BAAN MOOM อีกความหมายของคำว่า “มุม" ในบ้านมุมที่แสนพิเศษ - room life

BAAN MOOM ท่องไปในบ้านมุม

เมื่อพูดถึงคำว่า “มุม” คุณคิดถึงอะไร? บางคนอาจคิดว่าคำนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัว คล้ายกับเป็นพื้นที่ที่มีไว้สำหรับเจ้าของพื้นที่นั้น ๆ วันนี้เราจึงอยากพาคุณมาพบกับ “มุม” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ความหมายของคำว่า “มุม” ของคุณเปลี่ยนไป เมื่อได้มาพบกับอีกมุมที่แสนพิเศษของ แบบบ้านโมเดิร์น “ บ้านมุม” หลังนี้

“บ้านมุม” แสนเท่และน่าอยู่สุด ๆ ของครอบครัวกิจเจริญโรจน์ โดยมีคุณม่อน – สรกิตย์ กิจเจริญโรจน์ เป็นเจ้าของบ้าน อีกทั้งยังควบตำแหน่งสถาปนิกออก แบบบ้านโมเดิร์น หลังนี้ด้วย บ้านนี้ได้รับการออกแบบให้มีความสูงทั้งสิ้น 3 ชั้น ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 101/1 โดยสร้างให้อยู่ติดกับบ้านเดิม มีพื้นใช้สอยภายใน 400 ตารางเมตร แบ่งฟังก์ชั่นออกเป็น 3 ห้องนอนใหญ่พร้อมห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องดูหนัง ห้องทำงาน และห้องครัวไทย ส่วนพื้นที่ภายนอกก็มีพร้อมทั้งสวนสวย และสระว่ายน้ำขนาด 150 ตารางเมตร

บ้านมุมกับบรรยากาศใกล้ค่ำ มีองค์ประกอบที่ลงตัวสุด ๆ ทั้งรูปทรงบ้านที่ดูสะดุดตา การออกแบบช่องปิดและเปิด (Solid & Void) ที่ชัดเจน รวมถึงการเลือกใช้แสงไฟวอร์มไลท์ที่ให้ความรู้สึกโฮมมี่ เสริมให้บ้านยิ่งดูอบอุ่นน่าอยู่ยิ่งขึ้น

        

          “ไอเดียเริ่มแรกของการออกแบบ เกิดจากการคำนึงถึงความชอบในธรรมชาติ และความสนใจในการทำสวนของทุกคนในครอบครัว บวกกับขนาดที่ดินที่เหลืออยู่จากบ้านเดิม จึงออกแบบพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ใช้สอยซ้อนกันในแนวตั้ง และเหลือพื้นที่สวนภายนอกไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ”

          คุณม่อนเล่าการออกแบบบ้านว่าเริ่มจากการวางตำแหน่งของตัวบ้านให้อยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ดิน และจัดให้ด้านที่ติดกับทิศตะวันตกของทุกชั้นเป็นห้องน้ำ เพื่อให้แสงและอากาศภายนอกส่องถึงช่วยกำจัดความอับชื้น และเชื้อโรคต่าง ๆ ส่วนห้องอื่น ๆ วางให้อย่างทิศเหนือ สามารถเปิดมุมมองชมวิวสวนได้ตลอดช่วงกลางวัน

          “ผมออกแบบบ้านให้มี 3 ชั้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน โดยวางแปลนบ้านขนานไปตามขนาดของที่ดิน และวางทิศทางของห้องน้ำให้อยู่ในทิศตะวันตกทั้งหมดนอกจากนี้ยังออกแบบให้สวนมีขนาดกว้างขวางตามความต้องการของคุณพ่อคุณแม่”

H-TheCornerHouse_02
มุมรับประทานอาหารมองเห็นโถงบันไดสไตล์โมเดิร์น ราวบันไดใช้กระจกนิรภัยดูโปร่งไม่ทึบตัน คุมโทนสีทั้งบ้านด้วยสีขาวและสีน้ำตาลของพื้นไม้ตะแบกเคลือบผิวมันกึ่งด้าน
H-TheCornerHouse_07
คุณม่อนนั่งชิล ๆ อ่านหนังสือบนเปลส่วนตัวที่ทำจากตาข่ายสีดำ เป็นมุมพักผ่อนส่วนตัวที่ไม่เหมือนใคร และแสดงลักษณะนิสัย ความชอบของเจ้าของ “มุม” นั่นเอง
H-TheCornerHouse_06
ห้องนอนใหญ่พร้อมห้องน้ำในตัว ผสมผสานการตกแต่งสไตล์โมเดิร์นโอเรียนทัล ดูอบอุ่นน่าพักผ่อน ปูพื้นไม้ตะแบกต่อเนื่องไปยังบริเวณหัวเตียง เรียงไม้เป็นแนวตั้งช่วยพรางตาให้เพดานห้องดูสูงโปร่ง เชื่อมต่อกับบริเวณห้องน้ำด้วยประตูกระจกบานเลื่อนให้ห้องดูกว้าง และยังช่วยสะท้อนทัศนียภาพภายนอกเข้ามาได้ความรู้สึกอีกแบบ

