูนคอยดูแลและเป็นที่ปรึกษาในการเลือกวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด จนบ้านสร้างแล้วเสร็จครับ”
สัมผัสอารมณ์รัสติกแบบอบอุ่นใกล้ชิดธรรมชาติที่บริเวณโถงบันไดจากชั้นหนึ่งสู่ชั้นสองเป็นส่วนผสมสุดลงตัวของคอนกรีต ไม้ อิฐ และเหล็ก ด้านบนเลือกใช้ฝ้าเพดานสีขาวให้บ้านดูสว่าง ตกแต่งพื้นที่แบบเรียบง่ายด้วยเฟอร์นิเจอร์จากบ้านเก่า
Sometimes, an ordinary brick wishes to be something beyond itself
เจ้าของ : ครอบครัวสวัสดิ์วงศ์
ออกแบบ : Junsekino Architect and Design
เรื่องโดย : Sara’
ภาพโดย : จิระศักดิ์
วีดีโอโดย : Yak Yai
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : June 2015 No.148