เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว กับคาเฟ่สาขาใหม่ล่าสุด NANA Coffee Roaster Ari ภายใต้แบรนด์กาแฟคุณภาพ อย่าง NANA Coffee Roaster โดยครั้งนี้ขอมาบุกดินแดนแห่งคาเฟ่อย่างย่านอารีย์ ด้วยคอนเซ็ปต์ที่อยากให้คุณแวะมานั่งชิล ๆ ดื่มด่ำกับกาแฟ ชมสวนสวย ๆ แบบไม่ต้องเร่งรีบ พร้อมมุมถ่ายรูปเพียบ บอกเลยมาครั้งเดียวไม่พอ!
จากความต้องการของคุณฝ้าย – นันท์นภัส มัลลิกะมาลย์ ผู้หลงใหลการดื่มกาแฟ และเป็นแฟนตัวจริงของ NANA Coffee Roaster เมื่อตัดสินใจจะเปิดคาเฟ่กับครอบครัว เธอจึงเลือกแบรนด์ NANA แล้วเปิดสาขาใหม่นี้ขึ้นที่อารีย์ ซอย 4 ซึ่งเป็นสาขาต่อเนื่องมาจาก NANA Hunter Coffee Roasters กับการตกแต่งที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการรีโนเวตบ้านเก่าสไตล์ Mid-Century อายุกว่า 50 ปี ให้กลายเป็นอาคารสไตล์โมเดิร์น ที่แอบซ่อนรายละเอียดงานออกแบบไว้มากมาย พร้อมการตกแต่งให้มีสวนสีเขียวที่ดูเย็นสบายร่มรื่น ให้ลูกค้ามาเยือนที่นี่แล้วรู้สึกผ่อนคลาย ทิ้งความเร่งรีบของชีวิตเมืองหลวงไว้ข้างหลัง
ในด้านงานออกแบบรีโนเวต หลังจากตัดสินใจเช่าพื้นที่บ้านเก่าในซอยอารีย์เพื่อเปิดคาเฟ่ จากนั้นคุณฝ้ายได้ยกหน้าที่ให้กับคุณโตเป็นผู้ดูแล โดยทุกขั้นตอนคุณฝ้ายและทีมสถาปนิกได้ช่วยกันออกความคิดเห็น จนได้พื้นที่ใช้งานที่พร้อมกับการเปิดเป็นคาเฟ่ ที่ยังคงไว้ด้วยกลิ่นอายของความเป็นบ้านยุคเก่า พร้อมรายละเอียดงานออกแบบช่วยสร้างประสบการณ์ที่ต่างไปจากคาเฟ่ที่อื่น ๆ
“อารีย์เป็นแดนปราบเซียน ดินแดนแห่งค่าเฟ่ ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ที่นี่อยู่ได้นาน นั่นจึงกลายเป็นโจทย์ที่ต้องหาข้อดีของบ้านเก่าอายุ 50 ปี ทรง Mid-Century ให้ได้ ว่าจะดีไซน์อะไรเข้าไป วิธีเดียวที่จะเก็บบ้านทรง Mid-Century ได้ ก็คือทำให้ที่นี่ยังคงเหมือนเดิมในแง่โครงสร้าง แต่ต้องทำให้ดูตื่นเต้นไปด้วย เหมือนคนที่เพิ่งมาจาก NANA Hunter ถ้ามาอารีย์ เขาต้องรู้สึก ว้าว ! ได้อยู่ ไม่ใช่ว่าอ้าว ! ที่นี่เป็นบ้านเฉย ๆ หรอ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดตอนคุยกับเจ้าของร้าน” คุณโตเล่า
“ช่วงเริ่มต้นลงมือรีโนเวตบ้านเก่าให้เป็นคาเฟ่สาขาใหม่ พอได้ไปดูบ้านผมก็มีไอเดียเลยว่า อยากให้เป็นบ้านที่เก็บธรรมชาติไว้เยอะที่สุด เราไม่ตัดต้นไม้เลย ปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างเดียว อยากให้มีความเป็นธรรมชาติมาก ๆ แต่สิ่งที่ผมจะนำไปแทรกคือ ผมอยากให้อยู่ใต้คำว่า Super Nature ครับ Super คืออะไรทุกอย่างที่คนชอบในความเป็นแบรนด์ของ NANA เช่น กาแฟดี ความดีงามของบาริสต้า การลงทุนของอุปกรณ์ การลงทุนกับเมล็ดกาแฟ การไป NANA Hunter เหมือนลูกค้าทุกคนโดนกระตุ้นว่าแบบ โห! สิ่งนั้นก็สวย สิ่งนี้ก็สวย ส่วนสาขานี้ผมจะนำความเป็น Super Nature มาใช้ เลยกลายเป็นที่มาของชั้นล่าง เราเก็บของเดิมไว้ทั้งหมดเลย แล้วทุบผนังออกทั้งหมด ทำทุกอย่างให้เป็นหน้าต่างขนาดใหญ่ เพื่อที่จะมองออกไปเห็นสวนสวย ๆ ข้างนอกได้เยอะที่สุดเท่าที่จะเยอะได้ ส่วนชั้นสองเราตั้งใจว่าจะไม่ใช้ม่าน สิ่งที่ซ่อนอยู่ในการทำแบรนด์ NANA คือผมอยากทำให้ทุกคนดื่มด่ำกับแสง”
