4. ชุมชนเชียงยืน “ชุมชนสร้างสรรค์ รัฐช่วยสร้างเสริม”
ถนนสนามกีฬา ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้่ง ปี พ.ศ. 2554
ชุมชนเชียงยืนตั้งอยู่บนน้ำ โดยมีวัดเชียงยืนเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชนมาช้านาน กำแพงวัดก็มาจากการขุดดินในชุมชนมาทำเป็นอิฐ แต่ก่อนชุมชนและวัดมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผู้คนปลูกสร้างบ้านเรือนในพื้นที่ของทางวัดและอยู่กันอย่างดีจนเกิดเป็นชุมชนขึ้น ต่อมาเมื่อมีการกำหนดพื้นที่ธรณีสงฆ์ ผู้อยู่อาศัยเดิมจึงประสบปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะไม่มีโฉนดที่ดินอย่างถูกต้อง ต่อมากลุ่มผู้เดือดร้อนจึงรวมตัวกันในนาม “กลุ่มออมทรัพยชุมชนเชียงยืน” ซึ่งมีทั้งหมด 37 หลังคาเรือน
ในเวลาต่อมาสถาบันพัฒนาองค์กรณ์ชุมชน (พอช.) ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนผ่านโครงการบ้านมั่นคง โดยสร้างกระบวนการในการสำรวจและบ่งชี้ปัญหาต่างๆของชุมชนขึ้น เพื่อให้มองเห็นสภาพปัญหาในชุมชนได้ชัดขึ้น โดยการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งผลักดันให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเหตุผลในการขอรับการอนุมัติงบประมาณต่างๆในการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ ทั้งระบบสาธารณูปโภค บ่อบำบัดน้ำเสีย ที่อยู่อาศัย สวัสดิการ รวมทั้งงบประมมาณในการปรับปรุงและการสร้างสิ่งต่างๆในชุมชน โครงการออมวันละบาทคือหนึ่งในกลไกที่เกิดขึ้น
เมื่อคนในชุมชนร่วมใจกันพัฒนาและพูดคุยก็เกิดความเข้มแข็ง ทำให้กลับมาเป็นชุมชนที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีสังคมเพื่อนบ้านที่แข็งแรงดังเดิมในที่สุด
จุดเด่น การช่วยกันพัฒนาชุมชนทั้งในเชิงกายภาพและเชิงโครงสร้างการเงินของชุมชน เมื่อปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขและป้องกัน ที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเกิดจากความสามัคคีของทุกคนในชุมชน
หัวใจของชุมชน การทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับองกรณ์พัฒนาชุมชนสามารถบ่งชี้ปัญหาและสร้างกลไกในการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญคือความร่วมมือและเปิดใจเพื่อเริ่มแก้ปัญหาที่มีไปตามลำดับ
จากใจผู้อยู่อาศัย “พอเราดูแลสภาพแวดล้อม ปลาก็มาเอง เมื่อก่อนเราไม่เห็น เพราะขยะเต็มไปหมด แต่พอเราช่วยกันเอาขยะออกหมด น้ำก็กลับมาดี มีปลามาอยู่ ยุงก็น้อยลง เพราะปลามันช่วยกินลูกน้ำ อะไรๆก็ดีขึ้น”
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชุมชน หากทุกคนในชุมชนยื่นมือช่วยเหลือคนละเล็กละน้อย ก็ไม่มีปัญหาอะไรยากเกินกว่าที่จะแก้ไข
5. ชุมชนบ้านข้างวัด “สร้างชุมชน สร้างคน สร้างงาน”
ซอยวัดอุโมงค์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้ง ปี พ.ศ. 2556
บ้านข้างวัด คือ ชุมชนเล็กๆของคนทำงานคราฟต์ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดร่ำเปิง ภายในประกอบด้วยอาคารที่มีลักษณะเหมือนบ้านไม้กึ่งปูนทั้งหมด 13 หลัง ซึ่งวางตัวล้อมรอบลานกิจกรรมและสนามหญ้าของชุมชน โดยมีทางเดินเชื่อมบ้านแต่ละหลังเข้าด้วยกัน อาคารทุกหลังจะเปิดพื้นที่ในชั้นล่างเป็นหน้าร้านและสตูดิโอทำงานฝีมือของตัวเอง ซึ่งบางบ้านก็ขายอาหาร เครื่องดื่ม และของที่ระลึกด้วย
สำหรับจุดเริ่มต้นของที่นี่มาจาก คุณบิ๊ก – ณัฐวุฒิ ศิลปินที่เปิดร้านเซรามิกบุกุสตูดิโอ ตั้งใจอยากให้บ้านข้างวัดแห่งนี้เป็นพื้นที่รวมคนที่ชอบงานคราฟต์เหมือนๆกัน ปัจจุบันเขาทำหน้าที่เป็นคนวางแนวคิดและออกแบบสถานที่ โดยหลักในการสร้างชุมชนที่นี่นั้นได้ยกเอาลักษณะสังคมหมู่บ้านสมัยเก่าที่ทุกคนต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความสามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาประกอบกับหลักการทางธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้คนทำงานคราฟต์ได้มีพื้นที่ในการสื่อสารและนำเสนอผลงานของตัวเองได้ง่ายและกว้างขวางยิ่งขึ้น
จุดเด่น การรวมกันของคนทำงานคราฟต์หลากหลายรูปแบบ ทำให้บ้านข้างวัดมีกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานแสดงละคร ภาพถ่าย และผลงานศิลปะจัดวางที่มีศิลปินแวะเวียนมาร่วมจัดแสดง รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำผลงานศิลปะของตนเองมาจัดแสดงให้บุคคลทั่วไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้ชมกันด้วย
