กว่า 2,000 ปีแล้วที่มนุษย์เราเลี้ยง เหยี่ยว เพื่อเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงและไว้ใช้งาน จนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการเลี้ยงเหยี่ยวอยู่
แต่ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน จะมีอยู่บ้างที่ฝึกให้ เหยี่ยว ออกล่าสัตว์เพื่อนำมาประกอบอาหาร ซึ่งเท่าที่รู้ก็มีอยู่ในประเทศคาซัคสถาน ในบ้านเราจะเน้นเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม เพราะบุคลิกและรูปร่างของเหยี่ยวนั้นดูสง่างาม อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงก็จำกัดอยู่ในกลุ่มคนจำนวนไม่มากนัก ด้วยสาเหตุนอกจากเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูงแล้ว เรายังไม่สามารถเลี้ยงเหยี่ยวสายพันธุ์ในประเทศไทยได้ เนื่องจากเป็นสัตว์สงวนที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะหายาก และหากเป็นเหยี่ยวจากต่างประเทศก็ต้องขออนุญาตนำเข้าก่อนจึงจะเลี้ยงได้
วันนี้ผมขอพาคุณผู้อ่านไปพูดคุยถึงเรื่องราวการฝึกเลี้ยงเหยี่ยวกับ คุณโอ – สิริชัย วัฒนวรรณ ผู้ก่อตั้งชมรม Thai Hawk Master สิ่งที่สัมผัสได้จากการพูดคุยในครั้งนี้ทำให้ผมเชื่อว่าหากเราทำในสิ่งที่รักก็มักประสบความสำเร็จและมีความสุขไม่ว่าจะผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง โดยเฉพาะกับคุณโอ การเลี้ยงเหยี่ยวเกิดจากความรักและผูกพันมาแต่วัยเยาว์
“ผมชอบเลี้ยงเหยี่ยวมาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาหน่อยก็ไปเรียนที่ไต้หวัน มีโอกาสได้เรียนการฝึกเหยี่ยว พอกลับมาเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีบุคลากรด้านนี้เลยจึงเปิดชมรม Thai Hawk Master เพื่อเอาไว้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกและเพาะพันธุ์เหยี่ยวให้สมาชิกในกลุ่ม โดยส่วนตัวผมรู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอาชีพเกี่ยวกับนกเหยี่ยว เพราะว่าเหยี่ยวนี่สามารถไล่นกพิราบได้ ตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มีบริการด้านนี้ ก็เลยเปิดบริษัทขึ้นมา ถึงวันนี้ก็ก้าวสู่ปีที่ 6 แล้ว”
นกพิราบกลายเป็นปัญหาหนึ่งในบ้านเรา เนื่องจากสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วมากและปราศจากการควบคุม ก่อให้เกิดมูลนกและการทำรังที่สร้างความสกปรก รวมทั้งเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคเช่นเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นี่จึงกลายเป็นที่มาของอาชีพเลี้ยงนกเพื่อไล่นกของคุณโอ
“รูปแบบการบริการก็คือผมจะเข้าทำงานในพื้นที่ทุกวัน วันละสองรอบ ช่วงเช้าใช้เวลา 2-3ชั่วโมงเพื่อป้องกันนกพิราบที่จะเข้ามาหากินในโรงงาน รอบเย็นใช้เวลา 3 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้นกพิราบกลับเข้ามานอน ยกเว้นวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งเหยื่อที่โดนจับได้นั้นจะปลอดภัยเพราะเราจะแต่งกรงเล็บของเหยี่ยวที่เลี้ยงให้ทู่เพื่อเน้นไล่อย่างเดียวไม่เน้นทำลาย แนวคิดของผมจะเป็นการฝึกนกเพื่อไล่นกมากกว่า
“เหยี่ยวทั้งหมดของเรานำเข้าจากต่างประเทศการนำเข้าก็ไม่ยุ่งยากมากนัก เหมือนหมาแมวทั่วไป เพียงแต่เหยี่ยวที่เราจะนำเข้ามาต้องเป็นนกที่เพาะพันธุ์จากฟาร์มที่มีใบการันตีแล้วนำมาแจ้งขออนุญาตกับกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์–CITES หรือที่เรียกว่า ‘อนุสัญญาไซเตส’) พันธุ์ที่เราเลี้ยงคือ Hawks และ Falcons ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกถึง 5 เดือนจึงจะนำออกมาปฏิบัติงานได้”
ปัจจุบันคุณโอเปิดบริษัทที่ให้บริการด้านการไล่นกที่เข้ามาก่อกวนในโรงงาน โรงสีข้าว สนามบิน ฯลฯ ด้วยบุคลากรที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ฟังดูเหมือนเป็นงานง่ายๆที่ใครๆก็ทำได้แต่จริงๆแล้วงานนี้ยากมากนะครับ ก่อนอื่นต้องมีใจรักเหยี่ยวก่อน และต้องอดทนกับการฝึก เพราะใช้เวลานานพอสมควร ถ้าไม่รักจริงอาจถอดใจและทอดทิ้งนกเหยี่ยวไปก่อนซึ่งอาจทำให้นกบาดเจ็บได้ ดังนั้นหากไม่มีเวลาก็อย่าคิดหามาเลี้ยงกันเลย แค่ชื่นชมในสิ่งที่คนอื่นทำอยู่ห่างๆและเป็นกำลังใจให้กัน เท่านี้น่าจะดีกว่าครับ
เรื่อง : “ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข
http://www.baanlaesuan.com/54095/baanlaesuan/animal-cafe/