ผลงานศิลปะ DRAGONERPANZER
โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
จัดแสดงในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ณ BACC
ข้อมูลเพิ่มเติม : bkkartbiennale.com
หากจะมองหาผลงานศิลปะที่น่าสนใจในงาน BAB 2020 หรือ Bangkok Art Biennale 2020 ก็คงจะต้องบอกว่ามีมากมายดารดาษ แต่ถ้าจะมองหาผลงานศิลปะที่น่าจะเปรียบเปรยและเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้ของไทยได้อย่างดี (แบบที่ไม่ได้ตั้งใจให้จังหวะการแสดงงานมาประจวบเหมาะกันเช่นนี้) ก็คงต้องยกให้ผลงานที่มีชื่อเรียกว่า DRAGONERPANZER โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ กับ รถถังเซรามิกที่กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ศิลปะเคยมีค่ามากกว่ากองทหารม้ากว่า 600 นาย!
ผลงานประติมากรรมเซรามิก DRAGONERPANZER (โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์) ชุดนี้ เกิดจากความรู้สึกประทับใจการใช้เครื่องลายครามของจีนจากราชวงศ์หมิงและชิงแลกกองทหารม้า วศินบุรีจึงสร้างรถถังจากเซรามิกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยนมูลค่าและเงินตรา ในขณะที่แจกันมังกรสีน้ำเงินขาวถูกเรียกว่ามูลค่าทางการเงิน รถถังเซรามิกจะเป็นของสะสมล้ำค่า ในขณะที่รถถังทหารจะกลายเป็นขยะโลหะที่จะถูกขายเป็นเศษเหล็ก
“ครั้งแรกที่ได้อ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากหนังสือ กระเบื้องถ้วย กะลาแตก ของคุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ที่กล่าวถึงกษัตริย์ Friedrich August Iเจ้าผู้ครองแคว้นแซกโซนี ( Elector of Saxony ) นำกองทหารม้าที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ จำนวนถึง 600 นาย ไปแลกกับแจกันพอร์ซเลนจำนวนเพียงแค่ 151 ใบ ทำให้เกิดความรู้สึกประหลาดใจที่ศิลปะมีคุณค่า มีความหมาย และมีความสำคัญมาก ถึงขนาดที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ดูไม่สมเหตุผลนี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าเทียบกันสัดส่วนกันแล้ว หมายถึงทหารม้าถึง 4 นาย แลกกับแจกัน แค่ 1 ใบ !!
“มันน่าตื่นเต้น และ ดีใจ ที่เคยมีช่วงเวลาที่ศิลปะมีความหมายจริง ๆ ไม่ใช่แบบที่พวกเราศิลปินมองและประกาศกันเองเสมอว่า มันคือสิ่งจำเป็นที่สุดของมนุษย์ มีคุณค่าหรืออะไร ผมชื่นชม Friedrich August I ในฐานะผู้ที่สนับสนุนและเห็นคุณค่าของงานศิลปะ แม้มีหลายคนมองว่านั่นคือความบ้าที่เกินพอดี
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ลึก ๆ ทำให้ผมแอบภูมิใจว่า งานดินเผา วัสดุที่เราทำ เคยทรงอิทธิพลและมีความสำคัญกว่าอำนาจ อย่างน้อยครั้งหนึ่งงานดินเผาก็เคยมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ แม้ตอนนี้เหลือเป็นแค่อดีตก็ตาม”
“ระหว่างที่เริ่มทำงานชุดนี้ มายาคติที่บังตาคงเริ่มจางลง ในตอนนั้นเราคงมองเข้าข้างตัวเองมากไป เลยเลือกที่จะเห็นแค่ฝั่งเดียว เพราะที่จริงแล้วในครั้งนั้นเรามีทั้งคนที่คลั่งไคล้และเหมือนมีความต้องการงานศิลปะ แต่อีกฝ่ายการที่เขาเลือกจะเอากองทหารก็คงแสดงว่า ศิลปะไม่ได้มีคุณค่าสำหรับเขาเลย?
