จะดีแค่ไหนถ้าได้ทำงานในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อให้จินตนาการของคุณพลุ่งพล่าน พร้อมคาเฟ่เครื่องดื่มให้ได้จิบระหว่างทำงาน และหากคิดงานจนสมองตีบตันก็สามารถลุกไปยืดเส้นยืดสายขยับร่างกายได้ภายในสองสามก้าวก่อนจะทิ้งตัวลงที่ฟูกนอนนุ่ม ๆ ยามต้องการชาร์จพลัง!
หากคุณคาดหวังจะได้คุณสมบัติเหล่านี้ในการทำงานเราชวนให้คุณมาสัมผัสได้ที่ NAP LAB นิยามใหม่ของพื้นที่ทำงานที่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่โดยฝีมือ คุณภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ คุณภาสพงศ์ มณีวัฒนา และ คุณภัทราวุธ จันทรังษี ทีมสถาปนิกจาก ตื่น ดีไซน์สตูดิโอ ที่ถอดพฤติกรรมและความต้องการของตนเองในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนด้านการออกแบบมาก่อน แล้วแปลงเป็นฟังก์ชันเพื่อให้ได้สเปซที่ “ทำงานก็ดี นอนหลับก็ได้” ให้เกิดขึ้นจริง
ในขณะที่พื้นที่ย่านจุฬาฯ – สามย่านกำลังพัฒนาไปเป็นอาคารพาณิชย์รูปแบบต่าง ๆ แต่ คุณป๋อง – อาทิตย์เสมอกาย กลับมองเห็นศักยภาพของอาคารและทำเลเพราะอาศัยอยู่ย่านนี้มาตั้งแต่เด็กจึงรู้สึกผูกพันและเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นี้มาตลอด เขาจึงตัดสินใจยื่นเสนอแผนปรับปรุงและบริหารอาคารหอพักนานาชาติศึกษิตนิเวศน์หอพักเก่าของนิสิตจุฬาฯ กับทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯไว้ แล้วทำการรีโนเวตร่วมกับเพื่อน ๆ ทีมตื่น ดีไซน์สตูดิโอ เพื่อให้อาคารแห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ด้วยความที่ทีมออกแบบเป็นเพื่อนกับคุณป๋องซึ่งเป็นทั้งเจ้าของโครงการ ผู้ออกแบบ ตลอดจนผู้รับเหมาเอง จึงมีส่วนในการคิดงานร่วมกันตั้งแต่วิเคราะห์พื้นที่จากบริบทของชุมชน ความน่าจะเป็นของพื้นที่โครงการโปรแกรมการใช้งาน ทำให้จากโปรเจ็กต์โฮสเทลในตอนแรกค่อย ๆ มาบรรจบลงตัวเป็นพื้นที่แบบ Mixed Used เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานหลักอย่างนิสิตนักศึกษา
“ทีมออกแบบเชื่อว่า ถ้าเราลงไปคิดตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจ็กต์น่าจะได้งานที่ดี เวลาคิดงานเรามักคิดจากบริบทและคนใช้งานเป็นหลัก เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด และถ้าอยากให้งานออกแบบมีพลังสุด ๆ เราต้องคิดตั้งแต่เหตุและผลของการออกแบบว่าต้องการให้พื้นที่นี้เป็นอะไร เมื่อชัดเจนแล้วก็จะช่วยให้การทำงานลุล่วงไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย”
ภายในอาคาร 8 ชั้นจึงได้รับการแบ่งฟังก์ชันออกเป็น4 ส่วน โดยชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายเหมาะเป็นรีเทลช็อปและร้านอาหาร เปิดบริการให้ทั้งคนนอกและผู้พักอาศัยชั้น 2 ออกแบบเป็นฟิตเนสครบวงจร ชั้น 3 – 4 ออกแบบเป็น Co-Napping Workspace บนพื้นที่ใช้สอยกว่า1,100 ตารางเมตร และชั้น 5 – 8 ปรับปรุงหอพักเดิมด้วยการตกแต่งสไตล์ลอฟต์สุดเท่เอาใจวัยรุ่น จำนวน 40 ยูนิต
