คุณป่อง – ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Community Architects for Shelter and Environment หรือ CASE คือหนึ่งในผู้นำ “งานออกแบบ” เข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้คนในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมกลุ่มต้น ๆ ของไทย
ปฐมาเป็นสถาปนิกพ่วงท้ายคำว่า ‘ชุมชน’ ทำงานเพื่อสังคมคู่ไปกับงานออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง
เสื้อยืดสีขาว ประหนึ่งว่าเป็นชุดประจำตำแหน่งที่เราคุ้นชิน เพราะเห็นได้บ่อยเวลาเธอใส่ตอนออกสื่อ
เรียบง่าย สบาย ๆ ไม่คล้ายก็ใกล้เคียงกับนิยามการใช้ชีวิตของเธอมากที่สุดเท่าที่เราสัมผัสได้ นอกเหนือจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์
…
บทสนทนาระหว่างเรากับปฐมา เริ่มต้นขึ้นช่วงเช้าวันหนึ่งในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ที่บ้านหลังใหม่เอี่ยมของเธอและครอบครัวย่านมีนบุรี จากเดิมที่บ้านหลังเก่าของเธอมักใช้เป็นสถานจัดปาร์ตี้เนื้อย่างในหมู่เพื่อน ๆ สถาปนิกแถวหน้าของเมืองไทย เมื่อย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่ เชื่อแน่ว่าบ้านหลังนี้คงจะได้ทำหน้าที่ไม่ต่างกัน สมกับที่เธอบอกกับเราพร้อมเสียงหัวเราะว่า บ้านของเธอหัวกระไดไม่เคยแห้ง
“บ้านนี้มีฟังก์ชันเป็นทั้งที่พักและที่ทำงาน ด้วยความที่เรามีเพื่อนเยอะมีคนแวะเวียนมาหาอยู่บ่อย ๆ ทั้งเพื่อนคนไทยและต่างชาติ เราจึงออกแบบบ้านหลังใหม่ให้มีทั้งเรือนประธาน พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ Public และพื้นที่รองรับเพื่อน ๆ เตรียมเผื่อไว้ด้วย”
บ้านหลังใหม่ วิถีปัจจุบัน
“บ้านเก่าไม่ค่อยตรงกับวิถีชีวิตพี่สักเท่าไหร่ บ้านหลังนี้จึงต้องออกแบบให้ตอบโจทย์ชีวิตปัจจุบันมากที่สุด โดยตีความทั้งจากตัวเราและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่มีหลายช่วงวัย ตั้งแต่คุณแม่อายุ 84 ปี ไปจนถึงหลานคนเล็กอายุ 8 ขวบ ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ทุกคนมีออฟฟิศอยู่ที่บ้านทั้งหมด เราไม่ต้องการพื้นที่กว้างเพราะบ้านหลังเดิมมีพื้นที่ถึง 4 ไร่ ต้องตัดหญ้าทีละสองหมื่นบาท เราแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว สำหรับที่ดินแปลงใหม่นี้เป็นของญาติที่เราแบ่งซื้อมา ตอนแรกคิดไว้ว่า 1 ไร่ ก็น่าจะพอ แต่พอลงมือสร้างจริงกลับมีรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามาเรื่อย ๆ จนกินพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 20 ตารางวา เพราะเราคิดว่าจะอยู่ที่นี่ไปจนตาย ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว จึงต้องใส่ทุกอย่างที่ต้องการลงไปให้ครบถ้วน
“บ้านหลังนี้มีโจทย์มาจากการที่เราต้องย้ายบ้านเรือนไทยริมน้ำหลังเดิมที่ไม่สามารถยกให้ใครได้มาไว้ในบ้านหลังใหม่นี้ สิ่งที่คิดไว้จึงกลับตาลปัตรจากแบบเดิมไปหมด เพราะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านไทยมาอยู่ร่วมกับบ้านโมเดิร์นได้อย่างลงตัว สุดท้ายจึงมาลงเอยด้วยการทำเป็นหอพระ และตีความบ้านไทยเป็นเรือนประธาน