“เพราะแสงคือกระบวนการหนึ่งของกาแฟ ตั้งแต่การนำเมล็ดกาแฟมาตาก อย่างเช่น ถ้าเราได้เมล็ดมาเราตากเลย มันคือ Dry-process หรือ Natural-process แสงบนดอยมีผลต่อกาแฟสุด ๆ เพราะฉะนั้นแสงจึงมีอิทธิพลต่อกาแฟทุก ๆ แก้ว ผมเลยตั้งใจให้ชั้นสองของทีนี่ไม่มีม่านเลย ทุกคนที่ขึ้นไปด้านบนจะโดนหลอกล่อด้วยฟาซาดที่ห่อหุ้มอาคารไว้ ทุกคนจะรู้สึกว่าแสงที่ส่องเข้ามาเวลาลอดผ่านฟาซาดมันสวย แสงมีความนัว ๆ นี่ โดยที่สามารถนั่งริมหน้าต่างได้โดยไม่ต้องกลัวแสง”
เนื่องจากโครงสร้างของบ้านค่อนข้างมีความสมบูรณ์ ประกอบกับแนวคิดที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้แสงสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มการพักผ่อน คุณโตจึงได้เก็บโครงสร้างเสา คาน บันได และผนังหินไว้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ ขณะเดียวกันก็เลือกทุบผนังรอบ ๆ ออกจนเกือบหมด โดยเฉพาะชั้น 2
“พื้นที่ชั้น 2 เราทำฟินเกาะกับตัวบ้าน ก้อนอิฐกระจายตัวแบบแรนดอมไปรอบ ๆ แล้วเหลือไว้แค่โลโก้คำว่า NANA ลอยอยู่โดยไม่มีเสา ทุกอย่างยึดติดกับตัวบ้าน 50 ปี หลังนี้ และบังหลังคาทั้งหมดเพราะว่าหลังคาเราไม่ได้เปลี่ยนเลย ใช้ของเดิมทั้งหมด เสร็จแล้วสทำระบบระบายน้ำใหม่ ฟาซาดที่ครอบบ้านไว้นี้จึงดูเหมือนเป็นกล่องไม้ครอบทรงบ้านเอาไว้ จึงดูเหมือนบ้านที่เหมือนโดนบังหลังคา เกิดเป็นบ้านทรงโมเดิร์นขึ้นมาแทน”
วัสดุเด่น ๆ ที่พบเห็นได้ชัดเจนอีกอย่าง นั่นก็คือการเลือกใช้อิฐเข้ามาช่วยสร้างมู้ทแอนด์โทนให้กับงานออกแบบ คุณโตจึงเล่าให้ฟังว่า “เราใช้อิฐทั้งหมด 5 แบบ จริง ๆ อิฐก้อนแรกที่จะวางเป็นอิฐที่ได้มาจากตัวบ้าน คือผนังชั้นสอง พอกะเทาะปูนสีออก (เพราะมันต้องรีโนเวตผนังอยู่แล้ว ผนังมันค่อนข้างเก่า) พอเรารื้อชั้น 2 เราเห็นก้อนอิฐที่เรียงไว้ก็ชอบ เลยจะเก็บไว้โดยไม่ทาสีกลบ เพราะฉะนั้นถ้าใครที่มาอยู่ชั้น 1 แล้วมองขึ้นไปชั้น 2 จะเห็นผนังเรียงอิฐแล้วเหมือนตั้งใจทำให้มันกลับ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ สิ่งนี้คือโครงสร้างเดิมเมื่อ 50 ปี ก็เลยเปลือยเลย แล้วนำก้อนอิฐหนึ่งอันนั้นมาเป็นตัวอย่างในการสร้างอิฐขึ้นมาใหม่ทั้งหลัง อิฐที่เห็นทั้งหมดคือปั้นขึ้นมาใหม่ โดย respect ความเป็นก้อนอิฐเก่าเมื่อ 50 ปี ที่แล้ว มีทั้งอิฐธรรมดา และอิฐคริสตัลที่สั่งทำมาจากจีนเป็นก้อนใส ๆ”
