LA BOURSE DE COMMERCE เมื่อ TADAO ANDO ต้องรีโนเวตพิพิธภัณฑ์ใน Paris - room

LA BOURSE DE COMMERCE เมื่อ TADAO ANDO ต้องรีโนเวตพิพิธภัณฑ์ใน Paris

นี่คือ จุดบรรจบของรสนิยมวิไลและความเรียบนิ่งแห่งสัจวัสดุ และนี่คือสถานที่ที่เราไม่อยากให้คุณพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใครมีแผนจะไป Olympic Paris 2024 ปีนี้ La Bourse de Commerce เมื่อความเรียบเกลี้ยงอย่างปัจจุบันพบเจอเข้ากับรายละเอียดวิจิตระการตาจากอดีต โดย Tadao Ando สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนอาคารเก่ากลางกรุงปารีส ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่จุดหมายใหม่ในปารีส

ถ้าคุณพอจะมีเงินสัก 9 ยูโร และบังเอิญอยู่ในกรุงปารีสพอดิบพอดี จึงอยากเชิญชวนให้ไปที่ La Bourse de Commerce (ลา บูร์ซ เดอ กอมแมร์) Bourse de Commerce – Pinault Collection พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ อย่าง Louvre Museum และ The Centre Pompidou ที่เราคุ้นเคย

La Bourse de Commerce เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ที่จัดแสดงผลงานมากกว่า 10,000 ชิ้น จาก 350 ศิลปินร่วมสมัย โดยจะสลับสับเปลี่ยนการจัดแสดงผ่านฝีมือการคัดเลือกโดย Martin Bethenod ผู้อยู่เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง อาทิ Palazzo Grassi – Punta della Dogana หรือ The Centre Pompidou โดยทั้งหมดของผลงานที่นำมาจัดแสดงนี้ คือคอลเล็กชันส่วนตัวของ Francois Pinault มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง Gucci, Yves Saint Laurent, และ Bottega Veneta, Balanciaga ซึ่งตัวอาคารหลังนี้มีอายุเก่าแก่ ก่อสร้างเมื่อราวปี ค.ศ. 1889 ซึ่งผ่านการปรับตัวมาแล้วหลายยุคสมัย และเมื่อปี ค.ศ.2021 เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมความสวยงามของทั้งผลงานศิลปะและสถาปัตยกรรม จึงอยากจะนำประสบการณ์มาแบ่งปันให้กับทุกคน

#ผู้ใช้งานเปลี่ยนไปตึกก็เปลี่ยนแปลง
คฤหาสน์ โรงแรม ตลาดหุ้น และอีกหลายบทบาท กว่าจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ อาคารที่มีโดมกระจกบนคอร์ตวงกลมตรงกลางนี้ ได้ผ่านการเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานมาหลายรอบตามความต้องการแต่ละยุคสมัย จากคฤหาสน์สู่โรงแรมในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตามมาด้วยศูนย์แลกเปลี่ยนค้าขายธัญพืชในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สู่ตลาดหุ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อรูปแบบการค้าขายแบบเก่าเริ่มซาลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบใหม่เข้ามาแทนที่ แน่นอนสถาปัตยกรรมที่เป็นผลลัพธ์ของกิจกรรมมนุษย์ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการ อาคารจึงถูกปรับปรุงให้เป็นแบบนีโอ-คลาสสิกตามสมัยนิยม อีกทั้งเมื่อโดมไม้เดิมที่ถูกต่อเติมเหนือคอร์ตเพื่อเป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์ถูกไฟไหม้ โดมจึงถูกเปลี่ยนเป็นโครงทองแดง และกระจกเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามา เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมของผู้ใช้งาน ทั้งยังขับเน้นพื้นที่คอร์ตวงกลมที่รวมกลุ่มคนตรงกลางให้พิเศษยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มภาพวาดที่ผนังใต้โดมเป็นที่แสดงถึงการค้าขายทั้ง 4 มุมของโลก เมื่อรวมกันทุกองค์ประกอบที่ว่าไป สิ่งนี้ย่อมแสดงถึงความยิ่งใหญ่ทางการค้าของฝรั่งเศส พื้นที่สำหรับกิจกรรมแห่งทุนนิยมจึงถือกำเนิดขึ้นในปารีส ตามจุดประสงค์การใช้งานที่เปลี่ยนไป ตึกแห่งนี้ก็เปลี่ยนแปลงตาม