“บ้านพี่ไม่ใช่บ้านของดีไซเนอร์ที่พอเข้ามาแล้วต้องร้องว้าวเท่จัง! แต่ถ้าถามว่าทุกคนอยู่แล้วโอเคไหม ทุกคนบอกโอเค เป็นบ้านที่เราไม่ได้ตั้งใจประดิษฐ์ให้ออกมาสวยเพื่อลงหนังสือแต่ใช้งานจริงไม่ได้ แบบนั้นพี่ว่ามันไม่ใช่”
บ้านที่เป็นมากกว่าการทดลอง
“เราทำงานทดลองมาเยอะมาก ตอนนี้พี่จะอายุ 50 แล้ว จากประสบการณ์ทำให้เรารู้ว่าจะประหยัดอะไรได้ตรงไหน หรืออะไรที่ใช้งานได้จริง อย่างการนำเรื่องการดักลมมาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสังเกตเห็นจากตอนอยู่บ้านเก่า เรารู้ว่าลมจะพัดมา จากทางทิศไหน หรือแม้แต่แสงแดดและความร้อน เราก็รู้จักวิธีที่จะเลี่ยง พร้อม ๆ กับออกแบบฟังก์ชันให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ อย่างพื้นที่ที่หันไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่จะได้รับความร้อนโดยตรง แทนที่จะเป็นพื้นที่พักผ่อน เราออกแบบให้ส่วนเซอร์วิสมาอยู่ตรงนี้แทน รวมทั้งใช้อิฐมวลเบาก้อนใหญ่ช่วยกันความร้อนได้อีกทาง”
“นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ใช้สำหรับเป็นออฟฟิศ ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์ของเราและถือเป็นจุดที่ใช้งานบ่อย เมื่อมีลูกค้าเข้ามาพูดคุยงานก็จะได้เห็นตัวอย่างการใช้วัสดุและฟังก์ชันต่าง ๆ ของบ้านแบบจริง ๆ ตามไปด้วย”
// บ้านหลังนี้ต่างจากบ้าน Ten ตอนนั้นเราไม่รู้ความต้องการของตัวเอง
แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าชีวิตต้องการอะไร และคาดว่าน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
จนความคิดตกผลึกออกมาเป็นบ้านหลังนี้ตามวิถีที่ควรจะเป็น //
ออกแบบจากประสบการณ์
“ทุกครั้งก่อนรับงานออกแบบต้องมีการพูดคุยกับเจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างว่าเขาต้องการให้มีฟังก์ชันอะไรบ้าง มีไลฟ์สไตล์อย่างไร เราไม่อยากทำความเดือดร้อนให้เขาต้องมากรอกข้อมูลลงกระดาษ บางครั้งคำถามหนึ่งมันตีความได้หลายแบบ การกรอกข้อมูลมันเหนื่อย คุยกันนี่แหละง่ายกว่า หรือตามไปดูที่บ้าน ยิ่งคนมีบ้านเก่ายิ่งต้องถามเขาเลยว่า ไม่ชอบอะไรในบ้านหลังนั้นบ้าง จะได้หลีกเลี่ยงถูก และช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น
“การออกแบบทุกครั้งเริ่มตั้งแต่ไซต์งาน เวลาไปดูไซต์ต้องดูอย่างละเอียดทั้งด้านซ้าย ขวา หน้า หลัง ตรอกซอกซอยรอบ ๆ ร้านวัสดุที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อนบ้านเป็นอย่างไร ถ้าเพื่อนบ้านเรื่องมากอาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง พี่เคยเจอมาแล้ว 1 ปียังสร้างไม่เสร็จ เพราะโดนร้องเรียนตลอดเวลา ถ้าต้องสั่งหยุดก็จะมีผลกระทบตามมาหลายอย่าง เหตุการณ์แบบนี้ถ้าเป็นสถาปนิกจบใหม่อาจจะนึกไม่ถึง ถ้ารถเสาเข็มเข้าไม่ได้จะทำอย่างไร การไปดูไซต์จึงไม่ใช่แค่ดูเสร็จแล้วออกแบบ ต้องดูสภาพแวดล้อมใกล้เคียงด้วยว่าตอนสร้างจะสร้างได้ไหม สร้างอย่างไร ใช้ระบบอะไร เพราะถ้าดีไซน์ผิดกระบวนการตั้งแต่ต้นก็เละ! นี่แค่ปัญหาคร่าว ๆ เพราะหากได้ลงมือทำงานจริงจะพบว่ามีข้อจำกัดมากมายให้เราต้องรับมือ”
CASE Studio สตูดิโอของ CASE
“เราออกแบบพื้นที่ออฟฟิศจากคนที่มีประสบการณ์ พอทำมาเป็นสิบ ๆ ปี จะเริ่มรู้ว่าเราสามารถใช้อะไรได้แค่ไหน ต้องการอะไรหรือไม่ต้องการอะไร ตอนนี้พี่มีทีม 3 คน และน้องฝึกงาน จึงไม่ต้องดิ้นรนหาโปรเจ็กต์มาจ่ายฟิกซ์คอร์สสูง ๆ เช่นเราทำ 5 โปรเจ็กต์ มี 2 โปรเจ็กต์กำลังก่อสร้าง และอีก 3 โปรเจ็กต์กำลังดีไซน์ การทำงานแบบนี้กำลังสนุกสำหรับเด็ก 3 คน
“เวลามีงานใหม่ เราจะไปดูไซต์ด้วยกันและให้น้อง ๆ รู้จักพูดคุยและดีลงานกับลูกค้า เมื่อถึงขั้นตอนการสร้างก็ต้องดีลกับผู้รับเหมา คุยกับวิศวกรเอง เป็นประสบการณ์ที่จะติดตัวพวกเขาไป เมื่อต้องออกไปทำงานจริง
“ตั้งแต่ทำ CASE ช่วงที่คนเยอะสุดคือ 4 ปีแรก ตอนนั้นเป็นเหมือนคลับมีเกือบ 30 คน เพราะจะกระจายกันไปทำโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ตอนนั้นเรายังไม่ได้ตั้งเป็นบริษัท จริง ๆ ก็ไม่ได้คิดจะเปิดออฟฟิศเลย ไม่คิดจะเรียนต่อ ไม่คิดจะทำอะไรเลย เพราะเป็นคนขี้เกียจมาก เป็นคนชอบงานจุ๋มจิ๋มอย่างงานออกแบบบ้าน แต่จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่ว่า ปัญหารถติด อย่างเดียวเลย เราไปทำงาน 26 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมงทุกวัน ๆ จึงคุยกับพ่อตอนนั้น บอกซื้อม้าหรือควายให้สักตัวได้ไหม อันนี้จริงจังมากนะ เพราะจะได้ขี่ไปทำงาน ระหว่างรถติดฟุตบาตว่างมาก ขี่ควายคงถึงไปนานแล้ว (หัวเราะ)
“ตอนนั้นเป็นโอกาสที่เราได้ไปหาเพื่อนที่เมืองนอก พอไปถึงมันเปลี่ยนโลกทัศน์ของเราไปเลย จากที่ไม่เคยคิดจะเรียนภาษา หลังกลับจากยุโรปพ่อก็อยากให้ไปเรียนต่อ เราก็ตอบตกลงว่าจะไป เผื่อกลับมาแล้วรถจะหายติด (หัวเราะ) เลยไปเรียนภาษาก่อน 1 ปี ถ้าไม่เรียนภาษามั่นใจเลยว่าไปแล้วตายแน่ พ่อเลยส่งไปเรียนที่ Oxford เพราะเขามองว่าเด็กไปใหม่ไม่ควรจะอยู่ลอนดอน พอไปถึงก็ชอบมาก มีความสุขมาก จริง ๆ ชอบเรียนภาษาอย่างเดียวนะ เพราะมันสบาย สนุก ได้ปาร์ตี้ มีเพื่อนเยอะ ไม่มีใครคาดหวัง พูดได้ ฟังรู้เรื่อง แต่ภารกิจเราต้องไปเรียนปริญญาโท จึงเลือก Oxford Brookes University เพราะมีคณะสถาปัตย์ฯ ภาควิชา Development Practices เพราะคิดว่าเหมาะกับประเทศไทย แค่นั้นจริง ๆ”
// การทำงานชุมชน
ไม่ใช่แค่ทำออกมาให้ชาวบ้านเลือกแล้วจบ
แต่ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้
ทั้งตัวเขาและตัวเรา //
ในด้านการทำงานเพื่อสังคม สถาปนิกหญิงเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ประจำปี 2553 เธอผ่านประสบการณ์การทำงานร่วมกับคนรายได้น้อยในชุมชนระดับรากหญ้ามาตั้งแต่ก่อนเรียนจบปริญญาโท สาขา Development Practices จาก Oxford Brookes University จากสหราชอาณาจักรเสียอีก
เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้สิทธิ์มีบ้าน มีชีวิตและสังคมที่สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง เธอจึงนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้ในชุมชนบ้านบ่อว้า และชุมชนเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา ชุมชนสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนป้อมมหากาฬ และชุมชนใต้สะพานในกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้นโดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวช่วย ภายใต้บทบาทการทำหน้าที่เป็น ‘สถาปนิกชุมชน’ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมามากกว่า 20 ปี
หรือแม้กระทั่งในด้านการทำงานรับออกแบบ (และงานรับเหมาก่อสร้างที่เธอทำงานคู่กับน้องชาย) จะบอกว่างานของ CASE เป็นมิตรกับชนชั้นกลางก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก
“งานของเราตอนนี้จะเป็นการออกแบบบ้านเสียส่วนใหญ่ เพื่อตอบโจทย์รูปแบบวิถีชีวิตของชนชั้นกลางให้มีคุณภาพชีวิตและโอกาสด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น มันอาจเป็นเรื่องของ Propaganda ที่นำเสนอว่าจ้างสถาปนิกเถอะค่ะ ต่อให้คุณขายส้มตำเราก็มีประโยชน์กับคุณนะคะ หรือต่อให้คุณเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยก็จ้างสถาปนิกสิ สถาปนิกไม่ใช่คนทำงานให้แต่คนรวยนะ”
ปฐมาตอกเสาเข็มความคิดให้แน่นขึ้นอีก และคำตอบต่อจากนี้คงช่วยบ่งบอกตัวตนของเธอได้อย่างดี โดยมีประสบการณ์การทำงานและความคิดที่ตกผลึกแล้วเป็นเครื่องการันตี
กระบอกเสียงของชุมชน
“การทำงานชุมชน ไม่ใช่แค่ทำออกมาให้ชาวบ้านเลือกแล้วจบ แต่ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งตัวเขาและตัวเรา ชุมชนเป็นสนามในการทำงานที่ดีนะ เพราะว่าทุกอย่างคือเบสิกไม่ต้องการความหรูหรา เพียงแต่เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาขั้นเบสิกให้ได้ก่อน ด้วยอุปสรรคเรื่องพื้นที่ทีมีจำกัด งบประมาณที่มีน้อย สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันในแต่ละชุมชน ล้วนเป็นตัวแปรว่าเราจะทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างไร หรือแม้แต่ในบางชุมชนที่ไม่มีใครสนใจมาฟังเราเลย เราก็จะต้องทำให้เข้าใจว่าเขาจะได้ประโยชน์นี้อย่างไร ต้องพยายามสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นมากที่สุด
“การทำงานกับชุมชนต้องเริ่มตั้งแต่ทำฟีส (ศึกษาความเป็นไปได้ หรือ Feasibility Studies) ดีไซน์ตั้งแต่กระบวนการ ไม่ใช่ดีไซน์สถาปัตย์ก่อน แต่หลายองค์กรไม่ให้เราทำ เราบอกไม่ได้ ถ้าจ้างเราทำ เราขอทำฟีสก่อน 3 เดือน เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะดีลกับชุมชนอย่างไร นั่นถึงจะเรียกว่ากระบวนการมีส่วนร่วม ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นกระบวนการมีส่วนเลือก หลายครั้งการทำงานแบบนี้เกิดผลเสีย
“กระบวนการมีส่วนร่วมของพี่ หมายความถึงการก่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งเขาและเรา รวมทั้งหน่วยงานรัฐ และ NGO ในพื้นที่ด้วย เราไม่ได้รู้ทุกเรื่องและใครจะรู้ดีไปกว่าตัวชาวบ้านเอง หลายคนเข้าไปในฐานะนักวิชาการคิดว่ารู้ดีกว่า คิดไปเองว่าทำแบบนี้มันจะเกิดแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่”
แก้ปัญหาชุมชนจากรากหญ้า
“ยกตัวอย่าง ชุมชนสลัม มันคือปัญหาที่เป็นผลพวกมาจากอะไรก็ไม่รู้ ฉะนั้นจะแก้ปัญหาสลัมต้องแก้ที่ต้นเหตุ สิ่งที่ทำทุกวันนี้คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนเพื่อให้เขาอยู่ในที่ที่ดีขึ้น แต่ถ้าจะแก้ปัญหานี้จริง ๆ ต้องแก้ทั้งระบบของประเทศ ต้องตีความให้ได้ก่อนว่าประเทศต้องการอะไร เราพลาดตรงไหน ทำไมเราต้องมาแอดอัด เราต้องแก้ปัญหากันตั้งแต่ฐานราก ระบบผังเมือง การออกโฉนด แม้เมืองไทยจะมีพื้นที่ไม่ใหญ่โตเท่าเมืองจีน แต่พื้นที่เมืองไทยมีประสิทธิภาพกว่ามาก เราแทบไม่มีพื้นที่ที่เป็นทะเลทราย ไม่ใช่แบบเวียดนามที่โดนพายุใต้ฝุ่นทุกลูกที่พัดมา เราแค่เจอปัญหาน้ำท่วมขังจากฝนตามฤดูกาลก็บ่นกันจะแย่ ซึ่งจริง ๆ การเกิดน้ำท่วมนั้นมีมานานแล้ว แต่สมัยก่อนมีทางน้ำให้ระบาย น้ำจึงลดเร็ว แต่ปัจจุบันเราไปสร้างบ้านขวางทางน้ำ ถมคลอง สร้างนิคมอุตสาหกรรมบนทำเลที่เคยปลูกข้าวได้ดีในอยุธยาและสมุทรปราการ ทำไมตอนนั้นไม่ไปสร้างโรงงานที่ทุ่งกุลาร้องไห้แล้วต่อระบบไป คนทุ่งกุลาฯ ก็จะไม่ต้องมาทำงานที่คลองเตยจนเกิดสลัมขนาดใหญ่
“ประเทศเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา แต่กลับใช้คนผิดประเภท แล้วมันจะเจริญได้อย่างไร เพราะเรามีคนเก่งเฉพาะทางมากมายแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คุณภาพของประเทศเราดีมาก เราไม่จำเป็นต้องมีตึกสูงเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เราต้องพัฒนา กลับพัฒนาผิดมาโดยตลอด ประเทศเราเป็นประเทศผลิตอาหารได้ดีทั้งปี อาหารเป็นปัจจัย 4 แต่เรายังจนกว่าประเทศขายน้ำมัน หรือประเทศที่ผลิตอาหารได้ไม่ทั้งปีอยู่ ถ้าทำระบบดีประเทศนี้ไม่จนหรอก”
การต่อสู้กับบางสิ่งที่ยากจะเปลี่ยนได้โดยง่าย
“อย่างน้อยเราทำ โชคดีที่สื่อหันมาสนใจ ได้เปิดปากพูดบ้าง มีคนฟังบ้าง ไม่ฟังบ้างก็แล้วแต่ เพราะเมื่อก่อนเหมือนคนบ้า ตอนหลังเราโตขึ้น เหมือนมีคนฟังเรามากขึ้น ถามว่าเคยทำแล้วเจอทางตันไหม เคย! บ่อยด้วย แต่ก็ยังทำต่อไป หรือมีบางทีที่เราต้องหยุดบ้าง แต่หยุดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ากลัวนะ แต่ต้องเซฟทีมงานที่มีอยู่น้อยของเราไว้ก่อน ยกตัวอย่างเราเคยเจอมาเฟีย ก็บอกน้องกลับไปว่าไม่ต้องทำ ไม่เป็นไร เราไม่สามารถเซฟทุกคนได้ ไม่สามารถเป็นซุปเปอร์แมนช่วยทุกคนได้ทั้งหมด เซฟตัวเราก่อนเพื่อไปทำอย่างอื่น เราจะไม่คาดหวัง เพราะถ้าคาดหวังเราทำงานไม่ได้”
โปรเจ็กต์ที่ภูมิใจที่สุด
“ความภูมิใจมาพร้อมน้ำตาตลอด โหดสุดคือบ้าน Ten มีความดราม่าเยอะมาก พร้อม ๆ กับทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะขึ้น ครอบคลุมทุกสาขาวิชา สามารถสอนเศรษฐศาสตร์ และระบบการเงินการธนาคารได้เลย อีกที่หนึ่งคือชุมชนเก้าเส้งที่สงขลาที่มีตั้งแต่ชนชั้นล่างจนถึงชนชั้นสูงรวมกัน พอทำเสร็จใหม่ ๆ คนก็งงว่าทำได้อย่างไร เพราะเป็นที่ที่ยากมาก การเมืองมันซับซ้อน ทั้งการเมืองภายในและภายนอก ซึ่งเราก็รู้เพราะเคยทำงานที่สงขลามาก่อน และก็บอกแต่แรกแล้วว่าเราจะไม่ทำ แต่เราถูกบังคับลงไปเพราะมองแล้วว่าไม่มีใครทำได้
“ที่ทำงานชุมชนทั้งหมดเราหวังผล ไม่ได้หวังผลให้เปลี่ยนทางกายภาพนะ เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐ NGO และชาวบ้านว่าเขาจะเปิดใจมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการเรียนรู้และยอมรับการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน นอกจากนี้สิ่งที่พบเจอระหว่างการทำงานพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของพี่ด้วยเช่นกัน เมื่อก่อนเราก็เคยคิดว่าทำไมจะต้องไปทำขนาดนั้น แต่พอได้ทำไปก็รู้สึกโชคดีที่ได้ลงมาทำ พอเราเริ่มโตขึ้นได้รู้วิธีการรับมือกับปัญหาก็จะช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น รู้ว่าจะต้องดีลกับใครแล้วเกิดประโยชน์ มันเป็นประสบการณ์ที่ช่วยสอนเราได้อย่างดี”
การทำงานในแต่ละชุมชนมีความยากง่ายแตกต่างกัน
“เราคิดว่าไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของมนุษย์ ตอนแรกที่เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านอาจจะโดนด่ากลับมาบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าเขารู้ว่าเราตั้งใจ ชัดเจน และลงมือทำงานอย่างสม่ำเสมอ เห็นได้จากการลงชุมชนของพี่ เราไม่ได้ลงพื้นที่เดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้ง เราลงทุกวันหรืออาทิตย์ละครั้ง พอเขาเห็นว่าเราทำงานอย่างจริงจัง ในที่สุดคนที่เคยด่าเราก็จะกลับมาปกป้องเราแทน”
// ปี 2549 ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบบ้าน Ten โครงการทดลองออกแบบบ้านทาวน์เฮ้าส์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย และตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของแต่ละคนในพื้นที่แตกต่างกัน จำนวน 10 ยูนิต โดยมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน //
// ชุมชนเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนชาวประมงที่ย้ายมาจากบริเวณแหลมสนอ่อนในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประมาณปี พ.ศ.2500 หนึ่งในโครงการที่ CASE ลงพื้นที่จัดทำผัง วางแผนการทำงาน ควบคุมและตรวจสอบงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเบื้องต้น ให้ชุมชนสามารถจัดทำและดูแลตัวเองได้ //
(อ้างอิง/อ่านต่อ www.casestudio.info/projects/kaoseng/index_th.htm)
เรื่อง Nawapat D.
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, นันทิยา