พาส่องงานออกแบบพื้นที่ภายใน “ศูนย์ฯสิริกิติ์” ใหม่ - room

พาส่องงานออกแบบพื้นที่ภายใน “ศูนย์ฯสิริกิติ์” ใหม่ “จากผ้าไทย สู่ดีไซน์ร่วมสมัยที่แตกต่าง”

“ศูนย์ฯสิริกิติ์” หรือในชื่อเต็ม ๆ ว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center – QSNCC) เป็นศูนย์การประชุมตั้งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ติดกับสวนเบญจกิติ และโรงงานยาสูบเดิม “ศูนย์ฯสิริกิติ์” นับได้ว่าเป็นศูนย์การประชุมระดับนานาชาติตามมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อรองรับการจัดประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 ณ กรุงเทพมหานคร และมีการใช้งานอย่างเนืองแน่นตลอดมากว่า 30 ปี จนกระทั่งได้ปิดปรับปรุงไปในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับงานออกแบบศูนย์ฯสิริกิติ์ใหม่ทั้งหมด ให้รองรับกับความต้องการการใช้งานที่เปลี่ยนไป รวมทั้งขยายพื้นที่เพื่อรองรับและเชื่อมโยงกับการใช้งานที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากบริบทเมืองที่เปลี่ยนไป โดยมีพระราชดำรัส “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ “ศูนย์ฯสิริกิติ์” ในครั้งนี้นั่นเอง

วันนี้เราได้รับโอกาสจาก คุณออ-อริศรา จักรธรานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ONION สำนักงานสถาปนิกที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในด้านการออกแบบ “ความเป็นไทย” ให้ “ร่วมสมัย” ดังเช่นผลงานที่ผ่านมาอย่าง SALA Ayutthaya หรือร้านอาหารบ้านป้อมเพชร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงผลงานล่าสุด กับการได้รับหน้าที่ออกแบบพื้นที่ภายในของ “ศูนย์ฯสิริกิติ์” โฉมใหม่ครั้งนี้ทั้งหมดด้วย

จาก “ผ้าไทย” สู่ “เอกลักษณ์ร่วมสมัยที่แตกต่าง”

ชื่อ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั้นทำให้จุดเริ่มต้นของงานออกแบบของคุณออ คือการกลับไปสืบค้นและหาแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์และภาพจำของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งก็คือ “ภาพของพระองค์ท่านที่ทรงเป็นพระราชินีที่สวยที่สุดในชุดผ้าไทย”

“เราเริ่มต้นจากกลับไปค้นคว้าพระบรมฉายาลักษณ์ต่าง ๆ ของพระองค์ท่าน และภาพของพระองค์ท่านที่ทรงชุดผ้าไทยในโอกาสต่าง ๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ อย่างผ้าไทยที่ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูและเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ของคนทั่วโลกที่ทรงคุณค่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเกิดความประทับใจและเมื่อสถานที่แห่งนี้คือ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” เราจึงเลือกที่จะนำผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ กัน มาปรับใช้ในการออกแบบ ตามความเหมาะสมในแต่ละส่วนของศูนย์ประชุม

“ไม่ว่าจะเป็นลายภาพ หรือลายดอกที่มีอยู่ในภาพไทย สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้โดยตรงแต่เป็นการตีความเชิงสัญญะ และอัตลักษณ์ เช่นการนำลายดอกไทยมาคลี่คลายและปรับใช้กับหลายส่วน เช่น ลายพรม หรือนำไปใช้กับลูกกรงทองในส่วนโถงบันไดเลื่อนฝั่งติดกับสวนเบญจกิตติ ซึ่งภายในศูนย์ประชุมที่ปรับโฉมใหม่นี้ เราจะพบกับรูปแบบการใช้ลวดลายและลักษณะของผ้าในรูปแบบต่าง ๆ กันอย่างน่าสนใจแน่นอน”

