room พาชม สตูดิโอออกแบบ กรุ่นกลิ่นไม้ย่านศรีนครินทร์ของคุณภาคภูมิ (นานุ) ยุทธนานุกร พร้อมพูดคุยกับวู้ดเมกเกอร์ที่หลงรักในทุกมิติของวัสดุ “ไม้” จนนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่ม Grains & Grams แพลตฟอร์มที่รวบรวมเพื่อน ๆ “คนทำงานไม้” เพื่อช่วยกันกระจายเสียงให้ผู้คนทั่วไปได้รับฟัง “เสียงของไม้” ในแบบที่พวกเขาได้ยินมาตลอด
หากพูดถึงงานไม้ คนส่วนใหญ่มักนึกถึง เฟอร์นิเจอร์ไม้ และอาจให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ หรือฟังก์ชันการใช้งานมากกว่าที่จะมองถึงชนิดของไม้ เเละคุณค่าความงามจากผิวสัมผัส แต่สำหรับกลุ่มวู้ดเมกเกอร์ Grains & Grams แล้ว เเม้กระทั่งลวดลายของเสี้ยนไม้ พวกเขายังมองเห็นถึงความงามเเละให้ความสำคัญ จนเป็นเสมือนหัวใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
“คนเราพยายามสร้างกฏเกณฑ์อะไรมากมายเพื่อบ่งบอกสไตล์การออกแบบในแต่ละยุคสมัย แต่พอผมได้ทำงานออกแบบกับไม้ ผมพบว่าไม้เป็นวัสดุที่มีเสียงของเขาเอง เขาเติบโตมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่พอคนจะออกแบบก็เริ่มเอากฏเกณฑ์ความต้องการของตัวเองมาใส่ในไม้มากเกินไป ผลลัพธ์จึงกลายเป็นดีไซน์ที่คนต้องการบอกเล่า โดยไม่เหลือความเป็นไม้เลย”
และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ สตูดิโอออกแบบ ของคุณภาคภูมิเต็มไปด้วย “ไม้เก่า” เพราะสำหรับเขาแล้ว ไม้เป็นได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไปจนถึงประติมากรรม แต่อัตลักษณ์เฉพาะตัวของไม้เก่าแต่ละชิ้นนี่เองที่บอกเป็นนัยว่า เขาควรสร้างสรรค์อะไร และทำให้หลาย ๆ ผลงานที่ผ่านมือของเขามีเพียงชิ้นเดียวในโลก
“งานไม้ของผมเป็นสิ่งที่สะท้อนธรรมชาติของไม้ ผมพยายามเลือกใช้ไม้ที่มีร่องรอยของตัวเอง อย่างไม้เก่าที่อยู่ในน้ำมาเป็นสิบยี่สิบปี น้ำกับกาลเวลาได้กัดกร่อนเเละสร้างร่องรอยจนไม้กลายเป็นรูปทรงใหม่ ซึ่งผมว่าน่าสนใจกว่าการที่คนเราไปนำไม้มาทำเป็นสิ่งที่เราต้องการเสียอีก”
หากถามถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นวู้ดเมกเกอร์ คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงงานกราฟิกอยู่นานพอสมควร วันหนึ่งเขาได้ตัดสินใจเริ่มบทใหม่ของชีวิตด้วยการเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Social Design ที่ Design Academy Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นหลักสูตรการออกแบบเพื่อสังคม โดยใช้หลากหลายศาสตร์การออกแบบในการสื่อสารและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ตั้งแต่ประเด็นเล็ก ๆ ไปจนถึงประเด็นระดับโลก
“ตอนนั้นผมอยากหลุดจากวงจรชีวิตที่เป็นอยู่ เพราะรู้สึกว่าการทำงานกราฟิกไม่ได้พาเราไปสู่เป้าหมายของชีวิตอย่างที่ต้องการ เลยเลือกเรียน Social Design เพราะดูเป็นเรื่องที่มีความหมาย เเละมีอุดมการณ์ ในปัจจุบันนักออกแบบเรียนจบมามักจะไปทำงานให้เเก่ระบบอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันโลกของเราก็ยังมีปัญหาที่รอการช่วยเหลืออีกมากมาย เราควรใช้พื้นฐานด้านศิลปะ หรือการออกแบบมาช่วยแก้ปัญหาเเละสร้างการตระหนักถึงอะไรบางอย่าง งานที่ออกมาส่วนใหญ่ของผมจึงเป็นไปในแนวทางศิลปะมากกว่าดีไซน์”
ก่อนเดินทางไปเรียนคอร์สนี้ คุณภาคภูมิได้มีโอกาสรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับทักษะงานไม้กับครูพิษณุ นำศิริโยธิน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาค้นพบว่าตัวเองว่าหลงรักวัสดุนี้เเค่ไหน จนนำมาสู่การตั้ง สตูดิโอออกแบบ ที่มาพร้อมเวิร์กชอปไม้แบบครบวงจร
“เวิร์กชอปนี้เกิดจากความเคยชินของเรา ตั้งแต่สมัยที่คลุกคลีอยู่ในช็อปของครูณุ เราเลยชินกับเครื่องไม้เครื่องมือ จริง ๆ แล้วเหล็กก็เป็นวัสดุที่ชอบนะ แต่ลึก ๆ ชอบไม้มากกว่า”
“นั่นคงเป็นเพราะเราเจอเสียงของตัวเองในงานไม้ เรารู้สึกมีตัวตนในงานไม้”
ทุกวันนี้ สตูดิโออกแบบ ของคุณภาคภูมิทำงานทั้งในฐานะศิลปิน ดีไซเนอร์ และวู้ดเมกเกอร์ โดยมีผลงานการออกแบบในแขนงต่าง ๆ เข้ามาผสมผสาน ทั้งงานกราฟิก ไปจนถึงงานอินสตอลเลชั่นอย่าง งาน Pavilion 330 โครงสร้างไม้ไผ่บริเวณท่าแพอีสต์ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ส่วนหนึ่งของงาน Chiang Mai Design Week 2016 , พาวิเลียน The Cloud Temple ในงาน Wonderfruit 2017 และที่โดดเด่นอีกหนึ่งงานคือคอลเล็กชั่นงานคราฟต์ที่สอดแทรกแนวคิดความงามของงานไม้ไว้อย่างลึกซึ้ง
ในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่ม Grains & Grams ร่วมกับ คุณลิเดีย วอยด้า เขาจึงหมายมั่นให้เครือข่ายศิลปินงานไม้นี้ ช่วยสื่อสารกับผู้คนที่เห็นคุณค่าของงานไม้ในวงกว้าง และเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับวู้ดเมกเกอร์ ที่ตอบโจทย์ระหว่างศิลปะและธุรกิจได้ในระยะยาว
“จริง ๆ ผมอยากจะหาอาชีพจากงานไม้ แต่การจะขายผลงานก็ไม่ใช่ว่าจะขายให้ใครก็ได้ ต้องเป็นลูกค้าที่เข้าใจงานของเราในระดับหนึ่ง อยากให้ Grains & Grams เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้วู้ดเมกเกอร์ในเครือข่ายมีที่นำเสนอผลงานทางออนไลน์ เข้าถึงคนในวงกว้างขึ้น เราพยายามสื่อสารไปถึงคนที่ชื่นชอบงานไม้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะชอบฟอร์ม ชอบฟังก์ชัน หรือชอบงานศิลปะ”
ชมผลงานของศิลปินในกลุ่ม Grains & Grams