ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา room มีโอกาสเดินทางไปเก็บภาพ ถ่ายทำ และดื่มด่ำกับบรรยากาศชวนผ่อนคลายยังที่พัก รีสอร์ต และ โรงแรมเปิดใหม่ ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ มากมายหลายแห่ง
ทุกที่ที่เราไปพักเป็นสถานที่ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งสิ้น ลองมาอัพเดตกันหน่อยว่าในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานั้นมีที่ไหนกันบ้างที่เราอยากให้ชาวรูมที่ชื่นชอบเรื่องดีไซน์ตามลายแทงของเราไปเที่ยว พร้อมแล้วไปกันเลย
ภาคเหนือ
เชียงราย
CREATIVE CREWS | AHSA FARMSTAY
ฟาร์มสเตย์ไม้เก่า คลุกเคล้าวัฒนธรรมล้านนา
ห่างออกไปจากตัวเมืองเชียงราย มุ่งหน้าไปยังตีนดอยแม่สลอง ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน เรากำลังพาทุกคนหนีความวุ่นวายไปแอบอิงธรรมชาติแบบบ้าน ๆ กับเจ้าของพื้นที่ตัวจริงกันที่ AHSA FARMSTAY ฟาร์มสเตย์เล็ก ๆ ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้เสาะหาความสงบ และอยากสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านอย่างแท้จริง
บนผืนที่ดินกว่า 85 ไร่ นี้ ประกอบไปด้วยรูปแบบสัณฐานที่หลากหลาย ทั้งเนินเขา ที่ลุ่ม และที่ราบ ซึ่งล้วนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการผ่อนคลายทั้งกายและใจ พร้อม ๆ กับสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจของเจ้าของที่ต้องการให้แขกผู้มาเยือนได้เปิดประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของกิจกรรมการพักผ่อนต่าง ๆ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่สวยงามน่าสนใจ
ภายในพื้นที่ของฟาร์มสเตย์ที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เราจะมองเห็นกลุ่มศาลาสำหรับนักท่องเที่ยวแบบ One day trip ที่มีไว้สำหรับเรียนรู้การทำอาหารและวัฒนธรรมตั้งอยู่อย่างโดดเด่น ในส่วนของด้านหน้าที่อยู่ติดกับทางเข้า และถัดมาด้านในจะพบกับกลุ่มบ้านพัก 3 หลัง ซึ่งมีห้องพักเพียง 4 ห้องเท่านั้น ที่ดินส่วนที่เหลือเลือกเก็บไว้เป็นผืนนา ป่ายาง และพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ เพื่อยังคงไว้ซึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตเดิมของชาวบ้าน อีกทั้งตอบสนองต่อความต้องการที่อยากให้แขกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตเหล่านี้
เชียงใหม่
DEPARTMENT OF ARCHITECTURE CO. | LITTLE SHELTER HOTEL
ภาพสะท้อนเมืองเชียงใหม่ที่ซ่อนตัวกลางต้นไม้ใหญ่ริมแม่น้ำปิง
นาทีนี้หากไม่กล่าวถึง Little Shelter Hotel โรงแรมดีไซน์ไม่ธรรมดาแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ก็คงไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่กระแสที่ถูกกระหน่ำแชร์ตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เท่านั้น ที่ทำให้โรงแรมขนาด 890 ตร.ม. แห่งนี้น่าสนใจ แต่เพราะความแยบยลและตีความได้ละเอียดลึกซึ้งตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ จนถึงปลายทางอย่างงานสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในได้อย่างสมบูรณ์ต่างหาก ที่ทำให้อาคารแห่งนี้เป็นที่สนใจไม่เพียงแต่แวดวงการออกแบบ
