คุยกับ สถาปนิก JUN SEKINO เรื่องบ้านโครงสร้างเหล็ก - room life

คุยกับสถาปนิก JUN SEKINO เรื่องบ้านโครงสร้างเหล็ก

room ชวนคุยกับ สถาปนิก JUN SEKINO เรื่องบ้านโครงสร้างเหล็ก

สไตล์การตกแต่งบ้านสุดฮิตอย่างอินดัสเตรียลล็อฟต์นั้นดูเหมือนจะทำให้บ้านหรืออาคารที่เปิดเปลือยผิวโครงสร้าง และวัสดุได้รับความนิยมตามไปด้วย และบ้านโครงสร้างเหล็กก็กลายเป็นบ้านในฝันของใครหลายๆ คน

งานนี้ คุณจูน เซคิโน แห่ง JUNSEKINO Architect and DESIGN  สถาปนิกหนุ่มเจ้าของหลากหลายผลงานบ้านโครงสร้างเหล็กสุดโดดเด่นให้เกียรติมาพูดคุยถึงการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กในการออกแบบบ้าน บอกเล่าสั้นๆ ให้เราเข้าใจธรรมชาติของวัสดุก่อนเลือกใช้ และข้อควรคำนึงถึงต่างๆ ที่บรรดาคนรักสไตล์อินดัสเตรียลต้องรู้

 เจ้าของ-ออกแบบ : คุณวสันต์-แพทย์หญิงกาญจนา ติรางกูร
ออกแบบ-ตกแต่ง : คุณจูน เซคิโน Junsekino Architect and Design
อ่านต่อ : TINMAN HOUSE

 

  • เหตุผลหลักในการเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก

“หลายๆ โครงการผมเลือกใช้โครงสร้างเหล็กตามความต้องการของเจ้าของบ้าน เนื่องจากโครงสร้างเหล็กจะทำให้งานออกแบบดูเฉียบคม ตรงไปตรงมาต่างจากคอนกรีต แต่บางโครงการก็เลือกใช้เหล็กเพราะเรื่องของเวลาเป็นหลัก เนื่องจากเหล็กใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยกว่ามาก หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหา เนื่องจากบางพื้นที่ก่อสร้างไม่เหมาะกับการใช้โครงสร้างคอนกรีต”

 

  • ข้อได้เปรียบของการใช้โครงสร้างเหล็ก

“นอกจากจะใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยกว่าแล้ว เนื่องจากเป็นระบบการก่อสร้างแบบแห้ง สถาปนิก และวิศวกรจึงสามารถตรวจสอบการประกอบ และคุณภาพในการก่อสร้างได้ง่ายกว่า ในส่วนของการออกแบบ การใช้เหล็กจะช่วยให้โครงสร้างดูโปร่งเบากว่าโครงสร้างคอนกรีตประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์”

JUN SEKINO

“ตัวอย่างเช่น ห้องเรียนพอดีพอดี ที่ร่วมมือกับ Design for Disaster (เครือข่ายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการกับภัยพิบัติ) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เชียงราย โครงการนี้ก็เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหา เราใช้เวลาออกแบบน้อย วัสดุก่อสร้างอย่างเหล็กมาจากการบริจาค เรามีวัตถุดิบอะไร เราก็ใช้อย่างนั้น ซึ่งเหล็กมีข้อดีคือ ขนย้ายง่าย ตรววจสอบคุณภาพง่าย ติดตั้งเร็ว ทั้งยังมีความยืดหยุ่น รองรับแผ่นดินไหวได้ค่อนข้างดี ผมคิดว่าเหมาะสมมากที่ใช้เหล็กในโครงการนี้ โดยเราพยายามคำนวณใช้งานแบบไม่ให้เหลือเศษเลย”

 

  • ข้อจำกัดที่ควรคำนึงถึง

“แต่ทั้งนี้เหล็กก็มีข้อจำกัดในเรื่องของราคาที่แพงกว่าคอนกรีต 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการก่อสร้าง และที่สำคัญต้องเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่เชี่ยวชาญ และมีความพิถีพิถันในการทำงานเหล็ก เพราะในกระบวนการก่อสร้าง ต้องระวังเรื่องความชื้น ป้องกันการเกิดสนิมเป็นพิเศษ”

“นอกจากนี้ โครงสร้างเหล็กอาจมีการหดหรือขยายตัวของวัสดุ มีการสั่นไหวโดยธรรมชาติของวัสดุ ซึ่งผู้ใช้อาคารก็ต้องเข้าใจตรงจุดนี้ด้วย”

  • ประเมินก่อนตัดสินใจ

“แต่ก่อนจะตัดสินใจใช้โครงสร้างเหล็ก เราต้องประเมินจากความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อน เพราะในการออกแบบโครงสร้างเหล็กใช้เวลานานกว่าโครงสร้างคอนกรีตแน่นอน ต้นทุนก็สูงกว่า แม้ก่อสร้างเร็วกว่าแต่ผู้รับเหมาต้องชำนาญ มีประสบการณ์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ตั้งใจว่าบ้านที่จะสร้างจะมีการรีโนเวท ต่อเติม ขยับขยายในอนาคต ผมก็แนะนำโครงสร้างเหล็กเพราะสามารถปรับเปลี่ยนต่อเติมง่ายกว่าในระยะยาว”

“นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงพื้นที่ก่อสร้างด้วย เหล็กไม่สามารถหล่อขึ้นได้เหมือนคอนกรีต แต่ต้องมีการขนย้าย นำไปตัดเชื่อมทีละจุด ต้องใช้รถเครนยก ดังนั้นต้องให้วิศวกรที่มีประสบการณ์เข้าไปดูว่าทำได้จริงไหม พื้นที่กว้างเพียงพอไหม บางซอยเล็กเกินไปรถเครนเข้าไปไม่ได้ โครงสร้างเหล็กจึงต้องวางแผนมากเป็นพิเศษ นสถาปนิกต้องเข้าใจ และแม่นยำในการปรับใช้เหล็กอุตสาหกรรมมาประกอบกันเป็นงานสถาปัตยกรรม”

 

สถาปนิก JUN SEKINO
ภาพถ่ายบุคคลจาก www.wurkon.com ถ่ายภาพโดย ศุภชัย เกศการุณกุล

อ่านต่อ : 10 บ้านโชว์โครงเหล็ก เรียบง่ายได้อย่างเท่

[คลิก]

 

เรื่อง MNSD
ภาพ JUNSEKINO , แฟ้มภาพนิตยสาร room , ภาพถ่ายบุคคลจาก www.wurkon.com ถ่ายภาพโดย ศุภชัย เกศการุณกุล