#จากศูนย์แลกเปลี่ยนค้าขายธัญพืช สู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะในปัจจุบัน
ด้วยความที่ ทาดาโอะ อันโดะ สถาปนิกรางวัล Pritzker ชาวญี่ปุ่น เคยร่วมทำงานและปรับปรุงอาคารในบริบทเมืองเก่า อย่าง พิพิธภัณฑ์ Palazzo Grassi และ The Punta della Dogana Venice ที่เวนิสมาแล้ว โดยผลลัพธ์นั้นได้รับความชื่นชอบในความเรียบสงบนิ่ง ทำให้เขาได้ทำงานในโปรเจ็กต์นี้ร่วมกับสตูดิโอสัญชาติ ฝรั่งเศสสองแห่ง คือ studio NeM / Niney et Marca Architectes และ the studio of Pierre-Antoine Gatier โดยมีโจทย์อันท้าทายในการรีโนเวตอาคารที่มีประวัติศาสตร์ทับซ้อนยาวนาน และเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในตัวเองให้กลายเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะ โดยต้องไม่สร้างให้เกิดการแก่งแย่งความเด่นกันระหว่างงานศิลปะ อาคารดั้งเดิม และส่วนต่อเติม อีกทั้งยังต้องรองรับคนจำนวนมากได้ จากอาคารพิเศษของคนเฉพาะกลุ่ม สู่สถาปัตยกรรมที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ นี่จึงเป็นอีกโจทย์ที่ทาดาโอะ อันโดะ ทำให้เราได้เห็นแนวทางการออกแบบที่น่าสนใจอีกครั้ง

ทาดาโอะ อันโดะ ได้ให้ไอเดียโดยการตีความการทำให้อาคารเดิมกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการสร้างบทสนทนาในความเงียบงัน ระหว่างผนังคอนกรีตใหม่ที่เรียบเนี้ยบกับพื้นวงกลมที่เป็นของอาคารดั้งเดิม เพื่อขับเน้นให้เกียรติประวัติศาสตร์ของตัวสถาปัตยกรรมเดิมยังคงโดดเด่นเป็นพระเอกของพื้นที่

#ทำน้อยแต่เมื่ออยู่ด้วยกันยิ่งมาก
เมื่อก้าวเข้ามาในอาคารเราจะถูกรับน้องด้วยกำแพงคอนกรีตเปลือยโค้งเรียบ ๆ สูงเท่ากับตึก 3 ชั้น ไร้การตกแต่งใด ๆ ใต้โดม แสงภายนอกจากโดมกระจกถูกดึงเข้ามา ดูน่าเชื้อเชิญให้คนเดินผ่านกำแพงเข้าไป โดยกำแพงคอนกรีตและแสงต่างทำงานเข้าขากันอย่างกับทีมงานที่เตรียมตัวมาอย่างดี กำแพงล้อมพื้นที่ตรงกลาง ช่วยให้แสงหลอกล่อให้คนที่เข้ามาต้องหยุดแล้วมองขึ้นไปเห็นท้องฟ้าผ่านโดม ทำให้เราซึมซับสถาปัตยกรรมโดยไม่รู้ตัว ในทางกลับกันกำแพงที่สูง 9 เมตร กลับไม่ข่มงานศิลปะที่จัดแสดง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของงาน หากแต่ส่งเสริมให้เด่นยิ่งขึ้น เสมือนเป็นฉากหลังเรียบ ๆ ในโรงละคร

#อาคารคือผลงานศิลปะ
กำแพงคอนกรีตเปลือยโค้งที่ล้อไปกับรูปทรงของพื้นที่คอร์ตเดิมสร้างให้ภายในอาคารเป็นเหมือนหัวหอมที่มีหลายชั้นซ้อนกัน เชื่อมกันแต่ไม่สัมผัสกันและกัน เราไม่สามารถเห็นหน้าตาภายในของอาคารดั้งเดิมได้ทั้งหมดเพราะกำแพง แต่เมื่อเราเดินขึ้นไปตามบันไดหลังกำแพงคอนกรีตเพื่อที่จะเข้าไปดูงานศิลปะในส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ในส่วนอาคารเก่า เราจะค่อย ๆ สัมผัสอาคารเดิมในมุมองที่เราไม่ค่อยได้เห็นเวลาเรามองตึกทั่ว ๆ ไป เหมือนกันว่าสถาปนิกตั้งใจเว้นระยะสายตา เพื่อให้องค์ประกอบของอาคารกลายเป็นงานศิลปะที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามมุมมองที่เราเดินผ่าน ภาพเขียนใต้โดมที่เคยไกลสายตามาก ๆ กลับกลายเป็นภาพที่สามารถเห็นลายละเอียดชัดเจน เหมือนยกภาพมาแขวนผนังให้ดูแบบใกล้ชิด เมื่อเราเดินไปถึงพื้นที่บนสุดของกำแพงคอนกรีต สถาปนิกได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างคนกับอาคารดั้งเดิมได้อย่างชาญฉลาด เพียงแค่เติมองค์ประกอบชิ้นเดียวเข้าไปในอาคารเก่าก็กลายเป็นงานศิลปะร่วมสมัยทันที

#ชุบชีวิตให้อาคารทางประวัติศาสตร์การปรับปรุงพื้นที่ภายในของอาคารเก่ามีความสำคัญไม่แพ้พื้นที่โถงที่เป็นที่การจัดแสดงงานช่วงคราว พื้นที่ภายในอาคารได้ปรับให้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานคอลเล็กชั่นขนาดเล็กลงมา โดยได้ทำการเก็บหน้าต่างอาคารเดิมไว้้เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ถึงเสน่ห์ของความคลาสสิกแต่ปรับด้านในให้เรียบและโล่ง ร่วมกับการใช้สีขาวให้มาอยู่ในองค์ประกอบของอาคารสมัยเก่าที่ไม่เรียบและสะดุดตา ทำให้พื้นที่ภายในดูน้อยเป็นเนื้อเดียวกัน กลายเป็นพื้นที่จัดงานที่ส่งเสริมผลงานศิลปะให้ดูสบายตา

