ยกบรรยากาศท่าเรือแบบไทย ๆ แต่ใส่ความเป็นสากลลงไป ให้กลายเป็น Everyday Dinning ที่ไม่ว่าจะมากับครอบครัว หรือนั่งพักผ่อนในยามเย็นก็เหมาะสม ออกแบบด้วยฟีลไม้คล้ายสะพานปลา และท่าเรือโบราณ แต่งเติมด้วยรูปแบบ Tectonic ที่สื่อถึงความรายละเอียดคล้ายงานของช่างต่อเรือ ท่ามกลางเนินหญ้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเกลียวคลื่นของแหลมเจริญ จังหวัด ระยอง
โครงการ Ekkamai Dining Neighborhood เป็นพื้นที่ Life Style Mall แห่งใหม่ ในย่านเอกมัย ซึ่งใส่ใจกับการออกแบบที่ประสานวิถีการใช้ชีวิต สู่พื้นที่สีเขียวในบรรยากาศสบาย ๆ คล้ายความเป็นย่านการค้าในรูปแบบร้าน Stand Alone เหมือนย่านสยามสแควร์ หรืออินทราสแควร์ในอดีตก่อนการมาของความนิยมโครงการแบบ ห้างสรรพสินค้าในปัจจุบัน
จากภายนอก แหลมเจริญซีฟู้ด เอกมัย จะตั้งอยู่ด้านหน้าของโครงการ มองเห็นเป็นอาคารไม้อย่างเด่นชัด แต่แท้จริงแล้วอาคารหลังนี้ใช้การรีโนเวตอาคารเก่าในพื้นที่โดยเลือกใช้การปิดผิวเปลือกอาคารทั้งหมดด้วยไม้เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้กลายเป็นร้านอาหารที่ดูอบอุ่น และเชื้อเชิญ
พื้นที่โดยรอบนั้น ออกแบบให้เป็นทางเดินที่เลี้ยวลัดไปกับเนินหญ้าที่มองคล้ายเกลียวคลื่นน้อยใหญ่ สร้างความรู้สึกที่เป็นพลวัตรให้กับบรรยากาศ ทั้งยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเกริ่นนำบรรยากาศของท้องทะเล ประกอบไปกับโคมไฟเสาไฟที่ดูคล้ายกับไม้หลักผูกเรือที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ก่อนที่ทุก ๆ คน จะได้เดินเข้าไปสู่ท่าเรือแห่งนี้
เมื่อเดินเข้าสู่ภายใน พื้นที่แรกที่พร้อมต้อนรับทุกๆคนคือบาร์ ในบรรยากาศ Seaside ที่ออกแบบให้ได้บรรยากาศแบบ Out door Seafood Bar เสริฟเครื่องดื่ม และอาหารทะเลสดที่ปรุงต่อหน้า สามารถนั่งจิบเครื่องดื่มแกล้มเมนูเด็ดพร้อมชมวิวสวนคลื่นทะเลภายนอกได้อย่างลงตัว
พื้นที่ถัดเข้ามาคือโซน Shophouses ที่จำลองร้านค้าริมเล มาเป็นห้องต่างๆ พื้นที่นี้เหมาะกับการมาเป็นหมู่คณะที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ทั้งยังมีกระเบื้องผนังที่แตกต่างกันไปในแต่ละห้อง โดยฝีมือการรังสรรค์ของ “โลเล” หรือคุณ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ศิลปินภาพลายเส้น ที่มีผลงานปรากฏตามสื่อและสถานที่ต่างๆมากมาย