Little Shelter Hotel แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่เงียบสงบเหมาะสำหรับการพักผ่อน แต่ก็ห่างจากกำแพงเมืองอายุกว่า 700 ปีเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น โดยรอบทิศทางของพื้นที่ถูกโอบโล้มด้วยต้นไม้ใหญ่
ด้านทิศตะวันออกติดกับซอยเล็ก ๆ ส่วนด้านทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำปิงซึ่งเหมาะสำหรับการชมวิวพาโนรามาได้อย่างไม่รู้เบื่อ ทำให้สถาปนิกจากบริษัท Department of Architecture ดึงเสน่ห์และความงามเฉพาะของพื้นที่มาผสมผสานกับประวัติความเป็นมาของจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนจึงการทอนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น และเลือกใช้วัสดุสมัยใหม่อย่างตรงไปตรงมาและน้อยชนิดที่สุดมาออกแบบ จนเกิดเป็นโรงแรมที่ดูเรียบง่ายทั้งรูปทรงและสีสัน ซึ่งหากแต่มองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจะค้นพบว่า แต่ละตารางนิ้วของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ได้ซ่อนกลิ่นอายของเชียงใหม่ไว้อย่างเข้มข้นทีเดียว
เชียงใหม่
I’LL DESIGN STUDIO | X2 CHIANGMAI RIVERSIDE RESORT
ประสบการณ์ในสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำปิง
บนที่ดินริมแม่น้ำปิงซึ่งห่างจากกำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ไม่ไกล คือที่ตั้งของ X2 Chiangmai Riverside Resort หนึ่งในโรงแรมหรูเน้นดีไซน์ภายใต้เครือ X2 (Cross-to) ตั้งตระหง่านอยู่อย่างสงบท่ามกลางทิวแมกไม้เก่าแก่ที่ต่างแทรกตัวอยู่ปะปนไปกับกลุ่มอาคารรูปลักษณ์แปลกตาเป็นระยะ ๆ
ด้วยที่ตั้งอยู่ในบริบทที่มีเสน่ห์มาก ไม่ว่าจะเป็นเหล่าต้นไม้เก่าแก่สูงใหญ่ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ทิวทัศน์ริมแม่น้ำปิง วิวยอดดอยสุเทพที่อยู่ปลายสุดสายตา และประวัติศาสตร์อันยาวนานของท้องถิ่น ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้สถาปนิกนำมาใช้ออกแบบพื้นที่ใช้งาน และกลุ่มอาคารต่าง ๆ ให้เหมาะกับการพักผ่อน และได้สัมผัสกับธรรมชาติแบบใกล้ชิดโดยแท้
X2 Chiangmai Riverside Resort เพิ่งจะได้รับรางวัลจาก Asia Pacific Property Awards Architecture ในสาขา “Best Hotel Architecture Thailand 2018-2019” ด้วยความโดดเด่นของการใช้พื้นที่ในการมอบประสบการณ์ที่สะท้อนมนต์ขลังและความเก่าแก่ของท้องถิ่นที่ตั้ง รวมไปถึงการเคารพธรรมชาติและบริบทรอบ ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้สถาปัตยกรรมดูสมบูรณ์แบบ ไม่น้อยหรือมากเกินไป
ภาคตะวันออก-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นครราชสีมา