Corners For Sharing And Privacy

          นอกจากการจัดการพื้นที่ที่เกิดจากความเหมาะสมแล้ว ไอเดียที่ได้รับการพัฒนา และกลายเป็นคาแร็คเตอร์ของบ้านหลังนี้ก็คือในส่วนของ “โถงบันไดหลัก” และ “มุม” ของแต่ละชั้น

          ในเรื่องของ “มุม” ซึ่งเป็นชื่อบ้านหลังนี้ ได้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ” มุมส่วนตัว” กับ “มุมส่วนรวม” ทั้งสองมุมเกิดขึ้นจากการจัดวางโถงบันไดหลักที่กลางบ้าน ทำให้พื้นที่ในแต่ละชั้นถูกแบ่งออกเป็นมุมต่าง ๆ “มุมส่วนตัว” จะเป็นส่วนที่แสดงความเป็นตัวตนของสมาชิกแต่ละคน ได้แก่ห้องนอนของสมาชิกแต่ละคน และในส่วนของ “มุมส่วนรวม” จะเป็นส่วนที่เชื่อมต่อมุมส่วนตัวเข้าด้วยกัน และกลายเป็นพื้นที่สำหรับครอบครัว อาทิ ส่วนนั่งเล่นชั้นล่าง เชื่อมต่อกับชานไม้และสระว่ายน้ำภายนอก ส่วนอเนกประสงค์ของครอบครัวบนชั้นสอง และพื้นที่ระเบียงบนชั้นสามเชื่อมต่อไปยังชั้นบนสุดของบ้านใช้พักผ่อนได้ในเวลากลางคืน

         “แม้ลักษณะรูปทรงบ้านจะเป็นกล่อง ดูนิ่ง ๆ เรียบ ๆ แต่เรามาเน้นลูกเล่นที่วัสดุแทน คุณพ่อและคุณแม่ชอบไม้ เพราะเมื่อเดินแล้วจะรู้สึกสบายเท้า อีกทั้งมีโทนสีที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายตา”

          สิ่งที่สังเกตได้ภายในบ้านชั้นล่าง สถาปนิกได้ออกแบบพื้นที่และฟังก์ชันส่วนรวมให้มีความเชื่อมโยงกันโดยไม่กั้นห้อง เช่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องรับแขก นอกจากนี้ ยังเชื่อมกับพื้นที่ภายนอกได้อย่างแนบเนียนด้วยชุดประตูบานเลื่อน ขนาดใหญ่ที่ถูกซ่อนไว้ภายในผนังห้องโฮมเธียร์เตอร์ เป็นการเนรมิตพื้นที่ภายในให้กลายเป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ได้อย่างเฟอร์เฟคท์สุด ๆ แม้ภายในบ้านจะเน้นสีขาว และใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหลัก แต่ก็มีการใช้วัสดุที่มีพื้นผิว และสัมผัสต่างกัน เสริมให้มุมต่าง ๆ ภายในบ้านดูน่าสนใจ และมีเสน่ห์ไม่น้อย

