ป่านาคำหอม พักผ่อนแบบถ่อมตน กลางพื้นที่อนุรักษ์ป่ากลางเมืองสกลนคร

Pa Na Come Home “ ป่านาคำหอม ” พักผ่อนแบบถ่อมตนกลางพื้นที่อนุรักษ์ป่ากลางเมืองสกลนคร

ป่านาคำหอม” พื้นที่อนุรักษ์ป่ากลางเมืองสกลนคร ที่หล่อเลี้ยงด้วยโมเดลธุรกิจอย่างบ้านพัก คาเฟ่ และพื้นที่เวิร์กชอป ชวนให้ผู้คนมาผ่อนเวลาให้ช้าลง ค้นหาความสงบและอยู่อาศัยในงานออกแบบที่แอบอิงอยู่กับธรรมชาติ

ณ มุมหนึ่งในซอยหนองแดงพัฒนา อำเภอเมืองฯ จังหวัดสกลนคร “ ป่านาคำหอม ” ตั้งอยู่บนที่ดินห่างจากถนนใหญ่เพียงเล็กน้อย พื้นที่ป่าและสวนเกษตรขนาด 43 ไร่ โดยซ่อนตัวอยู่หลังรั้วที่กลมกลืนไปกับบ้านพักอาศัยโดยรอบ ที่นี่มีเจ้าของคือคุณอิ๋ม – รติกร ตงศิริ ผู้ประกอบการที่ตั้งใจใช้พื้นที่ธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ มาหล่อเลี้ยงและดูแลผืนป่าที่ตกทอดมาจากครอบครัว

แต่ละอาคารที่พักมีระเบียงด้านหน้าตั้งใจให้เป็นพื้นที่หยุดพักและฟังเสียงธรรมชาติ
คุณอิ๋ม–รติกร ตงศิริ เจ้าของโครงการและผู้ดูแลป่านาคำหอม

นอกจากต้องการรักษาธรรมชาติของพื้นที่ป่าดิบแล้งอีสานขนาดใหญ่ที่หาได้ยากยิ่งในเขตเมืองแล้ว ยังอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การเดินทางภายใน และการเฝ้ามองธรรมชาติภายนอก เพื่อฝึกฝนและพัฒนาธรรมชาติภายในจิตใจไปพร้อมกัน

อาคารคาเฟ่ชั้นเดียวชายคายื่นยาว ตั้งอยู่ใกล้ป่าดั้งเดิมในระยะที่จะไม่รบกวนกัน เน้นเปิดโล่งให้คนสัมผัสบรรยากาศเอาต์ดอร์ ยกพื้นสูงเล็กน้อยเพื่อกันความชื้นและแมลงต่างๆ
ภายในคาเฟ่ตกแต่งเรียบง่าย ใช้หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่งต่างๆ เป็นไม้ให้ความอบอุ่น
อาคารซึ่งตั้งอยู่บนเนินดิน สร้างบนพื้นที่โล่งเพื่อลดการตัดไม้ใหญ่ สัดส่วนอาคารยังถูกกำหนดจากต้นไม้และองค์ประกอบเดิมอื่นๆ โดยรอบด้วย

ในพื้นที่ขนาด 43 ไร่ ของป่านาคำหอม ชื่อที่ตั้งตามนามปากกาเดิมของคุณพ่อ ถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าดิบแล้งดั้งเดิมประมาณ 20 ไร่ ที่สงวนไว้โดยไม่แตะต้อง ต่อมาเป็นพื้นที่เกษตร ซึ่งมีพื้นที่ทำนาบนที่นาเดิมที่ทำมาอยู่ก่อนแล้ว กับพื้นที่ขุดสระ และพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ต่าง ๆ เหลือจากนั้นอีกเพียงส่วนน้อย เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ประกอบด้วยบ้านพักอาศัยของเจ้าของโครงการ และพื้นที่ธุรกิจที่เปิดให้คนนอกเข้ามาใช้บริการ ผสมผสานทั้งคาเฟ่ ที่พัก และพื้นที่กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เชิงจิตวิญญาณและธรรมชาติ ทุกอย่างผ่านการออกแบบอย่างถ่อมตน กลมกลืนไปกับบริบทของพื้นที่ หรือดังที่คุณธีรินทรา ศิริสวัสดิ์ หนึ่งในทีมออกแบบกล่าวไว้ว่า ต้องการให้สิ่งปลูกสร้างใหม่รบกวนธรรมชาติดั้งเดิมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เส้นทางเดินสำรวจและเรียนรู้ป่าดิบแล้ง ซึ่งก็เคยได้ต้อนรับหน่วยงานรวมถึงกลุ่มนักเรียนรู้ต่างๆ แวะเวียนมาอยู่เสมอ
หนังสือคู่มือการเข้าพักในป่านาคำหอม และเล่าเรื่องที่มาที่ไปของโครงการ
ห้องพักอีกชุดเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินลัดเลาะที่สงบร่มรื่นในโครงการ เน้นให้ใช้การเดินเท้าที่พื้นที่ด้านในเพื่อความสงบและส่วนตัว