CHAT ARCHITECTS | HOTEL LABARIS KHAOYAI
โรงแรมลึกลับกลางเขาใหญ่ และโลกพร่าเลือนในนิทาน
“Hotel Labaris Khaoyai” เป็นอีกหนึ่ง โรงแรมเปิดใหม่เขาใหญ่ โดดเด่นด้านหน้าตาที่มองผ่านอาจคล้ายปราสาทกอธิก ส่วนหนึ่งเพราะธีมโดยรวมของที่พักนั้นเป็นเรื่องราวของดินแดนสมมติในนาม “อาณาจักรลาบาริส” เล่าเรื่องผ่านการสร้างโลกในจินตนาการที่ประกอบด้วยบรรดาสัตว์วิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กระต่ายมีเขา สิงโตผสมหมูป่า กวางมีปีก โดยทั้งหมดถูกปกครองโดยคิงมิโนทอร์ (King Minotaur) เป็นเจ้าผู้ครองเมืองวิเศษที่ผู้เข้าพักจะถูกต้อนรับในฐานะแขกผู้มาเยือน
คำ Labaris กร่อนมาจากคำว่า Labyrinth ซึ่งแปลได้ว่า “เขาวงกต” สถาปัตยกรรมโดยรวมของ Hotel Labaris Khaoyai จึงถูกปั้นแต่งให้ดูพิศวง สลับซับซ้อน ราวกับโลกในเทพนิยาย แต่มากกว่านั้น สถาปนิกของโครงการกล่าวว่า เรื่องราวของการออกแบบนั้นอาจมีมากกว่าที่เห็น
โซนต่างๆ ใน โรงแรมแห่งนี้ ไล่เรียงเป็น 5 โซนหลัก เริ่มจากสวนด้านหน้าเป็นส่วนต้อนรับ ออกแบบเป็นเนินสนามหญ้าและทางเดินโค้งวน พร้อมคาเฟ่โพรงกระต่ายซ่อนอยู่ที่มุมหนึ่ง ก่อนจะนำผู้เข้าพักสู่โซนที่ 2 เป็นส่วนล็อบบี้โปร่งโล่งในใจกลางสวนเขาวงกต พร้อมอาคารปราสาทของห้องพักเป็นฉากหลัง ถัดจากนั้นเป็นส่วนที่ 3 คือสวนกระจกลวงตา นำไปสู่ห้องพักส่วนวิลล่า ก่อนจะเข้าสู่ส่วนที่ 4 เป็นอาคารห้องอาหาร และส่วนท้ายสุดเป็นสระว่ายน้ำคดเคี้ยวล้อธารธรรมชาติที่ไหลผ่านที่ดินอยู่ใกล้ๆ
ออกแบบสถาปัตยกรรม: CHAT Architects
ออกแบบภูมิทัศน์: Shma
ภาคกลาง-ภาคตะวันตก
ฉะเชิงเทรา
WALLLASIA | OUI J’AIME
โรงแรมเหล็กในเมืองแปดริ้ว ที่ทุกคนต้องบอกว่า “ใช่ ฉันชอบ”
ธรรมชาติของเมืองแปดริ้วนั้นไม่ได้เป็นเมืองที่คนจะมาเที่ยวเพื่อพักแรม ด้วยไม่ได้มีที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือสถานที่ดึงดูดให้คนอยู่ต่อ นอกจากการมาหาของอร่อยรับประทาน กับทำบุญไหว้พระในวัดสำคัญ ๆ อย่างไรก็ตาม คุณอุ้ย – ปิยะพร ตันคงคารัตน์ ผู้สืบทอดธุรกิจขนมเปี๊ยะอายุกว่า 80 ปีของครอบครัว เล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาของการต่อยอดธุรกิจการขายขนมสู่การทำที่พักแรมให้คนที่มาเยี่ยมเยือนเมืองฉะเชิงเทรา ว่า “เมืองแปดริ้วเราดังอยู่แล้วเรื่องอาหาร แล้วคนก็มาเที่ยววัด แต่หลังจากนั้นถ้าคนอยากจะไปต่อเขาก็ไปไหนไม่ได้ สิ่งนี้มันตรงประเด็น มันคลายปมในใจเราว่า ถ้ามันจะมีที่พักแบบนั้นเกิดขึ้น มันก็จะทำให้เมืองเราเปิดโอกาสให้คนมาใช้เวลากับมันมากขึ้น”
“Oui J’aime” เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลได้ว่า “ใช่ ฉันชอบ” หรือที่เจ้าของเรียกเป็นเสียงไทยง่าย ๆ ว่า “อุ้ยแจม” เป็นธุรกิจโฮมสเตย์ที่ต่อยอดมาจากธุรกิจขนมเปี๊ยะที่มีชื่อเสียงมากอยู่แล้วของเมืองแปดริ้ว ในชื่อ “ตั้ง เซ่ง จั๊ว” ซึ่งได้ คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบ Walllasia ผู้มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมและสวนที่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย มาเป็นผู้ออกแบบโรงแรมแห่งนี้
