เพราะทุกเผ่าพันธุ์ที่อาศัยผืนดิน ผืนป่า ผืนน้ำ หยิบยืมอากาศจากแหล่งเดียวกันหายใจ ก็คือ “เพื่อนร่วมโลก” ไม่ว่าจะคน สัตว์ หรือต้นไม้ ขึ้นชื่อว่าสิ่งมีชีวิตย่อมต้องเกื้อกูล พึ่งพา อาศัยซึ่งกันโดยมิอาจหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับในกรณีที่ขอบเขตของเมืองขยายตัวจนบางครั้งเกิดการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมจากเมืองสู่อีกเมือง เส้นบางๆ ระหว่างคนผู้มาทีหลัง กับสัตว์ป่าบางสายพันธ์ุที่อยู่มาก่อนจึงกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น “ทางผ่าน” สำหรับคน จึงต้องหา “ทางออก” สำหรับสัตว์ในพื้นที่ นั่นจึงเป็นที่มาของ สะพานสัตว์ ในปัจจุบัน
Wildlife crossing ซึ่งอาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Ecoducts หรือทางข้ามสำหรับสัตว์ป่า สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศน์ด้วยการช่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และใช้เป็นทางเชื่อมให้สัตว์ข้ามพรมแดนได้อย่างปลอดภัย เช่น บริเวณทางหลวงระหว่างเมือง หรือในทางบริเวณทางรถวิ่งที่ห้อมล้อมไปด้วยผืนป่าและพื้นที่สีเขียว ทางข้ามสัตว์ป่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่สะพานอย่างเดียว ยังหมายถึงโครงสร้างในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็น อุโมงค์, สะพานเชื่อม (Viaduct), ทางลอดใต้ดิน, สะพานปลา, ท่อระบายน้ำ หรือแม้แต่ หลังคาสีเขียว
ในปัจจุบันโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเข้ามามีบทบาทซึ่งช่วยให้การดำรงชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างทางการคมนาคม บางพื้นที่จึงต้องมีการออกแบบทางข้ามสัตว์เพื่อรองรับการใช้งานของพื้นที่ถนน โดยยังคงเชื่อมพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าสัตว์ป่าให้คงอยู่ต่อไป
ทางข้ามสัตว์ คือโครงสร้างที่ช่วยอนุรักษ์พื้นที่อยู่อาศัยของบรรดาเพื่อนร่วมโลก รวมถึงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อถิ่นที่อยู่อาศัย รองรับการกระจายตัวของที่อยู่อาศัยของกลุ่มสัตว์นานาชนิด นอกจากนี้ยังช่วยลดอุบัติเหตุทางการคมนาคมที่จะเกิดขึ้นระหว่างยานพาหนะกับสัตว์ นอกเหนือจากการไล่ล่าหรือฆ่าสัตว์ที่ยังคงเป็นปัญหาให้เกิดการสูญพันธุ์มากขึ้นอีกด้วย
การออกแบบทางข้ามสัตว์ที่ดี
สะพานสัตว์ เป็นหนึ่งในโครงสร้างทางหนึ่ง ที่ต้องคำนึงถึงการออกแบบเฉพาะทาง ที่มีความแตกต่างกับโครงสร้างสะพานทั่วไปที่มีโครงสร้างครอบคลุมเลนส์จราจรระหว่าง 2-4 ช่อง ระยะทางค่อนข้างยาวเพื่อข้ามเขตถนนหรือแม่น้ำ ส่วนสะพานสัตว์ข้ามนั้นต้องคำนึงความกว้างและระยะเสาของสะพาน โดยต้องมีระยะทางสั้นกว่า แต่ระยะระหว่างเสาโครงสร้างกว้างกว่าเพื่อรองรับปริมาณชั้นดินและการปลูกพืช (Landscaped surface) โดยสะท้อนรูปร่างทางกายภาพ ผ่านภูมิประเทศที่ถอดแบบจากลักษณะของพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
Did you know?
สำหรับทางข้ามสัตว์นั้นต้องออกแบบ โครสร้างอย่างแตกต่างทั้ง น้ำหนักโครงสร้างเบา ยืดหยุ่น และใช้วัสดุที่ปรับเปลี่ยนได้ โดยเป็นการออกแบบอย่างยั่งยืน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของธรรมชาติได้อีกด้วย
สะพานสัตว์แห่งแรกสร้างขึ้นที่ใด?
ทางข้ามสัตว์ป่าแห่งแรกถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 ในประเทศยุโรปอย่าง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี โดยฝรั่งเศสได้ก่อสร้างทางข้ามสัตว์ขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการขัดแย้งระหว่างกลุ่มสัตว์ป่าและยานพาหนะบนท้องถนน จึงสร้างสะพานลอยและอุโมงค์ลอดสำหรับสัตว์ป่าเพื่อช่วยปกป้อง อีกทั้งยังฟื้นฟูพันธุ์สัตว์ป่าทั้ง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอื่น ๆ เป็นต้น
Did you Know?
” ทางข้ามสัตว์ ” ที่ดีควรมีระยะระหว่าง 10 – 60 เมตร โดยมีโครงสร้างที่สามารถรองรับปริมาณของดินและพืชพรรณที่ปกคลุม เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยเหมาะสมกับเหล่าสัตว์ป่าในแต่ละช่วงสายพันธุ์
สะพานสัตว์…ประโยชน์ที่ยั่งยืนในวงจรสิ่งมีชีวิต
มีรายงานมาจาก The Humane Society of the United States มาว่าอุโมงค์ลอดของสัตว์ป่าที่สร้างอยู่มากมายกว่า 600 แห่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผลช่วยให้เกิดความยั่งยืนและเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยสะพานสัตว์ที่ยาวที่สุดมีระยะทางกว่า 800 เมตรบนพื้นที่ทางหลวง ทางรถไฟและสนามกอล์ฟ