นอกจากไอเดียการใช้อิฐแล้ว สิ่งที่เซอร์ไพร้ส์ทีมออกแบบอย่างมากก็คือ โครงฝ้าที่ยังคงสภาพแข็งแรง ซึ่งได้กลายเป็นรายละเอียดที่สำคัญของการออกแบบคาเฟ่นี้ไปโดยปริยาย
“โครงสร้างของบ้านหลังนี้มีความแข็งแรงมาก สิ่งหนึ่งที่เซอร์ไพร้ส์เราคือ ตอนที่เราเปิดฝ้า ทุกคนเห็นว่าโครงฝ้าไม้ยังคงความแข็งแรง เขาวางเป็นกริดไว้สวยมาก ๆ โครงไม้มีอายุ 50 ปี เป็นของเดิมที่เราไม่ได้ยุ่งอะไรของเขาเลย เหมือนเรารู้สึกเหมือนได้พรจากฟ้าที่อยู่ดี ๆ เปิดฝ้ามาแล้วแบบตะลึง ผมรีบหยุดงานผู้รับเหมาแล้วเรียกเจ้าของมาดู นี่แหละสิ่งดี ๆ ของบ้าน Mid-Century การทำบ้านสมัยก่อนเขาตั้งใจทำมาก แล้วพอเราเจอสิ่งเหล่านี้ คือผมไม่กลัวอะไรอีกเลยกับบ้านหลังนี้ ผมบอกว่า ผมจะดรอปเก้าอี้ให้เตี้ยที่สุดเพื่อให้ทุกคนนั่งมองฝ้า”
“ถ้าถ่ายรูปออกมา หรือกล้องมุมตั้งจะติดฝ้า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกอย่างมันจะวิ่งเข้ากริดสุด ๆ เป็นที่มาของไฟด้านบนว่าทำไมมันต้องเป็นเส้นสเปกตรัมอย่างนั้น ผมต้องการให้ชั้นล่างมองเห็นฝ้าชั้น 2 ได้ ตามเส้นไฟ LED ที่เหมือนเป็นเส้นนำสายตาขึ้นไปสู่ด้านบน นี่คือทริคที่เราซ่อนอยู่ แต่ค่อนข้างละเมียดนิดหนึ่ง คือไม่อยากตะโกนอะไรอีกแล้ว อยากให้คนมาแล้วเห็นสิ่งนั้นด้วยตัวเอง”
การออกแบบที่นี่เป็นเหมือนการเก็บกลิ่นอายเมื่อ 50 ปีก่อน ให้ก้าวมาสู่ปี 2020 มีความน่าสนใจตรงที่งานดีไซน์ยุคเก่ากับใหม่อยู่ด้วยกันได้ นอกจากนั้นที่นี่ยังมีไอเดียย่อย ๆ ที่ซ่อนอยู่มากมาย เช่น การนำทรายล้างมาใช้ทำพื้น ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากสวนเซน เป็นเสมือนไกด์ไลน์ให้ลูกค้าเดินเข้ามาจะเจอสวนเซนวิ่งนำสายตาไปที่สวน ส่วนตรงพื้นที่เคาน์เตอร์บาร์ป้ายบอกเมนู มีแรงบันดาลใจมาจากบานเกล็ด
“ผมอยากให้คนมาซ้ำจริง ๆ เพราะผมว่ามันหมดยุคคาเฟ่ถ่ายวันเดียวครบแล้วไม่มาแล้ว มันเป็นอย่างนี้บ่อยมากเลย แล้วมันเป็นบ้านไม่กี่หลังในอารีย์ที่มีสเปซ เราเลยรู้สึกว่าเราชิพโฟกัสดีกว่า เราไม่เอาสเปซที่เป็นแบบโฟโต้เจนนิคขนาดนั้นดีกว่า เราแอบซ่อนดีเทล แล้วเราไม่บอกใครไหม เอาแบบนี้แหละ ซ่อน ๆ ไป ให้เขาค้นหาเอง”
ดีเทลที่ซ่อนอยู่ที่ว่านั้นคืออะไร คงต้องลองไปค้นหาด้วยตัวเอง โดยระหว่างจิบกาแฟเราอยากให้คุณค่อย ๆ ละเลียดสัมผัสกับกลิ่นหอมและรสชาติ ไปพร้อม ๆ ชมบรรยากาศที่อยู่รายล้อม ไม่แน่ว่าขณะมีลมพัดเพียงแผ่วเบา คุณอาจเห็นดีเทลที่ซ่อนอยู่นั้นก็ได้…
ที่ตั้ง
24/2 ซอยอารีย์ 4 (ฝั่งใต้) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ 7.00 น. – 18.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ 8.00 น. -18.00 น.
www.facebook.com/nanacoffeeroastersari
เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : นันทิยา
ผู้ช่วยช่างภาพ : ภรภัทร เสนาขันธ์