ภายนอกอาคารยังปรากฏลูกเล่นที่บริเวณฟาซาดที่ออกแบบให้มีสีเทาและน้ำตาลหม่น เนื่องจากต้องการลดความโฉบเฉี่ยวของอาคารรูปสามเหลี่ยมที่ดูพุ่งแหลม ไม่ให้เกิดความแปลกแยกไปจากชุมชนที่ตั้งอยู่รายรอบ แต่ทั้งนี้ก็ยังแอบซ่อนจุดเด่นด้วยแพตเทิร์นของฟาซาดซึ่งได้ไอเดียมาจากตอนเข้าไปสำรวจโรงงานของบริษัท
“ผมชอบความเป็นโรงงานเพราะโรงงานเป็นเรื่องของ “System” เวลาเดินผ่านเราจะเห็นความเป็นระเบียบ เห็นระบบ เห็นวิธีการจัดเก็บวัสดุ เกิดแพตเทิร์นของระบบนี้อยู่ทั่วโรงงาน ที่สำคัญสินค้าของวนชัยก็เป็นการนำวัสดุชิ้นเล็ก ๆ มาประกอบกันให้กลายเป็นของชิ้นใหญ่ที่ใช้งานได้ เราจึงนำสิ่งนี้มาเป็นคอนเซ็ปต์ให้แก่แพตเทิร์นบนฟาซาด”
แพตเทิร์นที่ว่านี้ยังสัมพันธ์กับช่องหน้าต่างที่เรียงสลับกันแบบสับหว่าง ซึ่งมีความกว้างมากพอสำหรับช่วยนำแสงธรรมชาติให้เข้ามาสู่ภายในอาคาร โดยเฉพาะโถงบันไดหลักสูง 3 ชั้น อันเป็นจุดเด่นสำคัญที่สุดที่ช่วยให้งานออกแบบทำหน้าที่สะท้อนตัวตนขององค์กรแห่งนี้
“ข้างในเราเลือกใช้ “Laminated flooring” หรือ ผงไม้ อัดขึ้นรูปเป็น MDF แล้วแปะภาพพิมพ์ลายไม้ เป็นของสังเคราะห์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้ความรู้สึกว่าเป็นไม้มาก ๆ
“ปกติแล้ววัสดุนี้จะใช้กรุบนพื้น ตอนอยู่บนพื้นเราอาจจะรู้สึกธรรมดา ๆ แต่พอนำมากรุยาวขึ้นไปจนถึงผนังและเพดานกลับช่วยสร้างความรู้สึกแปลกตาดูพิเศษขึ้น เหมือนตรงนี้เป็น “Material Hall” โชว์ผิววัสดุของบริษัทไปเลย”
เทียบกันแล้วโถงบันไดที่เป็นจุดเด่นของอาคารนี้ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่โตกว่าพื้นที่อื่น ๆ อย่างส่วนสำนักงานหรือที่จอดรถเลย หากแต่ชุดบันไดที่กรุด้วยวัสดุ Laminated flooring ลายไม้ที่วางพาดจากล่างขึ้นบนแบบเป็นจังหวะ กลับช่วยสร้างสีสันให้การใช้ชีวิตในสถานที่ทำงานได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณพื้นที่ กล่าวได้ว่าเป็นเพราะการออกแบบที่สถาปนิกตั้งใจให้บันไดนี้เป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คนแทนที่ลิฟต์ การออกแบบบันไดให้กว้าง มีจังหวะความสูงของขั้นที่เดินสบาย กรุลามิเนตลายไม้ให้ดูกลมกลืนกันทั้งหมดนั้น ยิ่งช่วยสร้างเสน่ห์ที่สัมผัสได้ทั้งทางกายและสายตา เพิ่มบรรยากาศด้วยการซ่อนไฟ LED ตลอดแนวยาวของภายในบันได และตลอดแนวระเบียงที่ยื่นยาวก็ยังจัดวางชุดโซฟาเป็นจุด ๆ เพื่อให้พนักงานหรือผู้มาติดต่อได้นั่งพักหรือพูดคุยงานได้ตลอดวัน คล้ายมีเล้านจ์กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่
โถงบันไดซึ่งเกิดจากไอเดียการขับเน้นเอกลักษณ์ให้กับบริษัทจึงไม่ได้จบอยู่ที่แค่ความสวยงามของงานออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้ใช้งานเป็นหลัก ดังที่สถาปนิกได้กล่าวไว้ว่า “มันทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ของคนระหว่างแผนกมากขึ้น บรรยากาศการทำงานจึงถูกกำหนดได้ด้วยดีไซน์จริง ๆ”
ออกแบบ :Openbox Architects
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร