A&P ออฟฟิศม่านไม้เลื้อยเพื่อสร้างความสุขในการทำงาน - room

ออฟฟิศ ม่านไม้เลื้อยเพื่อสร้างความสุขในการทำงาน A&P OFFICE BUILDING

หากใครมีโอกาสผ่านเข้าไปในซอยประชาชื่น 31 จะพบอาคารคอนกรีตสูง 5 ชั้นที่ตั้งใจเลือกใช้ฟาซาดจากธรรมชาติ เป็นม่านไม้เลื้อย ซึ่งอาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท เอ แอนด์ พี เมนทิแนนซ์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ในแวดวงธุรกิจจะรู้จักกันดีในชื่อ A&P ซึ่งเป็นบริษัทรับคลีนนิ่งระดับประเทศ ที่รับทำความสะอาดทั้งอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ศูนย์การค้า สนามบิน ตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ โดยอาคารสำนักงานดังกล่าวเป็นการออกแบบและสร้างใหม่บนที่ดินขนาด 1.5 ไร่ ออกแบบโดยคุณศรีศักดิ์ พัฒนวศิน ภายใต้แนวความคิดการหลอมรวมธรรมชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เพื่อสร้างความสุขให้กับพนักงานขององค์กรอย่างยั่งยืน

มุมมองจากด้านหน้าอาคารจะเห็นเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ฟาซาดด้านซ้ายปลูกเป็นต้นลีกวนยูเอาไว้ ส่วนด้านขวาเป็นระแนงแนวตั้งที่ทำหน้าพรางสายจากภายนอกและกรองแสงแดด

อาคารสำนักงานแห่งนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้ออกแบบไม่น้อย เนื่องจากต้องทำการออกแบบและก่อสร้างภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ทั้งในเรื่องของระยะเวลาและการออกแบบเพื่อให้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด ในการออกแบบเบื้องต้น ผู้ออกแบบจึงกำหนดให้ตัวอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 2,000 ตร.ม. วางไว้ด้านในของที่ดิน เนื่องจากทางเจ้าของโครงการมีแผนจะสร้างอาคารเพิ่มเติมยังบริเวณด้านหน้าที่ดินในอนาคต อีกทั้งด้วยตำแหน่งของที่ตั้งทำให้จำเป็นต้องหันด้านหน้าอาคารไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นด้านที่จะได้รับความร้อนตลอดทั้งวัน ผู้ออกแบบจึงกำหนดให้มีชุดผนังกระจกบานเลื่อนซ้อนในทุกๆ ฟังก์ชันเผื่อในกรณีที่ต้องการเปิดรับลมได้มากสุด ก็จะทำให้อากาศนั้นหมุนเวียนไปได้ทั่วอาคาร เสริมกับการเลือกใช้ต้นลีกวนยูมาเป็นฟาซาดด้านหน้าอาคารก็เพื่อช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ ทำหน้าที่เสมือนเป็นอุปกรณ์บังแดดทางธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมให้กับอาคารอีกชั้นหนึ่งด้วย

ทุกพื้นที่ของอาคารถูกออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานจากระบบปรับอากาศ ไปสู่การพึ่งพาลมธรรมชาติ ซึ่งประจวบเหมาะกับสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบัน
บริเวณชั้น 1 กำหนดให้เป็นโถงโล่งที่เชื่อมต่อกับลานอัฒจันทร์ขั้นบันไดใจกลางอาคาร (Event Staircase) ที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นจุดรวมพลพนักงาน หรือพื้นที่ประชุมแบบไม่เป็นทางการได้

ทั้งนี้ตัวอาคารยังออกแบบพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าด้วยการกำหนดผนังทั้ง 2 ด้านของอาคารนั้นเป็นผนังทึบ ทำให้ระยะร่นระหว่างจากอาคารถึงแนวเขตกำแพงนั้นมีน้อยลงตามที่ข้อกฎหมายได้กำหนด ส่งผลให้อาคารมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นเพื่อช่วยกันความร้อนและเพื่อย่นระยะเวลาในการก่อสร้าง ผู้ออกแบบยังวางตำแหน่งห้องน้ำ บันไดหลักของอาคาร บันไดหนีไฟและลิฟต์ไว้ตำแหน่งตรงกันทุกชั้น เพื่อช่วยให้การติดตั้งงานระบบสุขาภิบาลและไฟฟ้าทำได้ง่ายและรวดเร็ว

conceptual drawing แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้คน ต้นไม้ และ ลมธรรมชาติ ภายใน office space แห่งนี้

ด้วยแนวความคิดในการออกแบบหลักที่ตั้งใจให้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร นอกจากบริเวณฟาซาดสีเขียวแล้ว ยังมีบริเวณส่วนของคอร์ทขนาดใหญ่กลางอาคารที่ได้ปลูกต้นสาละ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่ยังถือว่าเป็นไม้มงคลเอาไว้กลางคอร์ท โดยคอร์ทดังกล่าวจะเปิดโล่งตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงชั้น 5 ทำให้ทุกชั้นสามารถมองเห็นต้นสาละได้ นอกจากนั้นประโยชน์ของการเจาะคอร์ทกลางอาคารยังช่วยเพิ่มพื้นที่ผนัง ทำให้อาคารสามารถมีช่องเปิดได้มากขึ้น ส่งผลดีทำให้เกิดการหมุนเวียนอากาศ

นอกจากต้นสาละกลางคอร์ทแล้วยังปลูกเฟิร์นสไบนางแล้วแขวนลงมาจากเพดานจากด้านบนของคอร์ท ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่สีเขียวถูกส่งต่อและสามารถพบเห็นได้จากทุกมุมมองของอาคาร
กระจกบานเลื่อนในแต่ละชั้นนั้นนอกจากจะทำหน้าที่กั้นพื้นที่ที่ใช้เครื่องปรับอากาศแล้ว ยังช่วยสะท้อนแสงธรรมชาติจากทางสกายไลท์และสีเขียวของต้นไม้ให้ทั่วถึงไปทั้งอาคาร ช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มความสดชื่นขณะทำงาน

ทั้งจากด้านหน้าไปด้านหลังอาคารและจากด้านล่างขึ้นชั้นบน โดยความร้อนจากทุกชั้นจะลอยขึ้นที่สูง และถูกส่งออกผ่านทางช่องระบายอากาศใต้หลังคาสกายไลท์ทำให้ทั้งอาคารนั้นเย็นสบายตลอดทั้งวัน

มุมมองจากชั้น 2 ลงไปยังชั้น 1 ผ่านอัฒจันทร์ขั้นบันได (Event Staircase) และยังสามารถมองผ่านคอร์ทขึ้นไปยังชั้นอื่นๆ ของอาคารได้

สำหรับการจัดวางฟังก์ชันของออฟฟิศนั้นออกแบบตามลักษณะงานของพนักงานเป็นหลัก เนื่องจากเป็นบริษัทรับทำความสะอาด พนักงานจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่ พนักงานประจำออฟฟิศและพนักงานทำความสะอาดที่ต้องออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ พื้นที่ใช้สอยในแต่ละชั้นนั้นตรงไปตรงมา บริเวณชั้น 1 และ ชั้น 2 เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ ด้วยลานอัฒจันทร์ขั้นบันไดที่อยู่ใจกลางอาคาร เพื่อรองรับการรวมพล และสานความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานทั้ง 2 กลุ่ม ในขณะที่ส่วนบริเวณชั้น 3 ถึงชั้น 5 จะเป็นพื้นที่ของพนักงานโดยบริเวณพื้นที่กึ่งสาธารณะของอาคารจะเป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่งไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งนอกจากจะช่วยแบ่งลักษณะการใช้งานตามธรรมชาติแล้ว ยังช่วยเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว


เรื่อง ektida n.
ภาพ Soopakorn Srisakul

ติดตามงานออกแบบดีๆได้ทาง https://www.facebook.com/roomfan

บ้านชั้นเดียวที่ออกแบบมาเพื่อตอบรับสภาพอากาศที่รุนแรง