ภาพความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมของโลก รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันภาคการตลาดก็ตอบรับความตื่นกลัวและโหยหาธรรมชาติของมนุษย์ด้วยการใช้แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือความเป็นมิตรกับธรรมชาติเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในจุดขายของสินค้าและบริการแทบทุกแบรนด์
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องน่ายินดีในการปลุกกระแสให้ผู้คนทั่วทั้งโลกหันกลับมาตระหนักถึงความเป็นไปของโลกและหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แต่คงจะดีมากขึ้นไปอีกหากเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสร้างความนิยมในโลกการตลาดเท่านั้น
วันนี้ room จะพาคุณเจาะลึกลงไปใต้ผิวของ “กระแสความกรีน” เพื่อค้นหาแนวทางในการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
NATURE IS NOT JUST A TREND!
แม้ว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเรื่องของธรรมชาติจะพูดถึงในเทรนด์บุ๊คจากหลากหลายค่ายทั่วโลกจนแรงบันดาลใจจากธรรมชาติกลายเป็นประเด็นที่ไม่มีวัน“เอาท์”ไม่ว่ากระแสต่างๆจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม คล้ายเป็นความพยายามเล็กๆของเหล่าเทรนด์เซ็ทเตอร์ในการปลูกฝังแนวคิดในการเยียวยาวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติลงในความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องข้อสรุปในงานวิจัยหลายชิ้นว่าประชากรเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y ) หรือชาวมิลเลเนียนซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนการตลาดของโลกยุคนี้กำลังให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมคืองานออกแบบคือเห็นว่าการผสมผสานต้นไม้ให้เข้ามาเป็นส่วนในพื้นที่ใช้ชีวิต เช่น โรงแรม ร้านอาหาร อาคารสำนักงาน รวมไปถึงที่พักอาศัยซึ่งไม่ว่าจะมีขนาดเล็กเพียงเท่าใดต่างก็มีความพยายามในการเติมพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในสมัยนี้กำลังโหยหา
SUSTAINABLE LIVING
แนวคิดในการออกแบบอย่างยั่งยืนถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ งานตกแต่งภายใน รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรม ซึ่งหัวใจของการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนคือการสร้างผลกระทบให้กับโลกน้อยที่สุด ด้วยการบริหารจัดการเพื่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการใช้พลังงาน รวมถึงการออกแบบตัวอาคารโดยคำนึงถึงบริบทโดยรอบ การพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยด้วยแนวคิดที่ว่านี้จึงไม่ใช่แค่เพียงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงออกแบบมาสเตอร์แพลนที่สามารถรองรับการอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมเดิมของพื้นที่ไปพร้อมกับการออกแบบพื้นที่ภายในโครงการให้ตอบสนองกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพดีอีกด้วย
BIODIVERSITY
ปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมองว่าการสร้างสมดุลของระบบนิเวศไม่ได้เป็นเพียงแค่การอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติเท่านั้นแต่ยังหมายความถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเล็กทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับเราด้วย การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยด้วยแนวคิดที่ว่านี้จึงเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของผู้ใช้งานที่หลากหลายทั้งเด็ก คนชรา ผู้พิการ ตลอดจนสรรพสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น นก กระรอก สัตว์เลื้อยคลาน ผีเสื้อ แมลง รวมไปถึงดอกไม้ใบหญ้า ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนในการดำรงชีวิตระหว่างกัน นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงไปถึงรากวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Global citizen ที่นิยามว่าทุกคนเป็นพลเมืองของโลกใบนี้โดยไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ศาสนา หรือถิ่นที่อยู่ จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบความเป็นไปที่เกิดขึ้นในไปพร้อมกัน ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ แบบข้ามสาขา ข้ามพรมแดน เพื่อหาหนทางในการรักษาลมหายใจของโลกใบนี้ไปด้วยกัน
BIO-NET INITIATIVE
แนวความคิดที่ต่อยอดมาจากปรัชญา BIODIVERSITY โดยเริ่มต้นจากการริเริ่มในการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ จากนั้นจึงวางแผนในภาพกว้างเพื่อเชื่อมต่อของระบบนิเวศแต่ละแห่งเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเครือข่ายของพื้นที่สีเขียว โดยการพัฒนาเมืองและพื้นที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิดที่ว่านี้จำเป็นต้องลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตแต่และชนิด เช่น พันธ์พืช แมลง และนกประจำถิ่น เพื่อประกอบการคิดคำนวณถึงสถานที่โดยรอบของโครงการว่าควรมีพืชพรรณ ดิน น้ำ ลมในปริมาณใด จึงจะสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้อย่างสมดุล นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการให้ความร่วมมือ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับผู้อยู่อาศัยในโครงการซึ่งเป็นกลไกหลักในการสร้างสรรค์และรักษาระบบนิเวศของความหลากหลายทางชีวภาพนี้ให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน
เรื่อง/ภาพ : Damrong Lee
ขอขอบคุณ บมจ. เอพี ไทยแลนด์ ผู้สนับสนุนข้อมูลและการเดินทาง