ไฮไลต์เด็ดของโซนถัดมาคือ โซน Lighthouse หรือประภาคาร ที่ออกแบบให้ครัวไฟนั้นอยู่ภายในห้องกระจก เปลวไฟในการย่างอาหารนั้นจะเรืองฟู่ส่งแสงอันตื่นตาออกมายังพื้นที่ภายนอกโดยเฉพาะในยามเย็น พื้นที่นี้ช่วยสร้างความคึกคักได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นจุดถ่ายภาพยอดฮิตของแขกที่แวะเวียนมาอีกด้วย
พื้นที่ผังเปิดแบบ Open Plan นั้นถูกออกแบบภายในคอนเซปต์ Rayong Pier ท่าเรือที่จัดวางโต๊ะแบบฟรีสไตล์ ใต้ฝ้าเพดานที่ออกแบบให้คล้ายกระดูกงูเรือ เสมือนได้นั่งอยู่ในห้องเคบิน การออกแบบให้เฟอร์นิเจอร์นั้นมีความหลากหลาย ทั้งยังจัดวางกระจายในพื้นที่ เปิดโอกาสให้แขกที่มาใช้บริการรู้สึกเป็นกันเอง และจินตนาการถึงบรรยากาศในวาระต่างๆของการมาใช้บริการที่นี่ได้ ไม่ว่าจะมาทานอาหารกับครอบครัว สังสรรค์ในหมู่เพื่อน หรือจะเป็นงานเลี้ยงฉลองวันเกิด พื้นที่นี้ก็เอาอยู่
และพื้นที่สุดท้ายคือ โซน Docks ที่เป็นห้องส่วนตัวในขนาดใหญ่เป็นพิเศษ สำหรับงานเลี้ยงส่วนตัว หรือ งานจัดประชุม ออกแบบให้คล้ายอู่ต่อเรือที่มีประตูบานใหญ่สามารถกั้นห้องจากกันได้
สิ่งที่ room ประทับใจคือการออกแบบที่เลือกนำองค์ประกอบความเป็นทะเลมาผสมผสานกับสไตล์ Minimalist Modern ได้อย่างลงตัว การเลือกใช้ สัญญะ หรือ ภาพจำ ของวัฒนธรรมริมเล ถูกเลือกใช้ในรูปแบบที่ตัดทอนเอาความรก รุงรังยุ่งเหยิงที่เรามักจะเห็นในบรรยากาศทะเลอย่าง แหอวน หรือความเป็นสนิมออกไป แต่กระนั้น การสร้างนิยามของสัจจะวัสดุในโครงการนี้ กลับเลือกใช้การปล่อยเปลือย เสาปูนเดิมของโครงสร้างเก่า หรือ การเลือกใช้ไม้จริงอย่างไม้สุกิ ก็จะทำให้ผู้แขกที่มาใช้บริการ รู้สึกถึงกาลเวลา และอายุที่ผ่านไปของโครงการได้อย่างดี คล้ายกับบรรยากาศที่เรามักสัมผัสได้ในวัสดุต่างๆของพื้นที่ติดทะเล
#DesignTips#ยาแนวสีทรายรายละเอียดที่ทำให้หวนนึกถึงริมเลระยองกิมมิคเล็กๆ แต่รู้สึกดีของงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในร้านแห่งนี้คือ การเลือกสียาแนวกระเบื้องบนโต๊ะอาหารเป็นสีทราย ซึ่งทำให้นึกถึงบรรยากาศร้านอาหารริมเลดั้งเดิมที่เคยไปในวัยเยาว์ขึ้นมาทันที ฝุ่นทรายเล็กๆที่เราต้องเอามือปัดก่อนอาหารจะมาเสริฟ ต่างกันที่ ในร้านแห่งนี้คุณนั่งทานได้อย่างสบายใจไร้ฝุ่นทรายใดๆ แต่รสชาติ และบรรยากาศ อาจทำให้คนที่รักร้านอาหารริมเลได้น้ำตารื้นเอาง่ายๆด้วยความคิดถึงเหมือนกัน
ออกแบบสถาปัตยกรรม: agaligo studio, Sahapikanet
ออกแบบภูมิสถาปัตย์: agaligo studio, REAL space maker
ออกแบบแสงสว่าง : Gooodlux Design Consultancy
ออกแบบภายใน: Bwrrender
ภาพ: Soopakorn Srisakul
เรื่อง: Wuthikorn Sut