หัวใจของชุมชน ความถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้โอกาส และเปิดกว้างทางความคิด ทำให้เหล่าคนทำงาน คราฟต์สามารถยืนอยู่บนกระแสทุนนิยมได้อย่างไม่เดือดร้อนมากนัก เมื่อเทียบกับการพยายามสื่อสารและนำเสนอผลงานแต่เพียงลำพังในมุมมองแบบศิลปิน ที่นี่มักให้โอกาสศิลปินหน้าใหม่ได้มีพื้นที่ของตัวเองเพื่อสร้างฐานลูกค้าให้อยู่ได้เสียก่อน สำหรับชุมชนแห่งนี้ การรวมตัวกันโดยนำสิ่งที่รักมาแบ่งปันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าธุรกิจ
จากใจผู้อยู่อาศัย “เมื่อเราอยู่ด้วยกัน เราก็จะเห็นว่ามีพี่หรือน้องคนไหนที่ไม่ไหว ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือกันได้ หรือเมื่อเราเห็นเพื่อนบ้านที่ทำงานสวยๆออกมา ก็เป็นตัวเปรียบเทียบให้เกิดแรงผลักดันให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกันมากกว่าเดิม”
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชุมชน การดำเนินธุรกิจไม่ใช่มีแต่เพียงขาดทุนและกำไร แต่ต้นทุนทางกำลังใจก็ช่วยผลักดันให้ชุมชนสามารถเดินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
6. ชุมชนเวิ้่งมาลัย “ชุมชนที่เกิดจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิด”
ซอยวัดอุโมงค์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้ง ปี พ.ศ. 2554
เวิ้งมาลัยเป็นชุมชนเล็กๆที่อยู่ภายใต้บรรยากาศบ้านพี่เรือนน้องในเขตรั้วเดียวกัน ซึ่งบ้านแต่ละหลังมีกิจการแตกต่างกันไป เริ่มต้นโดย คุณกุ้ง – มาลัย สัญกาย ที่เปิดร้าน Communista เพื่อจำหน่ายสินค้าทำมือสีสันสดใส ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ และของแต่งบ้าน ซึ่งเป็นงานแพตช์เวิร์คและงานปักจากผ้าฝ้ายโดยฝีมือของคนในชุมชนตามไอเดียการออกแบบของคุณกุ้ง ซึ่งรายได้ของร้านกว่าครึ่งคุณกุ้งได้นำไปสนับสนุนให้มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือที่เธอทำงานอยู่อีกด้วย
ต่อมาเมื่อเพื่อนๆของคุณกุ้งอยากมีพื้นที่ทำร้านของตัวเอง เธอจึงเปิดพื้นที่ในบ้านให้เพื่อนๆได้สร้างสรรค์ร้านของตัวเองบ้าง อย่างร้าน Jyn Tana ซึ่งเป็นงานปักผ้าฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์แนวโมโนโทนร่วมสมัย และร้าน Paper Spoon ซึ่งให้บริการเครื่องดื่มและขนมง่ายๆ ส่วนด้านในสุดยังเป็นร้าน Hand Room ที่ขายสินค้าสำหรับเด็ก และมีพื้นที่จัดนิทรรศการเล็กๆสำหรับพื่อนๆที่อยากแสดงผลงาน
แม้ที่นี่จะจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย แต่เป้าประสงค์ของคุณกุ้งคือการได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่รักและเพื่อนๆที่มีจุดประสงค์ของชีวิตคล้ายๆกัน ที่นี่จึงแทบไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร แม้จะผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว เพราะความพอดีของชีวิตที่เรียกว่าความสุขมักจะอยู่ระหว่างมากไปกับน้อยไป คุณกุ้งและเพื่อนๆจึงหวงแหนพื้นที่ที่ “พอดี” ตรงนี้ไว้อย่างดี และในอนาคตก็จะมีอีกหนึ่งบริการนั่นคือที่พักโฮมสเตย์สำหรับผู้สนใจชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้ สามารถมาพักเหนื่อยและลองเรียนรู้วิถีแบบเวิ้งมาลัยได้เช่นกัน
จุดเด่น ชุมชนแห่งนี้อยู่กันด้วยความเรียบง่ายอย่างแท้จริง ด้วยความเข้าใจในปัจจัยแห่งชีวิตที่ถ้าไม่ต้องการสิ่งที่มากเกินไป ความพอเพียงก็บังเกิด หากว่าความสุขง่ายๆนั้นมีอยู่จริง เราคงค้นพบสิ่งนั้นได้ไม่ยาก ณ เวิ้งมาลัยแห่งนี้
หัวใจของชุมชน ความเข้าใจในเป้าหมายของชีวิตที่ตรงกัน ทำให้คำว่า “เพื่อน” พัฒนาไปสู่ความเป็นครอบครัว
จากใจผู้อยู่อาศัย “ในเวิ้งนี้เป็นเรื่องของสายสัมพันธ์แบบมิตรภาพมากกว่า ทุกคนได้มีพื้นที่ทำอาชีพของตัวเอง จะเรียกว่าส่งเสริมกันก็ได้ แต่มันไม่ใช่เรื่องเงิน เราอยู่ร่วมกันด้วยเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้น”
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชุมชน การดำเนินไปของชุมชนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเสมอไป เมื่อค้นพบความสุขที่ต้องการแล้ว ก็เพียงแค่ใส่ใจที่จะรักษาเอาไว้ให้ดีก็พอ
เรื่อง : ใจบ้านสตูดิโอ ฮอมสุข สตูดิโอ และวุฒิกร สุทธิอาภา”
เรียบเรียง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
ภาพประกอบ : ฮอมสุข สตูดิโอ