H-TheCornerHouse_05
ช่องแสงรูปสามเหลี่ยมจากหลังคาช่วยให้แสงสว่างกับบ้านในเวลากลางวัน ส่วนช่องเปิดจากภายในห้องนอนทุกห้องช่วยระบายอากาศและความร้อนได้ดี สกายไลท์ขนาดใหญ่ติดกระจกกันความร้อนเอาไว้ ช่วยลดปริมาณของความร้อนที่จะผ่านเข้ามาสู่ตัวบ้านได้อีกทางหนึ่ง
H-TheCornerHouse_04
โถงบันไดหลักรูปสามเหลี่ยมใช้เป็นทางสัญจรหลักของบ้าน ทั้งยังเป็นส่วนเชื่อมโยงสายตาให้ดูต่อเนื่องกัน ประกอบด้วยบันไดหลัก ช่องแสงบนหลังคารูปสามเหลี่ยม และบานหน้าต่างของแต่ละห้อง ถือเป็นไฮไลท์หนึ่งของบ้านเลยก็ว่าได้ นอกจากจะเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ของแต่ละชั้นแล้ว ยังเชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกในบ้านอีกด้วย
H-TheCornerHouse_03
โถงบันไดทางขึ้นสู่ชั้นสอง มองเห็นทัศนียภาพรอบบ้านได้ทั่วถึง อีกทั้งแสงที่ส่องลงมาจากสกายไลท์ด้านบนยังให้อารมณ์และความรู้สึกแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาด้วย
H-TheCornerHouse_08
ห้องทำงานและห้องนอนตกแต่งสไตล์ลอฟต์ เชื่อมต่อกันด้วยดับเบิ้ลสเปซสามารถเข้าได้จากชั้น 2 และชั้น 3 แถมยังมีบันไดพิเศษส่วนตัวเชื่อมห้องทำงานกับห้องนอนไว้ด้วยกันปูพื้นแบบเว้นร่องด้วยไม้ตะแบกย้อมสีเข้มในห้องทำงาน ส่วนห้องนอนเลือกใช้สีอ่อนกว่าเพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่น น่าพักผ่อน
H-TheCornerHouse_09
บรรยากาศบนดาดฟ้าออกแบบให้ดูเฉียง เพราะเวลามองจะเห็นท้องฟ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งใจเปิดมุมมองเข้าหาเมือง เพื่อให้สามารถชมวิวยามค่ำคืนของกรุงเทพฯได้กว้างไกล
H-TheCornerHouse_10
เปลี่ยนผนังห้องที่เคยเรียบโล่งให้มีลูกเล่นเก๋ ๆ ด้วยการทำบิลท์อินตู้โชว์และตู้เก็บของให้ดูกลมกลืนไปกับพื้นและผนังกรุไม้ตะแบกเล่นลายกราฟิกแนวเฉียง ได้มุมมองแปลกตาเข้ากับคอนเซ็ปต์ของบ้านไม่น้อย
H-TheCornerHouse_11
“ผมคิดว่าเราสามารถทำโถงบันไดให้สวยและมีฟังก์ชันการใช้งานที่ดีได้ โดยด้านบนทำหลังคาสกายไลท์ใช้กระจกกันความร้อน ผลที่ได้คือ ช่วงเวลากลางวันบ้านจะสว่างและไม่ร้อน โดยไม่ต้องเปิดไฟหรือเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งตลอดวันแสงที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลายังเปลี่ยนให้มู้ดของบ้านดูสวยงามแตกต่างกันด้วย”
H-TheCornerHouse_12
ห้องครัวสไตล์โมเดิร์น ใช้สเตนเลสเป็นหลักเพราะทนทานและดูทันสมัย ส่วนด้านหลังเป็นครัวไทยสำหรับทำอาหารแบบจัดเต็ม โดยมุมนี้ถือเป็นมุมโปรดของคุณพ่อ ผู้รักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ
H-TheCornerHouse_13
มุมมองจากห้องรับแขกสามารถมองเห็นสวนภายนอกได้เต็มตา เพราะสามารถเปิดประตูบานเลื่อนได้รอบไม่ลืมติดผ้าม่านโปร่งสีขาวเพื่อกรองแสงอีกชั้น

          สำหรับแนวทางการจัดสวนนั้นคุณม่อนเล่าว่าเน้นจัดสวนสไตล์โมเดิร์น โดยเชื่อมต่อพื้นที่บ้านเก่ากับบ้านใหม่เข้าด้วยกัน และเน้นการเชื่อมพื้นที่ข้างในและข้างนอกให้สัมพันธ์กันมากที่สุด สร้างความเขียวสดชื่นด้วยการปลูกหญ้ามาเลเซีย โรยกรวด ปลูกต้นหลิวริมรั้ว ส่วนรั้วหน้าบ้านปลูกไทรเกาหลีชิดริมรั้ว ทำให้เกิดเป็นเนกาทีฟของรั้วปูนและสีเขียว กลายเป็นรั้วเท่ๆไม่ว่าจะมองจากริมถนนเข้ามาหรือมองออกไปจากบ้าน ส่วนไม้พุ่มเตี้ยนั้นเน้นปลูกพันธุ์ไม้ที่ให้กลิ่นหอม อย่าง พุดพิชญา มะลิ กุหลาบ จัดวางสระว่ายน้ำขนานไปกับตัวบ้าน เพื่อสามารถชมวิวได้จากภายในบ้านและนอก บริเวณริมรั้วใกล้สระน้ำจะพบกับต้นสาระ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์เด่นของบ้านก็ว่า เพราะ เป็นต้นไม้ที่ถูกโฉลกกับคุณพ่อ ปลูกไว้เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับบ้าน

          เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม “บ้านมุม” หลังนี้ จึงมีเรื่องราวของครอบครัวที่อบอุ่น มีที่มาที่ไปและสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์คำว่า “มุม” อย่างลงตัวแบบจัดเต็มสุด ๆ


เรื่อง : Sara’
ภาพ : นันทิยา บุษบงค์, ปรัชญา จันทร์คง, คุณวิสันต์ ตั้งธัญญา