“จริง ๆ ไอเดียนี้เริ่มมาจากต้องการให้พื้นที่ชั้น 3 – 4เป็นพื้นที่สำหรับซัพพอร์ตน้อง ๆ นักศึกษาเวลาทำทีซิสหรือโปรเจ็กต์ต่าง ๆ จากนั้นก็เริ่มคิดถึงพื้นที่ที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง พอสามารถอยู่ได้ตลอดทั้งวันก็จำเป็นต้องมีที่อาบน้ำและที่นอน เมื่อเราถอดพฤติกรรมการทำงานของเด็กยุคใหม่ก็จะพบว่าพวกเขาอยากมีที่ทำงานบรรยากาศสบาย ๆ ไม่ต้องคิดงานอยู่บนโต๊ะตลอดเวลาเพราะบางทีเราอาจปิ๊งไอเดียขณะเล่นกีฬา นอนหลับ หรืออาบน้ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จิตว่างหรือรู้สึกสบายใจ”
จากพฤติกรรมนี้เราจึงได้เห็นการออกแบบพื้นที่ทำงานควบคู่ไปกับพื้นที่พักผ่อน ภายในพื้นที่ทั้งสองชั้นแบ่งโซนย่อย ๆ ได้เป็น 10 โซน สำหรับรองรับรูปแบบการทำงานและกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ทำงานส่วนตัวห้องประชุมขนาดกลางไปจนถึงห้องสัมมนาที่จุคนได้หลักร้อย สอดแทรกไปกับพื้นที่ผ่อนคลายสุดชิลอย่างคาเฟ่เครื่องดื่ม โต๊ะปิงปอง และห้องทำงานแบบ “Cave” ถ้ำสีเหลืองสดสำหรับคนทำงานพร้อมที่นอนสุดชิล เรียกว่าไม่ว่าจะทำงานอยู่โซนไหน เมื่อได้เห็นแล้วก็ต้องอยากทิ้งตัวลงนอนพักสมองบนหมอนนุ่ม ๆ
ส่วนเหตุผลของการใช้สีเหลืองในพื้นที่ส่วนนี้ เพราะตามหลักจิตวิทยา “สีเหลือง” คือสีที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกแอ๊คทีฟ อีกทั้งเป็นเฉดสีที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไป จึงเป็นสีที่ถูกเลือกมาเป็นสีหลักของสเปซส่วนนี้ แล้วทิ้งพื้นที่โดยรอบในโทนสีขาวสว่างประกอบกับการออกแบบสเปซให้เอื้อต่อการทำงานด้วยการดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในอาคาร โดยทุบพื้นออกบางส่วนเพื่อให้เกิดพื้นที่ดับเบิ้ลสเปซ เสริมด้วยการกรุกระจกรอบด้านแบบไม่ต้องกลัวร้อนเพราะอาคารหันหน้าในทิศที่เหมาะสมและได้ร่มเงาจากต้นประดู่ด้านหน้าอาคาร
ด้วยการออกแบบที่ใส่ใจทุกรายละเอียดและคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก จึงไม่แปลกหากคุณมาที่นี่ นอกจากจะได้คิดงานในบรรยากาศที่ไม่ธรรมดาแล้ว คุณยังจะได้ “งีบ” และตื่นขึ้นมาพร้อมกับไอเดียสดใหม่สุดเจ๋ง
ออกแบบ – ตกแต่ง : บริษัท ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด
www.facebook.com/AwakenStu
อ่านต่อ :
http://www.baanlaesuan.com/77605/design/10_coworking_spaces/
http://www.baanlaesuan.com/75208/design/code-space-co-working/
เรื่อง กรกฎา, ปลากริม
ภาพ นันทิยา, ศุภกร
ภาพประกอบ บริษัทตื่น ดีไซน์สตูดิโอ จำกัด