ออกแบบพื้นที่สำหรับนิทรรศการขนาดใหญ่ในบริบทเมืองอย่างไรให้ลงตัว

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯสิริกิติ์เป็นสถานที่ที่บันทึกเรื่องราวความทรงจำของงานประชุมและอีเวนต์สำคัญ ๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน และสำหรับโฉมใหม่ที่ขยายพื้นที่ขึ้นถึง 5 เท่า พร้อมรับผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100,000 คนต่อวัน การออกแบบพื้นที่ภายในนอกจากความสวยงามแล้ว การใช้งานที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก เราได้ถามคุณออถึงสิ่งสำคัญของการออกแบบพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการขนาดใหญ่เช่นนี้ ควรใส่ใจสิ่งใดเป็นพิเศษบ้าง? สิ่งที่คุณออบอกกับเราก็คือ”การจัดการพื้นที่”

“ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องรูปแบบในด้านความงามเรามาพูดถึงการใช้งานกันก่อน ศูนย์ประชุมแห่งชาติเช่นนี้เป็นพื้นที่ซึ่งจะต้องรองรับผู้คนจำนวนมหาศาลในทุกวัน ยิ่งวันที่มีการจัดงาน ผู้คนที่เข้าและออกจากศูนย์ รวมถึงการใช้งานที่ทับซ้อนกันอยู่ภายใน ทั้งการจัดงาน ตลาดต่าง ๆ นิทรรศการ การประชุม งานแต่ง หรือแม้แต่คนที่เดินทางมาเพื่อจะไปยังสวนต่อไป “Circulation” หรือการสัญจรภายในอาคารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะทำให้คนปริมาณมากขนาดนี้ใช้งานศูนย์ประชุมฯได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยอีกด้วย

“จะเห็นได้ว่าในส่วนต่าง ๆ ของศูนย์ฯ นั้นจะมีจุดสังเกตอยู่ตลอด รวมทั้งในแต่ละชั้นก็มีลักษณะและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือชุดบันไดเงิน และบันไดทองที่จะทำให้คนที่เดินอยู่ในศูนย์ฯนั้น สามารถรู้ได้ทันทีว่า ตอนนี้ตัวเองอยู่ตรงจุดไหนของศูนย์ประชุมฯแห่งนี้

“เพราะฉะนั้นการออกแบบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในวาระยกเครื่องใหม่นี้ จึงต้องคำนึงถึงการสอดประสานศูนย์ประชุมแห่งนี้ไปกับบริบทเมืองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่กึ่งสาธารณะโดยรอบ ระบบขนส่งสาธารณะอย่าง MRT รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เช่น ฟู้ดคอร์ต และพื้นที่รีเทลช็อปต่าง ๆ ที่จะทำให้คนสามารถแวะมาที่ศูนย์ฯแห่งนี้ได้บ่อย ๆ ทั้งรูปแบบของฮอลล์ก็ต้องปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีและความต้องการใหม่ ๆ เช่นเดียวกัน

ผืนผ้าที่แตกต่างตามวาระและหน้าที่

ในแต่ละชั้นนั้นมีเอกลักษณ์และแรงบันดาลใจมาจากผ้าไทยในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูและเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง โดยในที่นี้ได้เลือกรูปแบบของผ้าไทยที่ทรงอนุรักษ์มาใช้ 4 รูปแบบ ตามความเหมาะสมของพื้นที่และลักษณะประโยชน์ใช้สอยของอาคาร ซึ่งประกอบด้วย

ชั้น LG – แรงบันดาลใจจากผ้าไทยพื้นถิ่น-ผ้าขาวม้า (Casual Thai)

ประกอบด้วย : ส่วนเชื่อมต่อ MRT, Exhibition Hall, Food และ Retail Market, Feature Stair เชื่อมต่อกับพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ และสวนเบญจกิติ

“สำหรับพื้นที่ชั้น LG จะเป็นพื้นที่ชั้นใต้ดินที่เชื่อมต่อกับ MRT และนำไปสู่พื้นที่เอ๊าต์ดอร์ของศูนย์ฯ เช่นเดียวกัน จึงมีพื้นที่รองรับผู้ใช้บริการที่หนาแน่นกว่าชั้นอื่น ๆ มีส่วนรีเทลช็อปอย่าง ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับการออกกำลัง ฯลฯ ชั้นนี้จะมีฟังก์ชันหลัก ๆ สำหรับรองรับมวลชน การจัดงานแบบตลาดขายของ หรือออกร้านต่าง ๆ จึงเลือกใช้ผ้าที่ดูเข้าใจง่ายและเป็นผ้าพื้นถิ่นที่สามารถพบเจอได้ง่ายอย่าง ผ้าขาวม้า มาเป็นคอนเซ็ปต์หลัก เสริมบรรยากาศสบาย ๆ ด้วยการใช้ไม้เป็ฯส่วนตกแต่งหลักด้วยเช่นกัน”

ชั้น G – แรงบันดาลใจจากชุดไทยประยุกต์โจงกระเบน (Formal Thai)

ประกอบด้วย : Main Entrance, VIP Drop Off, Main Exhibition Hall และ Convention Hall

“ชั้นนี้จะมีความเป็นทางการมากขึ้น เพราะเป็นชั้นหลักของฟังก์ชั่น “ศูนย์ฯประชุม” จึงเลือกใช้การตกแต่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดไทยประยุกต์แบบในสมัยรัชกาลที่ 5 คือมีทั้งความเป็นทางการ และหรูหราแต่เนี้ยบทะมัดทะแมง การตกแต่งพื้นที่จะมีการใช้ผนังหินที่นำลายบัวปั้นมาขยายใหญ่ขึ้น เป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้ร่วมสมัยและเข้าใจได้ง่ายขึ้น มีการใส่รายละเอียดให้กับองค์ประกอบอาคารอย่าง เสา ที่ปรับเป็นเสาเหลี่ยม รวมถึงเพดานที่สร้างจังหวะแสงเงาให้เหมือนการพับผ้า

“ความบรรจงปราณีตอย่างไทยนั้นมักมาจากการ “จีบ” ให้เกิดเป็นมุมแหลม เป็นการพับเพื่อสร้างมิติให้สิ่งธรรมดาดูพิเศษ ในชั้นนี้จึงมีการเติมความพิเศษนั้นลงไปในหลากหลายองค์ประกอบ แต่ยังคุมโทนให้เรียบง่ายเพื่อสร้างภาษาที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง “ความเป็นไทย” และ “ความเป็นสากล” ให้ลงตัว”

ชั้น 1 – แรงบันดาลใจจากชุดไทยประยุกต์ผ้าชาวเขา (Exotic Thai)

ประกอบด้วย : Meeting Room, Pre Function และ Lounge, Ball Room, Plenary

“ขึ้นมาที่ชั้น 1 จะกลายเป็นห้องประชุมที่มีบรรยากาศแตกต่างไปจากพื้นที่ของศูนย์ฯอย่างชัดเจน การตีความลวดลายของ “ผ้าชาวเขา” ทำให้พบลักษณะลายที่ดูเป็นระเบียบแต่ยังมีความเป็นธรรมชาติ ลายส่วนใหญ่จะเป็นลายเรขาคณิตที่มาจากธรรมชาติรอบ ๆ ตัว แปลงให้เป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย โดดเด่นด้วยความเป็นธรรมชาติของลายที่เหมือนเขียนด้วยมือ แต่ด้วยการจัดวางจึงทำให้ลงตัวระหว่างความเป็นงานหัตถศิลป์และกราฟิกสมัยใหม่อยู่ในตัวเอง

“อีกองค์ประกอบที่โดดเด่นของ “ชาวเขา” คือ “เครื่องเงิน” พื้นที่ชั้นนี้จึงมีการปรับใช้สีสันที่เป็นสีเงินแบบโลหะเงินเข้ามา ทั้งยังเลือกวัสดุกรุที่สื่อถึงเครื่องเงินชาวเขาอีกด้วย ข้อดีอีกอย่างของลวดลายและสีสันแบบขาวเทาดำ คือทำให้ผู้จัดงานสามารถปรับใช้พื้นที่ได้โดยง่ายเป็นองค์ประกอบที่อาคารจัดแสดงงานจะขาดไปไม่ได้เช่นเดียวกัน”

ชั้น 2 – แรงบันดาลใจจากชุดไทยพระราชนิยม-ชุดไทยจักรี (Majestic Luxury Thai)

ประกอบด้วย :

“และสำหรับชั้น 2 จะเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับงานพิเศษอย่างแท้จริง แรงบันดาลใจของชั้นนี้มาจากชุดไทยพระราชนิยม แบบชุดไทยจักรีที่มีความปราณีต วิจิตร บรรจง การออกแบบองค์ประกอบจึงตีความให้เหมือนกับเราได้เข้าไปอยู่ในลายผ้า สัมผัสได้ถึงความละเอียดในทุกเส้นทอ และดิ้นเงิน ผ่านองค์ประกอบสถาปัตยกรรม และการออกแบบแสงในพื้นที่ห้องจัดงาน

“ชั้นนี้นอกจากจะมีความวิจิตรเป็นพิเศษแล้ว ยังเป็นชั้นที่รับวิวสวนในมุมที่สวยที่สุดอีกด้วย จะเป็นงานประชุม งานราตรี หรืองานแต่งงานบอกเลยว่าต้องชั้นนี้จริง ๆ”

“สืบสาน รักษา ต่อยอด”

นอกจากการนำความโดดเด่นของผ้าไทยที่แตกต่างกันมาใช้ในการออกแบบแล้ว การเก็บรักษางานศิลปะอันทรงคุณค่าของ “ศูนย์ฯสิริกิติ์” แต่เดิม โดยได้ออกแบบให้ผลงานศิลปะเหล่านั้นกลมกลืนเป็นแลนด์มาร์กอันทรงคุณค่าให้กับ “ศูนย์ฯสิริกิติ์” ที่ออกแบบใหม่อย่างลงตัว โดยเราขอนำผลงานที่โดดเด่นบางส่วนมาแนะนำให้ฟังดังนี้

ผลงาน ประตูกัลปพฤกษ์ 

ศิลปิน: ไพเวช วังบอน

เป็นการจำลองบานประตูลายรดน้ำมาจากพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ในพระบวรราชวังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งรูปต้นกัลปพฤกษ์นั้นคือต้นไม้สารพัดนึกในสวรรค์เปรียบเหมือนการเปิดประตูเข้าสู่การประชุม หรืองานแสดงที่นำพาให้ชาติพัฒนาไปนั่นเอง

ผลงาน โลกุตระ

ศิลปิน: ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ

แรงบันดาลมาจากเปลวรัศมีของพระพุทธรูปยุคสุโขทัย สื่อถึงพระปัญญาที่พ้นจากโลกียะสู่โลกุตระ การติดตั้งไว้หน้าศูนย์นั้นเปรียบเหมือนเราได้มองจากที่ต่ำสู่เบื้องสูงเป็นความเจริญไปข้างหน้า อีกส่วนหนึ่งคือมีลักษณะคล้ายบัวที่พ้นน้ำแล้วก็ว่าได้เช่นกัน

ผลงาน เสาช้าง-ลูกโลก

ศิลปิน: ธานี กลิ่นขจร

เป็นประติมากรรมที่กล่าวถึงความเป็นไทยนั่นคือช้างในสากลคือลูกโลก ประติมากรรมนี้หันหน้าไปทุกทิศสื่อถึงความเป็นสากลที่ครบถ้วนรอบด้าน

ผลงาน ประติมากรรมนูนต่ำ พระราชพิธีอินทราภิเษก

ศิลปิน: จรูญ มาถนอม

ประกอบจากไม้ประดูจำนวน 56 แผ่น มีขนาดใหญ่ถึง 22.80 เมตร สูง 6.35 เมตร โดยในแบบใหม่นั้นจะนำไปติดตั้งไว้ยังทางเข้าจากรถไฟใต้ดิน MRT เพื่อเป็นเหมือนประตูเข้าสู่ศูนย์ฯประชุมเช่นที่เคยเป็นมา

ประติมากรรมนี้กล่าวถึงโบราณราชพิธีอินทราภิเษกที่พระอินทร์ได้นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้ามมาถวายแด่พระมหากษัตริย์ในการสถาปนานั่นเอง

และนี่ก็คือความคืบหน้าของงานออกแบบในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center – QSNCC) ที่เรานำมาฝากกัน ซึ่งศูนย์ฯประชุมนั้นมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ.2565 โดยถ้าหากว่ามีอัพเดตงานออกแบบที่น่าสนใจเพิ่มเติม รับรองได้เลยว่า เราจะไม่พลาดนำมาฝากผู้อ่านในโอกาสต่อไปอย่างแน่นอน


ภาพ : ONION, NCC, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภาพบุคคล : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
เรื่อง : Wuthikorn Sut