ออกแบบเพื่อการอยู่ร่วม

แนวคิดเริ่มต้นของการออกแบบอาคารต่าง ๆ ในโครงการนี้ มาจากการจัดสรรฟังก์ชันเชิงการบริการที่เจ้าของโครงการต้องการให้มีในพื้นที่ก่อน ได้แก่ พื้นที่คาเฟ่เพื่อรับขาจรที่จะเปิดให้แวะเวียนมาทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ อาคารอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมเวิร์กชอปตามแต่วาระโอกาสเหมาะสม และอาคารที่พัก 7 ห้อง ที่วางเรียงรายไปตามบ่อขุดและท้องนา โดยกำหนดตำแหน่งอาคารตามลำดับความเป็นสาธารณะ เริ่มจากคาเฟ่ซึ่งมีคนแวะเวียนหลากหลายอยู่ภายนอกสุด ถัดมาเป็นอาคารเอนกประสงค์รับคนเป็นครั้งคราวอยู่ในกึ่งกลาง และสุดท้ายคือที่พักตั้งลึกเข้าไปภายใน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้รับความสงบและเป็นส่วนตัวมากที่สุด เข้าถึงได้เฉพาะด้วยการเดินเท้า

ตำแหน่งการวางอาคารทั้งหมดนี้ ยังถูกคิดให้แม้จะตั้งอยู่ใกล้ป่า แต่ก็ต้องอยู่ในระยะที่เหมาะสมไม่ให้ไปรบกวน หรือแตะต้องพื้นที่ป่าดั้งเดิม นอกจากนั้นยังเน้นการเลือกพื้นที่โล่งมาสร้างอาคารเพื่อลดการตัดต้นไม้ที่มีอยู่ก่อน อีกทั้งการวางอาคารก็ยังต้องสอดคล้องกับทิศทางน้ำตามธรรมชาติ ทั้งหมดเพื่อให้สิ่งปลูกสร้างใหม่ได้เชื่อมโยง เกื้อกูล และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อาคารที่พักเรียงรายกันใกล้ชิดป่า เป็นอาคารยกพื้นเพื่อหลบความชื้นและน้ำที่จะหลากมาพร้อมฝน
อาคารอเนกประสงค์สองชั้น ใช้จัดกิจกรรมเวิร์กชอปร่วมกับกลุ่มต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกันในวาระโอกาสต่างๆ
อาคารห้องครัวซึ่งตั้งแยกจากส่วนคาเฟ่เพื่อกันแมลงที่จะตามมากับอาหาร เป็นการออกแบบเพื่อการปรับตัวให้อยู่กับป่าและเพื่อสุขลักษณะที่ดี
ชิงช้าในส่วนคาเฟ่ช่วยให้พื้นที่อยู่สบาย
ติดป้ายระบุชนิดพันธุ์ไม้ไว้กำกับต้นไม้แต่ละต้นที่ได้สำรวจแล้ว
โลโก้ป่านาคำหอม ออกแบบตัวอักษรโดยคุณภูกระดึง
หน้าต่างเก่าถูกนำมาใช้กับงานออกแบบบ้านพัก ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนอาคารในอดีต

รูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมที่ถ่อมตัว

นอกจากตำแหน่งที่ตั้งแล้ว รูปแบบของอาคารต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยมีแนวคิดคือการทำอาคารให้เคารพต่อพื้นที่ให้มากที่สุด อันจะเป็นอาคารที่ไม่จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์โดดเด่น แต่เน้นการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้อยู่สบาย สงบ และเป็นพื้นที่เรียบง่ายที่เน้นให้คนได้มาหยุดพัก ฟังเสียง และเฝ้ามองความเป็นไปของธรรมชาติโดยรอบได้โดยไม่ถูกกำหนดมุมมอง

บริเวณระเบียงออกแบบโดยใช้ไม้เก่าด้วยตั้งใจให้เป็นพื้นที่พักผ่อนที่อยู่สบาย
ภายในห้องพักออกแบบให้เรียบง่าย โดยมีบริเวณที่นั่งริมหน้าต่างที่ด้านใน ตั้งใจให้เป็นที่นอนเอกเขนกและเปิดหน้าต่างออกไปสัมผัสป่าที่อยู่เบื้องหลังได้

