เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน โครงการคอมมูนิตีมอลล์ที่มีชื่อว่า The Commons ได้เปิดตัวขึ้นในซอยเล็ก ๆ ย่านทองหล่อ หลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จมากมายในหลายแง่มุม โดยเฉพาะความสำเร็จด้านการออกแบบ ซึ่งการันตีด้วยรางวัลที่ได้รับมาแล้วทั้งจากในไทยและต่างประเทศ นำไปสู่การขยับขยาย The Commons สาขาใหม่ในย่านศาลาแดงซอย 1 ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้านัก โดยมีชื่อตามสถานที่ตั้งว่า The Commons Saladaeng ซึ่งเพิ่งเปิดตัวได้ไม่กี่เดือนนับจากต้นปี 2020 และนี่คือสถาปัตยกรรมคอมมูนิตีมอลล์สีแดงที่ดึงผู้คนให้ออกมาใช้ชีวิตแบบคอมมูนิตีใจกลางกรุง
“ผมมักจะไม่ค่อยพูดว่า The Commons คือ Community Mall เท่าไหร่ แต่มันคือ Space for Community เพราะคอนเซ็ปต์ของ The Commons คือสถานที่ที่รองรับผู้คนอย่างเข้มข้น ทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านการใช้สอย”
คุณอมตะ หลูไพบูลย์ จาก Department of Architecture Co, Ltd. ทีมผู้ออกแบบ The Commons Saladaeng ได้เล่าว่า มีความตั้งใจในการคงแนวคิดเดิมที่เคยทำที่ทองหล่อไว้ ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดใหม่ที่ว่า ควรจะสร้างเอกลักษณ์ให้ดูแยกชัด ด้วยวิธีการกลับไปตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า ‘ศาลาแดงคืออะไร?’
ความน่าสนใจหนึ่งที่พบก็คือ คนรอบ ๆ ตัวทั้งคนที่มีอายุมาก ไม่มีใครทราบเลยว่า คำว่าศาลาแดงมาจากอะไร มีที่มา และหน้าตาอย่างไร เกิดเป็นแรงกระเพื่อมให้ทีมออกแบบเริ่มหาข้อมูลเบื้องลึกของศาลาแดง
โดยทีมออกแบบพบว่ามีหลักฐานต่าง ๆ นับย้อนหลังไปเกือบ 100 ปี ที่แล้ว ไม่ใกล้ไม่ไกลสถานีหัวลำโพง บนเส้นทางรถไฟหัวลำโพง-ปากน้ำ ซึ่งมีศาลารอรถไฟโครงสร้างไม้หลังคาจั่วเล็ก ๆ สีแดง กว้างประมาณ 4-4.5 เมตร ตั้งอยู่ ใครผ่านมาก็จะมองเห็นหลังคาสีแดงเด่นแต่ไกลจนจดจำได้ และนั่นคือที่มาของชื่อ “ศาลาแดง”
“พอผมรู้เรื่องราวเเละประวัติที่มาแล้ว เลยอยากเริ่มต้นออกแบบให้มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์นิดหนึ่ง ทั้งในแง่รูปทรงและการเลือกใช้กระเบื้องลอนสีแดง (กระเบื้องยางออนดูลีน) เป็นวัสดุชูโรง ผมรู้สึกว่าหลังคาจั่วขนาดเล็ก นั้น ลึก ๆ มีความโรแมนติกและสัมพันธ์กับอดีตที่ไม่มีใครรู้จักได้ดี”
“ด้วยการใช้พื้นที่แบบ Contemporary Use ในสมัยนี้ที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้เราไม่สามารถใช้จั่วที่มีสแปนเสากว้างเพียง 4-4.5 เมตร ได้ เราจึงออกแบบฟอร์มใหม่ด้วยการซอยหลังคาใหญ่ทั้งหมดให้เป็นจั่วเล็ก ๆ จำนวน 8 จั่วแทน จนได้สเกลหลังคาเหมือนอาคารในอดีต แต่ขณะเดียวกันก็จะได้สเปซแบบปัจจุบันด้วย เเล้วทำโครงสร้างหลังคาแบบพิเศษเป็นรูปตัวเอ็ม (M) ที่ลอยเด่นเหนือความกว้างของสเปซตรงนั้น”
แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องสเปซการใช้งานทั้งหมด อีกจุดเริ่มต้นที่สำคัญไม่แพ้กันในการออกแบบ The Commons Saladaeng ก็คือบริบทเดิมบนผืนที่ตั้งขนาดประมาณเกือบ 1ไร่ ที่มีไทรต้นใหญ่ยืนต้นอยู่ติดกับขอบของแปลงที่ดิน ซึ่งไม่กีดขวางพื้นที่ก่อสร้างด้านใน บวกกับเป็นต้นไม้ที่มีรูปทรงสวยงาม ทีมผู้ออกแบบจึงตั้งใจเก็บไม้ต้นนี้ไว้ให้เป็นจุดเด่นของโครงการ ถ้าดูจากผังหลังคาของ 8 จั่วสีแดงทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าผังจะถูกคว้านเป็นรัศมีจากจุดศูนย์กลางที่เป็นต้นไทร ต้นไม้ต้นนี้จึงเป็นจุดตรึงตำแหน่งของสถาปัตยกรรมทั้งหมด พร้อมกับสร้างมุมมองที่ดีของการใช้พื้นที่ทั้ง 3 ชั้นไปในตัว
