นิทรรศการ The Making of Golden Teardrop - room

นิทรรศการ The Making of Golden Teardrop

หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน จัดนิทรรศการ The Making of Golden Teardrop (ทองหยอด) ผลงานของคุณอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ที่ตีความประวัติศาสตร์แบบใหม่ โดยการใช้ขนมทองหยอดเป็นจุดเริ่มต้น นิทรรศการประกอบไปด้วยผลงานประติมากรรมทองเหลืองรูปทรงทองหยอดขนาดเล็กกว่า 5,000 ชิ้น และงานสารคดีความยาว 30 นาที รวมทั้งภาพถ่ายและเอกสารที่ศิลปินค้นคว้าและวิจัยในระหว่างการทำงานชิ้นนี้

GoldenTeardrop_01

ผลงานชิ้นนี้นำ “ขนมทองหยอด” เป็นแกนกลาง โดยใช้ชื่อว่า Golden Teardrop ซึ่งเป็นการนำเสนอการตีความทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ ที่ท้าทายและตั้งคำถามต่อการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ ฉบับทางการ ด้วยการนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากบันทึกและเรื่องเล่าในอดีต ที่บ่งบอกถึงความเชื่อมโยงของพื้นถิ่นกับนานาชาติผ่านการเดินทางของอาหาร เพื่อสะกิดให้ผู้ชมหลุดจากกรอบที่ครอบงำความคิดและความเชื่อเดิม นับเป็นการรวบรวมและประกอบเข้าด้วยกันอีกครั้งจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่กระจัดกระจายไหลเวียนผ่านบทสนทนา ทั้งในระดับส่วนตัวและสาธารณะ ซึ่งจะช่วยเผยให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ และพยายามรื้อถอนขุดค้นลงไปใต้ภาพประวัติศาสตร์ที่ผ่านการจารึกเรื่องเล่าไว้จนแน่นหนา อันมีจุดเริ่มต้นมาจากการทับซ้อนของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของการค้าน้ำตาลผสมกับเรื่องเล่าจากปัจเจกบุคคลทั้งไทย กรีก โปรตุเกส และญี่ปุ่น ระหว่างยุคล่าอาณานิคมช่วงศตวรรษที่15-17 และยุคสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 – 21 ที่เกี่ยวข้องกับขนมทองหยอด จากจุดเริ่มต้นนำไปสู่การสำรวจการสะสมเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของพวกเขา

“งานสารคดีของผมคือการนำเสนอภาพของความไม่สมประกอบของประวัติศาสตร์ในจุดไหนก็แล้วแต่ มันไม่ใช่เป็นการพยายามเชื่อมข้อมูลทั้งหมด มันประดักประเดิดแล้วก็ไม่มีผลอะไรนอกจากความสามารถในการตีความ แล้วใช้ภาพยนตร์โปรเจกต์ออกมาเหมือนเอาประวัติศาสตร์มากองไว้บนโต๊ะ มันขึ้นอยู่กับคนเลือกที่จะเลือกเก็บ หรือปะติดปะต่ออะไรก็ตามที่มันอยู่บนโต๊ะ สำหรับผมไม่ใช่เรื่องของการปรุงประวัติศาสตร์ขึ้นมา” คุณอริญชย์ กล่าว

ชาว room ที่สนใจ สามารถชมนิทรรศการ The Making of Golden Teardrop ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานชุดนี้อย่างครบถ้วนที่สุดเป็นครั้งแรกได้ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน (ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ) ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 – 22 มีนาคม 2559 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 9.00 – 20.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม