Bloom Architecture Archives - room

Sanctuary Villa บ้านโมเดิร์นเปิดโปร่งรับธรรมชาติ

Sanctuary Villa คือที่พักอาศัยของเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงพนมเปญ ที่มีข้อจำกัดคือสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่โรงงานของตัวเอง จึงกลายเป็นโจทย์ที่ต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อหลบเลี่ยงจากเขตโรงงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้มีพื้นที่เปิดออกสู่ธรรมชาติภายนอกเพื่อคุณภาพของการอยู่อาศัย จากโจทย์ดังกล่าว สถาปนิกจาก BLOOM Architecture ได้คลี่คลายและสร้างสรรค์ให้เป็นบ้านโมเดิร์นที่หลีกหนีจากความวุ่นวายของชีวิตการทำงาน เป็นเหมือนพื้นที่ซี่งตั้งอยู่ระหว่างเส้นแบ่งของโลกคู่ขนาน ตั้งใจออกแบบให้สมาชิกในบ้านรู้สึกเชื่อมโยงกับวิวธรรมชาติ แม้ที่ตั้งจะอยู่ใกล้เขตโรงงานก็ตาม ตัวอาคารมีขนาดพื้นที่ใช้สอย 600 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนเนินดินถมเตี้ย ๆ ปิดล้อมด้วยกำแพงให้แยกตัวจากโรงงานด้านหลัง ด้านหน้าได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่ลานหญ้าและลานจอดรถไว้คั่นจังหวะก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน สถาปนิกตั้งใจสร้างบรรยากาศให้อยู่สบายและเป็นส่วนตัวแตกต่างจากบริบทภายนอก เน้นการใช้องค์ประกอบของบ้านดึงให้ธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมกับการอยู่อาศัยให้มากที่สุด ตั้งแต่ห้องนั่งเล่นกลางบ้านที่เปิดโล่งเชื่อมต่อภายนอกด้วยประตูบานกระจกสูง สอดคล้องกับการออกแบบพื้นที่ภายในที่เน้นความยืดหยุ่นด้วยการจัดผังแบบโอเพ่นแปลน (Open Plan) เสริมคุณภาพการอยู่อาศัยด้วยแสงแดดที่ลอดผ่านกันสาดระแนงไม้ภายนอกที่ปกคลุมเฉลียงยื่นยาวต่อจากพื้นที่ส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดลวดลายของแสงเงาเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบบนพื้นคอนกรีตขัดมัน ปีกซ้ายและขวาของบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัว ออกแบบให้เป็นห้องนอนหลัก ห้องนอนแขก และห้องอเนกประสงค์ แต่ละห้องมีระเบียงยื่นออกมาเชื่อมกับพื้นที่สีเขียว นอกจากจะเป็นพื้นที่กลางแจ้งให้คนได้ผ่อนคลายแล้ว ยังเปิดโล่งเพื่อสัมผัสธรรมชาติและช่วยสร้างการไหลเวียนของลมในวันที่ไม่ได้ใช้งานเครื่องปรับอากาศ บ้านในชานเมืองของกรุงพนมเปญหลังนี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงที่อยู่อาศัยในบรรยากาศของธรรมชาติที่เป็นความพยายามสร้างบรรยากาศแห่งการพักผ่อนแยกขาดจากโรงงาน ทำให้บ้านซึ่งตั้งอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ทำงานกลายเป็นโลกอันแสนสงบของครอบครัว โดยมีธรรมชาติและงานออกแบบเป็นเครื่องมือนั่นเอง ออกแบบสถาปัตยกรรม: BLOOM Architectureออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Tropi-green Landscapingภาพ: Robert Kleinerเรียงเรียง: Kangsadan K. อ่านเพิ่มเติม ATELIER KAMPOT รีโนเวทตึกแถว กัมพูชา สไตล์โคโลเนียลทรุดโทรม […]

ATELIER KAMPOT รีโนเวทตึกแถว กัมพูชา สไตล์โคโลเนียลทรุดโทรม สู่ช็อปเฮ้าส์ร่วมสมัย

โปรเจ็กต์ รีโนเวทตึกแถว กับการคงเอกลักษณ์อาคารโคโลเนียลในประเทศกัมพูชา สู่พื้นที่ร้านอาหารและบ้านพักอาศัย รีโนเวทตึกแถว สไตล์โคโลเนียล ซึ่งตั้งอยู่ในย่านการค้าเก่าแก่ริมแม่น้ำในเมืองกำปอต ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชา จากที่เคยปิดร้างและมีสภาพทรุดโทรมให้กลายเป็นช็อปเฮ้าส์ เปิดทำธุรกิจร้านอาหารที่ชั้นล่าง และทำพื้นที่พักอาศัยที่ชั้นบน ออกแบบและรีโนเวทโดย Bloom Architecture สะท้อนถึงแนวคิดการให้คุณค่าต่อสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และอีกด้านหนึ่งยังถือเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี เล่าย้อนไปที่นี่เคยเป็นร้านค้าดำเนินกิจการของครอบครัวของเจ้าของมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อความเจริญของเมืองท่าเริ่มลดความสำคัญลง อาคารแห่งนี้ได้ทิ้งร้างมานานหลายปี ก่อนได้รับการฟื้นคืนชีวิตชีวาอีกครั้งในฐานะที่กลายเป็นร้านอาหารและบ้านพักอาศัย เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก และรักษาความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่กัมพูชาเคยเป็นเมืองอาณานิคมฝรั่งเศส จากการรู้คุณค่าดังกล่าวสถาปนิกจึงมุ่งเน้นที่การรักษาลักษณะดั้งเดิมของอาคารให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขั้นตอนของการนำพาอาคารเก่าข้ามเวลาสู่ยุคสมัยใหม่ สถาปนิกเน้นแผนการปรับปรุงอาคารโดยยังคงลักษณะดั้งเดิมของอาคารไว้ เริ่มจากภายนอกที่คงเก็บช่องเปิดโค้งขนาดใหญ่ที่ระเบียงชั้นสอง ลายปูนปั้นวิจิตรบรรจง ร่องรอยและคราบสีเก่าบนผิวอาคาร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของวันเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน ผสมกับไม้รีไซเคิลที่รื้อถอนจากตัวบ้านบางส่วน แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ส่วนหน้าต่างของบ้านเป็นการสั่งทำขึ้นมาใหม่ แสดงถึงการเข้ากันได้ระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ได้อย่างลงตัว พื้นที่ภายในมีขนาดพื้นที่ใช้สอย 319 ตารางเมตร แม้รูปลักษณ์ของอาคารจะเป็นอาคารพาณิชย์สไตล์โคโลเนียล แต่ฟังก์ชันภายในกลับบรรจุด้วยความสะดวกสบายเข้ากับวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบัน ชั้นล่างเปิดโล่งมีที่นั่งให้เลือกหลากหลาย จัดวางโต๊ะและเก้าอี้ไม้หลายรูปทรงสำหรับเป็นพื้นที่รับประทานอาหาร ฝ้าเพดานดูสูงโปร่งเผยให้เห็นคานไม้ ผนังอิฐโชว์ลายเผยให้เห็นเท็กซ์เจอร์วัสดุดั้งเดิม ประดับตกแต่งบรรยากาศด้วยภาพศิลปะแอ๊บสแตร็กต์สีสันสดใส ส่วนพื้นเป็นกระเบื้องลายโบราณที่โดดเด่นเป็นเอกลัษณ์และนิยมใช้กันในสมัยก่อน รับแสงและอากาศให้ไหลเวียนถ่ายเทได้ดี ผ่านการออกแบบให้มีคอร์ตยาร์ดซึ่งมีบันไดวนโลหะขนาดใหญ่สีขาวทอดผ่านลานตรงกลางนี้ สูงขึ้นไปจนถึงห้องนั่งเล่นส่วนตัวที่อยู่ชั้นบนสุด ซึ่งเป็นพื้นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้าน โดยบันไดวนนี้มีความสำคัญต่อการออกแบบอย่างมาก ใช้ในการนำพาแสงธรรมชาติให้ส่องลงมาถึงระดับพื้นที่ใช้งานชั้นล่าง และช่วยระบายอากาศตามธรรมชาติ ทำให้ภายในอาคารเย็นสบายแม้ในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนระอุ […]