บ้านหลังนี้เกิดจากความต้องการในการสร้างพื้นที่ที่ครอบครัวของพ่อแม่ และลูกๆทั้ง 3 คน จะได้อยู่รวมกันในพื้นที่ที่เรียกว่า บ้าน ได้อย่างลงตัว
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PHTAA Living Design
แต่ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่กลางเมืองในย่านพระราม 3 ทำให้การออกแบบ บ้านตึก หลังนี้ ต้องมีการคำนึงถึงข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อนบ้าน สภาพแวดล้อม ไปจนถึงการตอบสนองต่อบรรยากาศแห่งสุนทรียภาพที่บ้านหลังหนึ่งพึงจะมีให้กับผู้อยู่อาศัยได้
เฟอร์นิเจอร์เก่าในบ้านใหม่
โจทย์ข้อหนึ่งที่เป็นเหมือนคีย์สำคัญของการออกแบบบ้านหลังนี้เลยก็คือ การที่เจ้าของบ้านมีความตั้งใจที่จะนำเอาเฟอร์นิเจอร์จากบ้านเดิมที่สะสมเอาไว้ตั้งแต่รุ่นตายายมาใช้ต่อในบ้านหลังนี้ บรรยากาศร่วมสมัยของเฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้ม จึงทำให้การจัดวาง และเลือกใช้วัสดุภายในบ้านมีความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย
เฟอร์นิเจอร์หลายตัวนั้นถูกทำสีใหม่ โดยคำนึงถึงบรรยากาศดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด บางตัวถูกบุผ้าใหม่ บางตัวมีการย้อมสีใหม่ให้ลงตัวเข้ากันกับตัวอื่น และบางตัวก็ได้มีการปรับโทนสีให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์เก่าคือความที่เป็นไม้จริง วัสดุจริง มีความคงทนถาวร จึงทำให้สามารถซ่อมแซม หรือปรับปรุงให้สามารถไปต่อกับแนวทางการออกแบบสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
อีกสิ่งที่เฟอร์นิเจอร์เก่าสามารถช่วยได้อย่างมากก็คือ บรรยากาศของความเป็นบ้าน ดังจะเห็นได้จากพื้นที่ห้องนั่งเล่นบนชั้น 3 ที่มีบรรยากาศอบอุ่นไม่ต่างจากบรรยากาศของบ้านเดี่ยวแบบดั้งเดิมเลยทีเดียว ทั้งยังสานต่อเรื่องราว ความทรงจำ ไปสู่สมาชิกครอบครัวรุ่นต่อไปได้อย่างดีอีกด้วย
เคล็ดลับหนึ่งที่ PHTAA ได้ใช้กับการผสานเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดเข้ากับงานออกแบบร่วมสมัยของบ้านหลังนี้คือ การเลือกใช้วัสดุที่ให้สีสันออกไปทางโทนสีเบจ และน้ำตาล โทนสีในโทนพาสเทลนี้จะช่วยลดความแข็งของไม้สีเข้มลง สร้างความรู้สึกที่นุ่มนวลอบอุ่นให้กับพื้นที่ได้อย่างดีเลยทีเดียว หากใครมีเฟอร์นิเจอร์เก่าสีเข้มเช่น ไม้สัก ไม้แดง ลองนำเทคนิคนี้ไปใช้ก็น่าสนใจไม่ใช้น้อย
บ้านทรงกล่องที่ไม่กล่องจากภายใน
จะเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้ออกแบบให้เป็นทรงกล่อง ตามข้อบังคับกฎหมายอาคาร แต่ในชั้นที่ 3 และ 4 นั้น ได้มีการเยื้องมุมเข้าสู่ภายใน และเจาะออกเป็นช่องระเบียง การเปิดระเบียงในมุมจากด้านในเช่นนี้ ไม่ผิดข้อบังคับของการทำช่องเปิดตามกฏหมาย ทั้งยังสร้างให้เกิดมุมมองใหม่ๆที่น่าสนใจแก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
เพราะการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่นั้นการอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดได้ในบางเวลา บ้านหลังนี้จึงออกแบบพื้นที่ระเบียงให้มีการบิดแกนอย่างน่าสนใจ ผสานกับการใช้กระจกโค้งที่ลบภาพของกล่องสี่เหลี่ยมจากภายนอกไปได้อย่างหมดจด สร้างให้สเปซภายในของห้องเป็นอิสระจากพิกัดสี่เหลี่ยมเดิมได้อย่างน่าสนใจ
พื้นที่ที่มีการบิดแกนนี้ นอกจากจะทำให้พื้นที่ภายในดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นแล้ว ยังเปิดมุมมองสู่วิวเมืองอันโรแมนติกที่แตกต่างกันไปในแต่ละชั้นอีกด้วย นับได้ว่าเป็นหนึ่งในความสุนทรียภาพแบบเมืองที่หาไม่ได้ในบ้านเดี่ยว
ตึกที่ไม่อึดอัด
อีกส่วนที่น่าสนใจคือการออกแบบที่สร้างให้เกิดช่องแสงเข้ามาสู่อาคารได้โดยไม่รบกวนการอยู่อาศัย ในฝั่งหน้าบ้านนั้น เป็นแนวหน้าต่างที่รับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในผ่านม่านโปร่งตามปกติ แต่ในด้านหลังของอาคารนั้นจะเป็นช่องแสงที่บิดแกนเยื้องกันเพื่อไม่ให้เสียงจากถนน และทางยกระดับภายนอกดังรบกวนเข้ามาได้ แต่แสงธรรมชาติที่เข้ามาสู่พื้นที่โถงบันไดนั้นก็ยังมีประสิทธิภาพ และสร้างการรับรู้ต่อสภาวะภายนอกให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้อย่างดี รวมทั้งพื้นที่ด้านข้างอาคารนั้นยังมีช่องเปิดที่รับแสงผ่านบานเกล็ดฝ้าซึ่งสามารถเปิดระบายอากาศผ่านการไหลเวียนในแนวตั้งของอาคารได้ในบางเวลาอีกด้วย
อาคารที่ไม่กวนใจเพื่อนบ้าน
ส่วนสุดท้ายที่ room สนใจเป็นอย่างมาก แม้ว่าบ้านหลังนี้จะมีรถใช้งานถึง 4 คัน แต่เจ้าของและผู้ออกแบบก็ยังเลือกที่จะใช้พื้นที่ชั้นล่างทั้งหมดเป็นที่จอดรถ นั่นจึงทำให้พื้นที่ชั้นล่างนั้นนอกจากโรงจอดรถแล้ว ยังเป็นพื้นที่ครัวและบันไดที่นำไปสู่พื้นที่พักอาศัยด้านบน
นอกจากนี้ โดยรอบอาคารยังมีการเลือกใช้สี และพื้นผิว ที่เป็นมิตรต่อสายตาโดยรอบอีกด้วย เพราะการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่แห่งนี้นั้น คือการอยู่ร่วมกันที่บ่อยครั้งก็แทบจะไม่มีรั้วขอบกั้น การออกแบบที่ดีทั้งต่อเจ้าของอาคาร รวมไปถึงพื้นที่โดยรอบ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เมือง ๆ นี้ น่าอยู่และสวยงามไปพร้อมกัน
ออกแบบ: PHTAA Living Design
ภาพ: Kukkong Thirathomrongkiat
เรื่อง: Wuthikorn Sut