เพราะการเก็บอาคารเก่ามาปรับปรุงใหม่นั้นจริง ๆ แล้ว ในหลายๆ ครั้ง นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ช่วยลดจำนวนการใช้วัสดุใหม่ ลดคาร์บอนจากการขนส่งและก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นกับการสร้างอาคารใหม่ ยังเป็นการเก็บและเล่าเรื่องราวของสถานที่ ผ่านพื้น ผนัง และหลังคาของตัวอาคาร นับเป็นการเก็บรักษาและปรับปรุงอาคารเก่าได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

แต่ก็แน่นอนแนวคิดเปลี่ยนการใช้งาน และพัฒนาอาคารเก่าให้ตามยุคสมัยนั้น อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ใช่เสมอไปในทุกโครงการ เพราะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคา ความคุ้มค่า การใช้งาน และคุณค่า แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยอาคารเก่าที่มีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมของเมืองปารีส ผลกระทบอาจจะเกิดมากกว่าได้ในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสังคม

#การพัฒนาที่ไม่ทิ้งของเก่าและไม่ปฏิเสธของใหม่
“I wanted a new architecture—a hyphen between the past and the present—to produce a vision of the future by provoking an emotion in the space.” – Tadao Ando

การออกแบบที่เน้นไปที่ปรับปรุงเติมความเรียบเกลี้ยงลงไปในพื้นที่คลาสสิกของอาคารเดิม ของเก่าและใหม่ที่ดูแตกต่างกันมาก ๆ กลับอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนเสริมสร้างกันและกันมากขึ้น เปลี่ยนภาพของให้องค์ประกอบอาคารเดิม ๆ ด้วยการรับรู้ใหม่ ๆ โดยถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปพลังงานก็จะลดจางหายไป

กำแพงคอนกรีตเปลือยจากเทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่ทั่วไป ที่ดูไม่มีอะไรถ้าอยู่เดี่ยว ๆ ของตัวมันเอง เพียงแค่เลือกจัดการความสัมพันธ์กับบริบทเก่าให้ดี กำแพงคอนกรีตธรรมดาก็สามารถเติมเต็มเสน่ห์ให้กับอาคารเก่าที่มีอายุหลายศตวรรษได้ สร้างแรงดึงดูดมหาศาลให้ผู้คนทั่วโลกอยากเข้ามาสัมผัส รับรู้ ใช้งาน และหลงหลงใหล ทำให้สถาปัตยกรรมกลับมามีคุณค่ามีชีวิตอีกครั้ง เพราะจริง ๆ แล้วผู้คนนี่แหละถือเป็นกุญแจสำคัญในการอนุรักษ์และพัฒนา เพราะเมื่อมีผู้ใช้ก็จะเกิดกิจกรรม และกิจกรรมก็จะสร้างสถาปัตยกรรมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

#การสร้างพื้นที่ให้กันและกันเพื่อต่อยอด
“The birth of a grandchild often gives a new lease of life to the grandparents…..With this act, the building is revived and transformed. I wanted to create a powerful architecture, capable of projecting itself into the future. Therefore, the old parts or sections of the building constructed in the 19th century were fully restored first.” – Tadao Ando

การรีโนเวตอาคารในครั้งนี้ ทำให้ย้อนกลับมาคิดถึงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในบ้านเราที่หลายครั้งมองอาคาร ชุมชน ย่าน เมือง เก่าเป็นคู่ตรงข้ามของการพัฒนาเป็นขาวและดำ ความหนุ่ม คือความสดใหม่บริสุทธ์ พลุ่งพล่าน คาดเดาไม่ได้ ความแก่ คือของโบราณไม่ทันโลกที่ต้องหายไป แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองฝั่งต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันและแยกจากกันไม่ขาด เพราะเมืองที่ขาดชุมชนเก่า หรือเมืองที่ไม่มีการพัฒนาย่านใหม่ ๆ ต่างก็ไร้ชีวิตกันทั้งคู่ แค่เพียงสร้างพื้นปลอดภัยให้ของเก่าของใหม่ได้แสดงตัวตนน ได้คุยกัน ให้เวลาในการจัดการความสัมพันธ์ ระยะห่างของความไม่เข้าใจจะแคบลง เหมือนกับระยะห่างเล็ก ๆ ของกำแพงคอนกรีตในอาคาร Neo-Classic ที่ La Bourse de Commerce เป็นพื้นที่ปลอดภัยของสถาปัตยกรรม 2 ยุคสมัย ที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน แต่กลับสามารถสร้างสิ่งใหม่ให้เติบโตประสานเข้ากับประวัติศาสตร์ได้

ภาพ: Kitsupphat, Yusumap

เรื่อง: Kitsupphat Na lampang

Kitsupphat Na lampang
MA in Political Architecture: Critical Sustainability. 
ชอบตึก หมา และ การเมือง