ข้อจำกัดแรกที่สถาปนิกพบได้จากที่ตั้งโครงการ คือขนาดและรูปร่างของที่ดินที่กว้างถึง 30 กว่าเมตร แต่ลึกเพียง 7 เมตรกว่าเท่านั้น ยิ่งเมื่อประกอบกับข้อกำหนดเรื่องระยะร่นจากกฎหมาย ความลึกของที่ดินที่จะใช้สร้างอาคารได้จริง ๆ จึงเหลือเพียงราว ๆ 5 เมตร อันเป็นความท้าทายที่ส่งผลถึงการเลือกใช้วัสดุ ตลอดจนรูปแบบสเปซของอาคารที่จำเป็นต้องทำให้โปร่งโล่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สถาปนิกใช้กำแพงเหล็กติดตั้งลงไปบนกรอบอาคารโครงสร้างเหล็กสูง 4 ชั้น โดยกรุลงในส่วนทางเดินที่ใช้เชื่อมเข้าสู่ห้องพักบริเวณที่หันออกสู่ถนน ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นทางเดินกึ่งกลางแจ้ง ผู้เข้าพักจะยังอยู่ภายใต้ชายคาอาคาร แต่ยังสัมผัสอากาศ แสง และทิวทัศน์ภายนอกได้เต็มที่ กำแพงเหล็กนี้เองกลายเป็นจุดเด่นที่สุดของอาคารที่มองเห็นได้จากภายนอก ตัวมันเองเป็นแผ่นเหล็กเจาะรู (Perforated Sheet) ที่ถูกปล่อยให้เป็นสนิม แล้วทาเคลือบภายหลังเพื่อคงสภาพไว้ โดยขนาด จังหวะ และรูปแบบการเจาะลายทั้งหมด คุณสุริยะและทีมสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด
พระนครศรีอยุธยา
TIDTANG STUDIO | BUSABA AYUTTHAYA
มิติการออกแบบของจุดร่วมสถาปัตยกรรมระหว่างยุคสมัย
จากเรือนไทยเก่าแก่ที่ตกทอดจากคุณตาข้างบ้านของคุณมิ้งได้ทีมสถาปนิกจาก TIDTANG STUDIO ที่เคยร่วมงานกันในโปรเจค BUSABA CRAFT DESIGN CAFE เข้ามาชุบชีวิตเรือนไทยหลังเก่าริมน้ำอายุร่วม 50 ปีให้กลายเป็นเรือนไทยร่วมสมัยในรูปแบบ CONCEPTUAL HOTEL ที่ไม่เพียงแต่จะนำเสนอความเป็นไทยผ่านทางด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิตคนกับเรือนไทยดั้งเดิมผ่านฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างน่าสนใจ
หลังจากทีมสถาปนิกเข้ามาดูไซต์ก่อนเริ่มงานก็พบว่า เรือนเดิมนั้นยังคงมีความสมบูรณ์อยู่ในระดับหนึ่ง จึงมองหาแนวทางในการทำงานที่จะรักษาและสะท้อนคุณค่าของเรือนไทยหลังเดิม โดยมีโจทย์ในการคงองค์ประกอบเดิมของเรือนไทยไว้ให้ได้มากที่สุดเป็นโจทย์อันดับต้น ๆ ในการออกแบบ หลังจากทำงานกันอย่างหนัก ผ่านการทดลองทั้งเรื่องของสัดส่วนและองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรือนไทย ผู้ออกแบบจึงเลือกดึงความเป็นไทยออกมาให้ร่วมสมัยขึ้น ผ่านทางฟาซาดที่นำมาครอบเรือนเดิมอีกครั้ง
