Harudot คาเฟ่ชื่อดังขวัญใจนักดื่มกาแฟในเครือ NANA Coffee Roasters ได้ยกแบรนด์จากจังหวัดชลบุรี มาปักหมุดในทำเลใหม่ท่ามธรรมชาติแห่งเขาใหญ่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบสถาปัตยกรรม: IDIN Architects
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Shma SoEn
สิ่งที่แปลกตาไปในสาขา Harudot Khao Yai นี้ เห็นจะเป็นการออกแบบร้านที่เหมือนยกประติมากรรมขนาดใหญ่ เด่นด้วยอัฒจรรย์ขั้นบันไดตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวออกแบบโดยคุณเป้-จีรเวช หงสกุล แห่ง IDIN Architects ซึ่งเคยฝากผลงานมาแล้วกับ Harudot สาขาชลบุรี และสำหรับสาขานี้ เขาได้เพิ่มดีกรีผ่านงานออกแบบเพื่อเล่าตัวตนของแบรนด์ Harudot ควบคู่ไปกับแนวคิดเพื่อให้สถาปัตยกรรมกลมกลืนไปกับธรรมชาติของบริบทเขาใหญ่



สถาปัตยกรรมที่ปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ
Harudot Khaoyai สาขานี้ เน้นออกแบบให้ลูกค้าได้เสพวิวธรรมชาติที่รายล้อมอยู่รอบ ๆ บนที่ดินขนาด 23 ไร่ ได้อย่างเต็มเปี่ยม ทำเลที่ตั้งมีลักษณะเป็นเนินดิน (Berm) พร้อมกับมีต้นไม้รูปทรงแปลกตา เบื้องล่างมองเห็นวิวทะเลสาบและพื้นที่สีเขียวที่ยิ่งเสริมให้นักออกแบบได้ตัดสินใจดีไซน์ให้อาคารของคาเฟ่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติมากที่สุด ริเริ่มมาจากโจทย์ของการสร้างพื้นที่สาธารณะให้คนใกล้ชิดกับธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ยังมีมุมส่วนตัวให้ลูกค้าของร้านมานั่งจิบเครื่องดื่มและชมวิวต้นไม้อย่างสงบ
แนวคิดหลักของการออกแบบรูปทรงอาคาร สถาปนิกยังคงไว้ซึ่งคอนเซ็ปของแบรนด์ Harudot ที่ต้องแฝงด้วยกลิ่นอาย Modern Japanese Design ก่อนจะประยุกต์ใช้ศิลปะการตัดและพับกระดาษ “คิริกามิ” จากญี่ปุ่นมาช่วยในการดีไซน์ให้อาคารของคาเฟ่ สามารถมอบประสบการณ์การเสพวิวธรรมชาติในพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ และตอกย้ำตัวตนของ Harudot ได้เด่นชัดขึ้น




กรีดพับตัด เปิดประสบการณ์ร่วมกับธรรมชาติ
การใช้เทคนิกตัดและพับกระดาษแบบญี่ปุ่นแบบคิริกามินี้ สถาปนิกได้เปรียบสเปซบนผืนดินที่ตั้งว่าเป็นดังแผ่นกระดาษ แล้วใช้แนวคิดการกรีดสเปซ แบ่งพื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมออกเป็นส่วน ๆ จากนั้นจึงพับกระดาษในจินตนาการขึ้นและลงให้เกิดรูปทรงและปริมาตรที่ต้องการ คล้ายกับการกรีดและพับกระดาษที่พบได้ในเทคนิคการทำการ์ดแบบต่าง ๆ ของญี่ปุ่น




สเปซและปริมาตรบนผืนดินซึ่งเกิดขึ้นจากการกรีดและพับนั้น ภายหลังแทนที่ด้วยโครงสร้างอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลานกว้างแบบทางลาดและขั้นบันไดแบบอัฒจรรย์ตามการพับขึ้นและลงในแต่ละส่วน จากนั้น สเปซพับขึ้น-ลงอันโปร่งโล่งนี้ ก็ถูกเสียบและแทรกด้วยสเปซแบบปิด เพื่อกำหนดให้เป็นสเปซสำหรับคาเฟ่และพื้นที่ Semi-Outdoor ปรากฏภาพโครงสร้างที่เกิดจากการพับ ตัด และสอดแทรกส่วนต่าง ๆ สำเร็จเป็นอาคารลักษณะแปลกตาคล้ายสามเหลี่ยมหลายอันทับซ้อนกัน คล้ายถูกเสียบและประกบเข้ากันไปมา สร้างความพิเศษให้ประสบการณ์การใช้งานอาคารให้ยิ่งขึ้นไป
พื้นที่ใช้สอยที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นการส่งเสริมการใช้พื้นที่กลางแจ้งของคาเฟ่เป็นหลัก เพื่อให้คนได้เสพวิวทิวทัศน์โดยรอบอย่างเต็มที่ เอื้อให้มีพื้นที่นั่งพักผ่อนภายนอกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ สถาปนิกยังได้สร้างจุดเด่นให้กับอาคารด้วยบันได สำหรับทำหน้าที่ในการทำทางสัญจรขึ้นสู่จุดชมวิวธรรมชาติด้านบนสุดได้อย่างทั่วถึง



สถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับอินทีเรียร์
การออกแบบตกแต่งภายในของ Harudot Khaoyai มีการใช้เทคนิคตัดพับกระดาษที่สัมพันธ์ไปกับการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิกได้มีการเจาะช่องทางเข้าในลักษณะทางเดินยาวจากนอกอาคาร ที่ค่อย ๆ ลดระดับให้ต่ำลงล้อไปกับเนินดิน นำทางให้ลูกค้าได้มองเห็นโลโก้ของแบรนด์ Harudot เป็นอย่างแรก ก่อนจะเข้าสู่อาคารซึ่งมีทางเข้าอยู่ทางขวามือ เมื่อเปิดเข้าไปจะเผชิญกระจกบานใหญ่รับกับวิวทิวทัศน์ ที่มีการบีบมุมและสเปซให้ลูกค้าโฟกัสกับวิวภูเขาภายนอก และมีบันไดวนอยู่ที่ปลายสุดทางเดิน ซึ่งเกิดจากการกรีดพื้นให้บิดไปยังชั้น 2




มุมที่นั่งต่าง ๆ ภายในร้านได้รับการออกแบบให้ลื่นไหลไปตามโครงสร้างซึ่งเกิดขึ้นจากการกรีดและพับ อันสะท้อนจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยแนวคิดการออกแบบด้วยการกรีดและพับแบบคิริกามินี้ ยังปรากฏผ่านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในร้าน เช่น การกรีดพื้นแล้วพับขึ้นมาเป็นชั้นโชว์เมล็ดกาแฟ ที่นั่ง และบันไดวน ในส่วนของเก้าอี้โลหะก็ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายการพับกระดาษแล้วเสียบขัดกันกลายเป็นที่นั่ง ส่วนที่นั่งในโซน Semi-Outdoor มีการกรีดพื้นแล้วพับกลับขึ้นในความสูงที่ลดหลั่นกัน จนกลายเป็นที่นั่งและโต๊ะที่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับสถาปัตยกรรมภาพรวม



กะเทาะดีไซน์ไอเดียจากวัสดุยั่งยืน
ความสำคัญอีกอย่างของคาเฟ่แห่งนี้ คือการริเริ่มทดลองใช้วัสดุที่มีแนวคิดรักสิ่งแวดล้อม โดยได้เลือกใช้ปูน SCG Low Carbon Cement LC3 สีเนเชอรัลเคลย์ที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในขั้นตอนการผลิตมาใช้ในงานทำผิวอาคาร โดยทดลองคุณสมบัติของวัสดุด้วยการหล่อเป็นผิวหน้าของโครงสร้างหลักซึ่งเป็นคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร จากนั้นมีการกะเทาะผิวหน้าในบางส่วนเพื่อโชว์เท็กซ์เจอร์ของหินด้านใน ซึ่งสะท้อนในงานออกแบบให้ความรู้สึกว่าอาคารมีความคราฟต์ สลับกับการทำผิวเรียบบางส่วนเพื่อเพิ่มลูกเล่นในการออกแบบ นับว่าเป็นวัสดุที่มีแนวคิดเป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อม สะท้อนตัวตนผ่านสีของวัสดุ ซึ่งมีโทนใกล้เคียงกับสี Corporate Identity (CI) ซึ่งเป็นสีส้มอมชมพูเหมือนกับใบซากุระของแบรนด์ Harudot







Harudot คาเฟ่ที่ขยายสาขาจากชลบุรีมายังเขาใหญ่แห่งนี้ นอกจากจะแสดงความกล้าของผู้ประกอบการในการลงทุนกับสถาปัตยกรรมบนที่ทำเลใหม่ยอดฮิต ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 ของแบรนด์แล้ว ยังสะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบในการประยุกต์ใช้แนวคิดจากศิลปะข้ามแขนง มาสร้างสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมในบรรยากาศที่ต่างไป เพื่อให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ผ่านสถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่เชื่อมประสบการณ์การใช้อาคารกับธรรมชาติของเขาใหญ่ในมิติที่ยั่งยืนได้อย่างน่าสนใจ
ที่ตั้ง
Harudot Khao Yai by Nana Coffee Roasters
9 ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
พิกัด https://maps.app.goo.gl/TA2Auurs52pWHmFo8
เปิดทุกวัน 9.00 – 17.30 น.
โทร. 09-2914-6296
ออกแบบสถาปัตยกรรม: IDIN Architects
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: Shma SoEn
เรื่อง: Kangsadan K.
ภาพ: นันทิยา บุษบงค์, อภิวิชญ์ เดสูงเนิน
Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters ให้ประสบการณ์กาแฟได้ผลิบาน