ไล่ลำดับตั้งเเต่บริเวณชั้น 1ที่ประกอบด้วยพื้นที่ขายอาหารและกาแฟแนว ‘Grab & Go’ สำหรับกลุ่มพนักงานออฟฟิศผู้รีบเร่ง ส่วนชั้นที่ 2เป็นพื้นที่นั่งรับประทานอาหารร่วมกันจากร้านอาหารมากกว่า 20 ร้าน มีชื่อเรียกว่า ‘The Market’ รวมทั้งยังมีร้านอาหาร Roast และร้านกาแฟ Roots
ส่วนพื้นที่ชั้น 3 ทางโครงการตั้งชื่อว่า ‘The Platform’ เป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ (Multi-purpose Activity) เนื่องจากเงื่อนไขเเละข้อจำกัดของพื้นที่ ทำให้ต้องออกแบบเป็นห้องอเนกประสงค์ 3 ส่วน สามารถผลัดเปลี่ยนกิจกรรมไปตามช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับผู้ที่มาเช่าใช้พื้นที่ทำกิจกรรม เช่น ตอนเช้าใช้สำหรับคลาสออกกำลังกาย เที่ยงเปลี่ยนเป็นกิจกรรม Chef Table ตอนบ่ายเป็นพื้นที่จัดเวิร์กช้อป ตอนกลางคืนเป็น แจ๊สบาร์ ตามแนวคิด Co-Sharing Space
โดยในส่วนการตกแต่งภายในทั้งหมดจะมีการเปลี่ยนจากสีแดงกลายเป็นสีครีม เพื่อให้ไม่ข่มภาพลักษณ์ของร้านค้า หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่มาเช่า รวมทั้งโซน The Market ยังมีการใช้ศิลปะจัดวาง ลักษณะเป็นแนวตารางแขวนจากบนฝ้าเพดาน เพื่อปกปิดงานระบบและโครงสร้างไม่ให้โดดเด่นเกินไป
ไฮไลต์ที่สุดของการออกแบบ The Commons Saladaeng ก็คือพื้นที่ภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นขั้นบันไดขนาดใหญ่แทรกอยู่กลางสถาปัตยกรรม สามารถเดินขึ้น-ลง และแวะนั่งพักตามมุม หรือขอบบันไดได้คล้ายอัฒจันทร์ เริ่มตั้งแต่จากทางเข้าหน้าโครงการ เดินขึ้นไปยังพื้นที่แต่ละชั้นจนถึงบนสุด พื้นที่นี้เป็นเหมือนสอดผสานโปรแกรมของอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผ่านช่องทางเข้าที่กรุด้วยวัสดุโปร่งใสสลับกับกระเบื้องเป็นจังหวะลูกเล่น และมีชื่อรวมทั้งหมดเรียกว่า ‘Common Ground’ ที่พิสูจน์มาแล้วว่าใช้งานได้ลงตัวจากโครงการ The Commons ที่ทองหล่อ
“ที่สำคัญคือพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ตรงนี้สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่กิจกรรมและอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ทีม The Commons จัดขึ้นได้อย่างอัศจรรย์ ซึ่งตอนออกแบบที่ทองหล่อเราไม่รู้ว่าจะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว ทำให้เรามีความตั้งใจออกแบบสถาปัตยกรรมให้ปรับเข้าหากิจกรรมแทน สิ่งที่เราทำก็คือออกแบบฐานบันไดพื้นปูน มีชิ้นส่วนของแท่นไม้พาเลต สามารถยกวางเพื่อเปลี่ยนระดับให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้”
“ตอนออกแบบเรามีความตั้งใจมาก ๆ ว่าพาเลตทุกชิ้นต้องเป๊ะ พื้นอาคารทุกอย่างต้องถูกคิดมาด้วยกัน ทั้งรูปตัดและผังอาคารให้กับทั้ง 4 สถานการณ์ แต่ใครจะรู้ว่าคนเขาจะจัดพื้นที่เป็นอะไรได้อีกมากมาย ที่สุดของการออกแบบทั้งหมดนี้ ก็เพื่อที่เราจะได้งานสถาปัตยกรรมที่ยืดหยุ่นและถ่อมตัวเข้าหากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นจากผู้คนได้ สอดคล้องกับคำว่า Space for Community อย่างแท้จริง”
ออกแบบ: Department of Architecture Co., Ltd.
เรื่อง : ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
ภาพ: ศุภกร