หลังจากได้ศึกษาองค์ประกอบของเรือนไทยอย่างจริงจัง ก็พบว่าสัดส่วนของเรือนส่วนใหญ่นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ๆ นั่นก็คือ ส่วนใต้ถุนที่ถูกยกสูงส่วนตัวเรือน และส่วนที่สถาปนิกมองว่าเป็นลักษณะเด่นและภาพจำของเรือนไทยมากที่สุดนั่นก็คือ หลังคาทรงสูงด้วยความที่สถาปนิกต้องการให้อาคารมีความโมเดิร์นมากขึ้นแต่ก็ต้องการรักษาองค์ประกอบของเรือนหลังเก่าไว้ ขั้นตอนการออกแบบจึงเริ่มจากการลดทอนรายละเอียดและรวบสัดส่วนของตัวเรือนกับหลังคาซึ่งเป็นพระเอกของเรือนเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งจังหวะเสาบริเวณใต้ถุนใหม่เพื่อให้สอดรับกับแพทเทิร์นฝาปะกนของตัวเรือน จากนั้นนำเสนอสัดส่วนใหม่ที่ได้ออกมาในรูปของเปลือกอาคารโครงสร้างเหล็กร่วมสมัยที่ครอบเรือนไทยดั้งเดิมไว้
กรุงเทพมหานคร
IF | KLOEM HOSTEL
“เคลิ้ม” ในโฮสเทลรีโนเวทของย่านเก่าหลังมุมเมือง
เพชรบุรีซอย 5 ย่านที่วุ่นวายที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร นอกจากจะเป็นโซนพักอาศัยของพนักงานราชการ พนักงานบริษัท คนรับจ้าง นักศึกษา รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่อาศัยความพลุกพล่านของเมืองขายอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกในซอยจนดูราวกับย่านไม่เคยหลับใหล ยังมีชุมชนที่คนยังเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มีค่ายมวย เคียงอยู่กับรางรถไฟที่ขนาบด้วยชุมชนคนริมราง จนนำมาซึ่งวิถีชีวิตที่ผสมปนเปเป็นเสน่ห์แบบ “กรุงเทพฯ ๆ” ที่น่าดึงดูดอย่างประหลาด
เสน่ห์ที่เกิดจากวิถีชีวิตคนธรรมดา ดึงดูดให้เจ้าของโครงการ “เคลิ้ม” เลือกบ้านไม้เก่า 2 หลังซึ่งตั้งอยู่ในโซนด้านในสุดของซอย สร้างเป็น โฮสเทลรีโนเวท ขนาดเล็ก โดยเน้นการดึงบริบททั้งทางกายภาพและด้านวิถีชีวิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม
ในด้านการออกแบบ เคลิ้มแห่งนี้ได้ทีมสถาปนิกมากฝีมือ IF (INTEGRATED FIELD) เป็นผู้ก่อร่างไอเดียทั้งหมดให้เกิดขึ้นจริง โดยมีแนวคิดหลักคือการนำเสนอวิถีชีวิตแท้ๆ ของคนกรุงเทพในปัจจุบันผ่านการฟื้นฟูบ้านเก่าสองหลังที่ตั้งผ่านกาลเวลามาหลายสิบปี โดยหลักๆ คือการเปลี่ยนโฉมอาคารทั้งหมดให้กลายเป็นสีดำ เพื่อสร้างความเป็นภาพรวมทั้งภายในอาคารและความกลมกลืนกับบริบทภายนอกเอง
กรุงเทพมหานคร
STUDIOMITI | BAAN MAKHAM
โอบกอดธรรมชาติใกล้เมืองกรุง
บางกระเจ้าอีกหนึ่งสถานที่หลบหนีความวุ่นวายมาใช้ชีวิตแบบสโลไลฟ์ที่ ปอดสีเขียวเสี้ยวสุดท้ายใกล้กรุงเทพฯ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของป่าชายเลน แทรกด้วยทางเดินคอนกรีตคดเคี้ยวสลับกับบ้านหลังน้อยใหญ่ให้เดินเล่นชิล ๆ แบบเย็นสบายไปเรื่อย ๆ ก่อนจะได้พบกับต้นมะขามด้านหน้า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรงแรมสไตล์บูทีคอย่าง “ บ้านมะขาม ” ที่คอยต้อนรับทุกคนด้วยคาเฟ่ขนาดกำลังดีสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ว่าจะมาเดินเล่น หรือปั่นจักรยานก็สามารถแวะเข้ามาหาขนมอร่อย ๆ และเครื่องดื่มเย็น ๆ จิบดับร้อนให้ชื่นใจ