ดังนั้นที่จริงแล้วการกระทำของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้มาจากความไร้เหตุผล และไม่มีใครบ้า หรือโง่กว่าใคร สุดท้ายก็ไม่น่าจะมีใครได้เปรียบ หรือเสียเปรียบใคร เพราะทั้ง 2 ฝ่ายได้พยายามหาทางออกของตนเองในวิธีที่แตกต่างกัน แต่ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ดีที่สุด สำหรับจุดประสงค์ที่ตนเองต้องการ เท่านั้นเอง”
“จากเหตุและผลเหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่าสุดท้าย ศิลปะ ไม่ได้มีพลังมากและสำคัญกว่ากองกำลังทหารแต่อย่างใด แต่ศิลปะคือสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เหมือนกับอีกหลาย ๆ สิ่ง เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าที่ปรารถนาและไม่ได้ต่างกันของทั้งคู่ ซึ่งก็คือ เกียรติยศ และ อำนาจ นั่นเอง”
“เป็นเรื่องที่แปลกแต่ยังคงจริงเสมอที่แนวคิด ความเชื่อ และความปรารถนาเหล่านี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากเดิม ผมจึงใช้พอร์ซเลนที่เคยเป็นตัวแทนของสิ่งที่ล้ำค่าในอดีต มาทำเป็นรูปทรงของ รถถังแทนกองทหารม้าในอดีต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของปัจจุบัน และนำลวดลายที่อยู่บนแจกันชุดนั้น ที่ต่อมาถูกเรียกว่า Dragonervasen ( Dragoon Vases ) มาจัดวางใหม่บนรถถัง รุ่น Leopard II ที่ผลิตขึ้นจากประเทศเยอรมนี
“แม้คุณค่าและมุมมองของวัสดุที่เลือกใช้อย่าง พอร์ซเลน จะเปลี่ยนไป แต่ผมต้องการคงไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางความคิดของสิ่งที่เคยมีมา และไม่เคยจางหายไป ในวันนี้เราอาจมีค่านิยมและวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม มีวัตถุอื่น ๆ มากมายที่ล้ำค่า แต่เราก็ยังคงมีคนที่เหมือนบ้าคลั่งและมีคนที่สร้างภาพ เสมือนว่าเดินตามอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ ทุกฝ่ายมีทั้งคนที่เข้าใจและด่าทอ ซึ่งล้วนคือความจริงที่แตกต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มองและตัดสิน”
“เพราะสุดท้ายสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนจากอดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต คือเป้าที่ทุกฝ่ายต้องการที่เหมือนเดิม นั่นก็คือเกียรติยศและอำนาจของตนเองนั่นเอง ไม่ว่าจะสะสมเกียรติยศเพื่อให้บรรลุอำนาจ หรือสร้างอำนาจ เพื่อให้ได้เกียรติยศตามมา ทุกสิ่งคือวิธีการที่ทุกคนต้องเลือกและเจอทางออกด้วยตัวเอง”
รู้จัก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ คือศิลปินเซรามิกที่มีชื่อเสียงด้านภาพถ่าย ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และศิลปะเพื่อสาธารณชน โดยมีการระบุแหล่งที่มาของสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ อันเป็นขอบเขตระหว่างความเป็นจริงและความเหนือจริง ซึ่งเป็นแก่นหลักของปรัชญาการสร้างสรรค์ศิลปะของเขา วศินบุรีเป็นเจ้าของโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ ในจังหวัดราชบุรี เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการออกแบบเซรามิกที่ Universitaet Gesamthochschule Kassel ประเทศเยอรมนี ผลงานสหสาขาของเขามีรากฐานมาจากความเชื่อในการเข้าถึงและความยั่งยืนของศิลปะ ด้วยความเชื่อนี้เขาจึงก่อตั้งศูนย์ศิลปะดีคุ้น (d’Kunst) และงานศิลปะเพื่อสาธารณะ Art Normal ซึ่งเป็นงานศิลปะเพื่อสาธารณะแห่งแรกของราชบุรี
วศินบุรี เคยจัดแสดงผลงานในแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลกมาแล้วมากมาย อาทิ เยอรมนี เบลเยียม สหราชอาณาจักร อิตาลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ โดยในปี พ.ศ. 2556 เขาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปจัดแสดงผลงานในงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลวัฒนคุณาธรในปี พ.ศ. 2556 และรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบในปี พ.ศ. 2553 จากกระทรวงวัฒนธรรม และรางวัลนักออกแบบดีเด่นแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2550 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
เรื่อง : Wuthikorn Suthiapa
ภาพ : วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์