จึงจะเห็นได้จากรูปแบบของแต่ละอาคารไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ อาคารอเนกประสงค์ หรือที่พักแต่ละห้อง ที่จะเน้นออกแบบให้เป็นอาคารไม่สูงใหญ่ไปกว่าป่า ยกเว้นอาคารอเนกประสงค์ที่จำเป็นต้องมีสองชั้นตามพื้นที่ใช้สอย ทั้งหมดออกแบบให้เป็นอาคารหลังคาจั่วชายคายื่นยาวเพื่อตอบสนองสภาพอากาศ ใช้วัสดุและระบบโครงสร้างเป็นคอนกรีตและเหล็ก ที่ยกระดับพื้นขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นและเอื้อให้น้ำสามารถไหลผ่านได้ นอกจากนั้นสัดส่วนของแต่ละอาคารยังกำหนดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ เนินดิน รวมไปถึงวัสดุอย่างประตูหน้าต่างเก่าที่คุณพ่อเจ้าของโครงการเก็บสะสมไว้ ก็ได้ถูกนำออกมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักแล้ว จึงกำหนดสัดส่วนของช่องเปิดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสิ่งเดิมที่มี ทั้งหมดก็เพื่อทำให้อาคารสร้างใหม่ที่เป็นดังสิ่งแปลกปลอม ผสานตัวเองเข้ากับที่ตั้งอย่างเรียบง่าย และให้แสดงออกซึ่งเอกลักษณ์บางอย่างเท่าที่ควรจะเป็น

อาคารคาเฟ่ชั้นเดียวเปิดโปร่งเป็นส่วนต้อนรับด้านหน้าของโครงการ เปิดให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์
กลุ่มอาคารที่พักวางชิดบ่อขุดเพื่อใช้ในสวนเกษตร เป็นบริเวณที่แยกตัวออกมาทว่าก็ใกล้ชิดกับป่าผืนใหญ่เบื้องหลัง

เน้นการอยู่อย่างยั่งยืน

นอกจากบานหน้าต่างและประตูเก่าที่ปรากฏให้เห็นชัดเจน ที่นี่ก็ยังแฝงการใช้ไม้เก่าที่เก็บสะสมไว้มาใช้ในอีกหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนคาเฟ่อันเป็นดังพื้นที่รับแขกหน้าบ้าน ซึ่งต้องการให้เป็นพื้นที่แรกสุดที่คนได้เปลี่ยนบรรยากาศสู่ความสงบและสบาย และต่อเนื่องมาถึงส่วนระเบียงของห้องพัก ก็เน้นการใช้ไม้เพราะต้องการให้เป็นพื้นที่สงบอบอุ่น สำหรับผู้เข้าพักได้ออกมาเสพบรรยากาศภายนอก

การใช้ไม้เก่ายังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดการมุ่งสู่ความยั่งยืนของโครงการ เพราะนอกจากนั้นแล้ว ทุก ๆ อาคารก็ยังเน้นการออกแบบให้เปิดรับแสงและลมธรรมชาติ ลดการใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นส่วนคาเฟ่ที่ออกแบบให้เป็นเพียงอาคารขนาดเล็กที่เน้นเปิดโล่งให้เชื่อมต่อกับพื้นที่นั่งเอาต์ดอร์ เฉกเช่นเดียวกับอาคารอเนกประสงค์และส่วนที่พัก เน้นช่องเปิดและระเบียงให้มีขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมด้วยการเปิดประตูและหน้าต่างออกรับแสงและลมที่จะไหลเวียนผ่านได้ในวันที่อากาศเย็นสบาย

ที่สำคัญคือการยอมรับข้อจำกัดเรื่องความชื้นและแมลงทั้งหลาย โดยการใช้องค์ประกอบต่าง ๆ อย่างการยกพื้นอาคารให้สูงจากดินเล็กน้อยเพื่อหลบน้ำ หรือการเปิดอาคารให้โปร่งไม่ให้เก็บความชื้นเพราะอยู่ใกล้ป่า ไปจนถึงการติดมุ้งลวด หรือการออกแบบและแก้ปัญหามดและแมลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในจุดต่าง ๆ ทั้งหมดสะท้อนแนวคิดการออกแบบที่พยายามเป็นหนึ่งเดียวกับสภาพแวดล้อมแบบป่า หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือเป็นการออกแบบเพื่อเน้นการปรับตัวมากกว่าการบังคับควบคุม และเป็นความตั้งใจในการนำเสนอแนวคิดของการสร้างความเข้าใจในธรรมชาติ เพื่อการอยู่อาศัยที่เกื้อกูลและเป็นมิตรต่อกันนั่นเอง

ที่ตั้ง
240/7 ชุมชนหนองแดง ซอยท่านขุน 1 ถนนรัฐบำรุง ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองฯ จังหวัดสกลนคร
คาเฟ่เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์
เวลา 10.00-16.00 น.
ที่พักเปิดบริการทุกวัน
(จองล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง)

ออกแบบ: คุณธีรินทรา ศิริสวัสดิ์ และคุณอารยา เลิศมหาวงศ์

เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: อภินัยน์ ทรรศโนภาส, กรานต์ชนก บุญบำรุง


The Indigo Loom House ผสานบ้านและกี่ทอผ้า สู่สถาปัตยกรรมที่สืบสานวิถีชุมชน