ไฮไลท์เด่นอยู่ที่บริเวณด้านหลังคาเฟ่ ซึ่งซ่อนพื้นที่แห่งการพักผ่อนเสมือนได้เดินทางข้ามมิติเข้ามาอยู่ในวงล้อมเขียวชอุ่มของแมกไม้ในสวน สอดแทรกด้วยบ้านไม้จำนวน 6 หลัง ที่ใช้ไม้เก่าเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เพื่อสร้างความกลมกลืนกับบริบทและสภาพแวดล้อมรอบ ๆ แถมยังให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้พักผ่อนอยู่ในบ้านของตัวเอง มีพื้นที่ล็อบบี้สร้างเป็นอาคารแบบเปิดโล่งอยู่ตรงกลางให้แขกทุกคนได้มานั่งเล่นชิล ๆ โดยทุกพื้นที่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินไม้สำหรับใช้สัญจรภายในโรงแรม
หนึ่งในความตั้งใจของผู้ออกแบบ คือต้องการให้ผู้ที่ก้าวเข้ามาในพื้นที่รู้สึกถึงการลดอัตตาในตัวเอง ให้แขกที่มาพักได้อยู่กับตัวเอง และใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากที่สุด ผ่านงานออกแบบสเปซและรายละเอียดต่าง ๆ โดยคุณอาจจะไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นทางเดินไม้ขนาดไม่กว้างนักเพื่อให้แขกเดินอย่างมีสติไม่พลัดตกลง พร้อมด้วยการแทรกที่นั่งไว้ตลอดทางเดิน สำหรับนั่งฟังเสียงธรรมชาติรอบ ๆ ตัว หรือแม้กระทั่งดีเทลในการเปิด-ปิดม่านที่ต้องยกขึ้น-ลงช้า ๆ ที่ละขั้นด้วยตัวเอง แทนการดึงม่านแบบเร็ว ๆ ที่ทำกันเป็นประจำ
กาญจนบุรี
DERSYN STUDIO | Z9 RESORT
ชาร์ตพลังกายและจิตวิญญาณบนผืนน้ำเหนือเขื่อนศรีนครินทร์
Z9 RESORT ฉีกทุกกฎ พร้อมลบภาพของเรือนแพเดิมๆ จนทำให้ภาพแรกที่เห็น เราเกือบทายไม่ถูกว่าที่นั่นคือที่ไหน !
บนผืนน้ำนิ่งสงบ เหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณแหลมสุดขอบแก่งธรรมชาติได้มีที่พักแห่งใหม่เกิดขึ้นในนามว่า “ Z9 RESORT ” รีสอร์ทในสไตล์เรือนแพ ซึ่งเป็นรูปแบบของสิ่งก่อสร้างที่เหมาะสมและเป็นที่นิยมของบริบทความเป็นพื้นที่ริมน้ำเช่นนี้ แต่เหตุใดเล่าที่ทำให้ที่นี่ดูต่างออกไป เหมือนว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาที่โมเดิร์น ดูทันสมัยแปลกตา อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับสิ่งก่อสร้างประเภทนี้
นอกเหนือจากบรรยากาศโดยรอบที่โอบล้อมไปด้วยแนวทิวเขาและคุ้งน้ำกว้างสุดลูกหูลูกตา รีสอร์ตแห่งนี้ยังดึงดูดผู้คนได้ด้วยภาพเรือนแพสุดเท่ โดยฝีมือการออกแบบของ Dersyn Studio ที่ทำงานร่วมกับเจ้าของโครงการมาเป็นเวลานาน จึงไว้วางใจให้เข้ามาเนรมิตรพื้นที่นี้เสียใหม่ ก่อนจะเริ่มออกแบบ สถาปนิกจึงขอเข้ามาศึกษาพื้นที่เพื่อซึมซับและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริบท จนเป็นจุดกำเนิดไอเดียและแนวคิดของการออกแบบที่ไม่ธรรมดา
ภาคใต้
สุราษฏร์ธานี
NPDA STUDIO | BUNJOB HOUSE
สะท้อนเรื่องราวของธรรมชาติเขตร้อนผ่านสถาปัตยกรรมโมเดิร์น
อาคารของรีสอร์ตขนาดกะทัดรัดแทรกตัวอยู่ท่ามกลางบรรยากาศสุขสงบของเกาะพะงัน โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่ดูโมเดิร์น คล้ายว่าเป็นขบถต่างจากรูปแบบการก่อสร้างดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หากแต่สามารถสะท้อนเรื่องราวของธรรมชาติเขตร้อนผ่านงานดีไซน์ได้อย่างน่าสนใจ
“บ้านบรรจบ” คือส่วนต่อขยายใหม่ล่าสุดบนพื้นที่ 5 ไร่ ของรีสอร์ต Co-Co Nut&Noom ธุรกิจครอบครัวของคุณณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท NPDA Studio แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้มีเพียง “บ้านพะงัน” วิลล่า 4 หลังที่เปิดมุมมองสู่วิวทะเลของหาดท้องศาลา และ “บ้านสมใจ” บ้านอิฐดีไซน์แปลกตา ซึ่งเป็นทั้งที่พักของครอบครัวเจ้าของรีสอร์ต พร้อมลานกิจกรรมโยคะขนาดกว้าง
แต่ด้วยแนวคิดทางธุรกิจที่ต้องการให้รีสอร์ตสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้น ที่พักเฟสใหม่นี้จึงได้รับการออกแบบเพื่อตอบโจทย์การพักผ่อนของนักเดินทางรุ่นใหม่ ซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างจากแขกผู้เข้าพักระยะยาวที่มักเลือกห้องพักส่วนตัวแบบวิลล่า บ้านบรรจบจึงเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ประกอบด้วยห้องพัก 8 ห้อง บนอาคาร 2 ชั้น โดยทุกห้องสามารถเปิดประตูทะลุถึงกันได้ คล้ายกับรูปแบบห้องพักรวม (Dormitory)
ล่าสุดสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ประกาศผลการคัดเลือกโครงการ ASA Emerging Architecture Award 2019 ออกมาเรียบร้อย และหนึ่งในอาคารที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ที่สมควรเผยแพร่ก็คือ บ้านบรรจบแห่งนี้
ใครมีแผนหนีร้อนไปเที่ยวเกาะพะงัน อย่าลืมใส่ชื่อรีสอร์ตน้องใหม่ลงในโปรแกรมของตัวเองด้วย เพราะนอกจากวิวสวย ๆ ของหาดท้องศาลา สถาปัตยกรรมคอนกรีตสไตล์ Brutalist Architecture ที่จงใจลดทอนความดิบกระด้างด้วยเส้นสายโค้งเว้า ผสมผสานกับการใช้ไม้ไผ่มาเชื่อมโยงความเป็นพื้นถิ่นแห่งนี้ก็สวยงามไม่แพ้วิวเช่นกัน
สุราษฏร์ธานี
VVA | CELES BEACHFRONT RESORT
รีสอร์ตสุดสงบที่ลบภาพเดิมของบ่อผุด วิลล่า ไปเสียสนิท
รูปแบบรีสอร์ตสไตล์ทรอปิคัลคงเป็นภาพคุ้นตาใครหลายคนยามเมื่อเรานึกถึงโรงแรมแห่งต่าง ๆ บนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนกระทั่งเจ้าของโรงแรม “บ่อผุด วิลล่า” มีความคิดอยากจะพลิกโฉมโรงแรมแห่งนี้เสียใหม่ ภายใต้รูปแบบรีสอร์ตสไตล์โมเดิร์นนามว่า “ CELES BEACHFRONT RESORT KOH SAMUI ” เพื่อรองรับกลุ่มยูสเซอร์ที่เป็นครอบครัวคนรุ่นใหม่ โดยมีสถาปนิกจาก VIN VARAVARN ARCHITECTS เข้ามารับหน้าที่ออกแบบวางผัง และ BEGRAY มาช่วยออกแบบตกแต่งภายใน ร่วมด้วยภูมิสถาปนิกจาก VISTA PAGODA กับการรีโนเวตพื้นที่ใช้งานต่าง ๆ ของโรงแรมจนเกือบลืมภาพเดิม ๆ ของบ่อผุด วิลล่า ไปเสียสนิท
บนที่ดินรูปตัวแอล (L) สถาปนิกยังคงอ้างอิงตำแหน่งของฟังก์ชันเดิมไว้ โดยแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 6 โซน คือพื้นที่ทางเข้าหลักของโครงการที่ให้ความรู้สึกเขียวชอุ่มตั้งแต่แรกเดินเข้ามา ต่อด้วยพื้นที่รีเซ็ปต์ชั่น ล็อบบี้ และสปา โดยในโซนนี้เป็นการรวมตัวของสองฟังก์ชันที่ดูขัดแย้งกัน กล่าวคือพื้นที่ล็อบบี้ที่มีความเป็นสาธารณะสูง กับพื้นที่สปาที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เงียบสงบ ผู้ออกแบบจึงแยกแมสอาคารทั้งสองส่วนออกจากกัน แล้วคั่นด้วยพื้นที่เชื่อมต่อ (Transition Space) เช่น ห้องน้ำ ห้องเก็บของ และสวน โดยยังสามารถใช้ร่วมกันได้จากทั้งสองฝั่ง แล้วเพิ่มกิมมิกด้วยหลังคาที่เจาะช่องแสงแบบแรน ดอม ช่วยให้พื้นที่ดูโปร่งโล่งอย่างมีมิติ
หากเปรียบพื้นที่โซนล็อบบี้เป็นเสมือนประตูทางเข้าก็คงไม่ผิดนัก เพราะเมื่อผ่านประตูเข้ามาคุณจะได้พบกับโลกอีกใบของ Celes กับพื้นที่ไฮไลต์อย่างโซน Botanical Village ซึ่งมีชื่อมาจากสภาพพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวตลอดสองข้างทาง
สุราษฏร์ธานี
ONION | SALA SAMUI CHAWENG BEACH RESORT
อาบแสงจันทร์ริมหาดเฉวง
“เฉวง”นั้นขึ้นชื่อเรื่องความคึกคักเสียจนผู้คนเรียกขานกันว่าเป็นหาดที่ได้รับความนิยมที่สุดบนเกาะสมุยก็ว่าได้ แต่นอกจากผับ บาร์ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และโรงแรมขนาดน้อย-ใหญ่แล้ว เพียงไม่กี่ร้อยเมตรบนหาด “เฉวงเหนือ” คือที่ตั้งของ ” SALA Samui Chaweng Beach Resort ” โรงแรมหรูท่ามกลางธรรมชาติเงียบสงบเป็นส่วนตัว โดยมีงานดีไซน์เข้ามาเสริมบรรยากาศให้ทุกมุมของการพักผ่อนเต็มไปด้วยความสุขและประสบการณ์ที่ต่างออกไป
โดยภายในพื้นที่คอร์ตขนาดใหญ่ที่เว้นกว้างไว้นั้น สถาปนิกได้ออกแบบให้เป็นพื้นที่สระว่ายน้ำ พร้อมลานอเนกประสงค์ขนาดกว่า 2,000 ตารางเมตร ลาดไปสู่หาดทรายขาวสะอาดริมทะเล ไฮไลต์ที่รอคอยทุกคนอยู่ปลายสายตาจากทางเข้าหลัก ในแง่การจัดการพื้นที่ คอร์ตนี้ยังเป็นเหมือนหัวใจสำคัญ สำหรับรองรับแขกผู้เข้าพักให้สามารถมาใช้เวลาพักผ่อนที่นี่ได้ตลอดทั้งวัน พร้อมพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ที่ออกแบบให้กระจายอยู่รอบ ๆ วิธีนี้เป็นการสร้างพื้นที่แบบ “ใช้คอร์ตเชื่อมประสบการณ์” ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน ต่างจากการไล่ลำดับพื้นที่ใช้งานแบบเส้นตรง ผู้เข้าพักจะถูกกำหนดให้พบเจอประสบการณ์ ณ จุดนั้นจุดนี้เรียงลำดับไปตามทางเดินหรือตามพื้นที่ใช้สอยที่กำหนดไว้ตายตัว หากแต่วิธีการออกแบบครั้งนี้กลับแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้เข้าพักจะได้รับประสบการณ์แบบรอบด้าน และมีทางเลือกในการใช้พื้นที่อย่างอิสระขึ้น
ไอเดียหลักของเจ้าของโครงการคือต้องการให้ทุกห้องพักมีสระว่ายน้ำเป็นของตัวเอง โดยสถาปนิกเปรียบไว้ว่าเป็นเหมือน คอร์ตส่วนตัวของห้องแต่ละห้อง ทั้งนี้แต่ละสระยังมีแนวคิดเหมือนกันคือการเปิดช่องเหนือศีรษะให้แสงอาทิตย์สามารถส่องลงมายังพื้นที่ใช้งานได้ เพื่อมอบแสงและเชื่อมบรรยากาศภายนอกให้เข้ามาสู่พื้นที่พักผ่อนภายใน พร้อมกันนั้นยังเกิดภาพตกกระทบของแสงเงา ช่วยเพิ่มมิติให้พื้นที่ และเปิดประสบการณ์ด้านมุมมองที่ดูสวยแปลกตา
เรียบเรียง: ND24
ภาพ: W Workspace, ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข, นันทิยา, ศุภกร, เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม, Beer Singnoi
อ่านต่อบทความแนะนำ