CREATIVE CREWS ออฟฟิศออกแบบที่มุ่งสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อส่งมอบความสุข
creative crews

CREATIVE CREWS กลุ่มนักออกแบบที่มุ่งสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อส่งมอบความสุขแก่ผู้ใช้

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเรามีนัดกับสองหัวเรือใหญ่แห่ง Creative Crews ที่ตึกแถวคูหาลึกสุดในตรอกเล็ก ๆ ภายในชุมชนโชฎึกย่าน “ตลาดน้อย” ตึกแถวเก่าความสูง 6 ชั้น (+1 ชั้นลอย) จำนวน 2 คูหาติดกันนี้เองที่ทำให้พวกเขาเลือกที่จะตัดสินใจเลิกเช่า แล้วย้ายออกมาจากสำนักงานเก่าย่านเอกมัย มาซื้อตึกนี้เพื่อลงหลักปักฐานเป็นการถาวร

Creative Crews ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดย คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ และ คุณเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ รวมกลุ่มนักออกแบบหลายสิบชีวิตที่ทำงานออกแบบในหลากหลายขนาดและประเภท ตั้งแต่สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม ชุมชน และผังเมือง 

ถึงแม้ Creative Crews จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นานนัก แต่ประสบการณ์ด้านการทำงานของสองสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งนั้นไม่ใช่มือใหม่แต่อย่างใด คุณปุยฝ้ายสั่งสมประสบการณ์มามากกว่า 10 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพของเธอกับบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมชั้นนำของเอเชียอย่าง WOHA ที่สิงคโปร์ ในปี 2006 รวมถึงยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง WOHA (Thailand) ขึ้นในปี 2008 (ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น Somdoon Architects ในภายหลัง) ในขณะที่คุณเอกฉันท์ก็ผ่านการทำงานกับบริษัทออกแบบในสิงคโปร์อย่าง W Architects มาก่อนและยังมีประสบการณ์ทำงานด้านการออกแบบหลากหลายขนาดและประเภท ล่าสุดเขาเพิ่งกลับมาจากการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้าน Urban Design จาก ETH Zurich

หากเอ่ยชื่อผลงานของ Creative Crews เชื่อว่าหลาย ๆ โครงการต้องคุ้นหูหรือเคยผ่านตาทุกคนมาบ้างแน่นอน ไล่ตั้งแต่อาคารสำนักงาน FYI Center และโรงแรม Modena Hotel ย่านคลองเตย,  Bank of Thailand Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย แห่งแรกของประเทศ รวมถึง AHSA ฟาร์มสเตย์ที่สร้างจากไม้เก่าในตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ที่สมควรเผยแพร่ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการ ASA Emerging Architecture Award 2019 ที่ประกาศไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นต้น

ภายใต้จุดมุ่งหมายให้ผู้ใช้งานมีความสุขกับสถาปัตยกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้น  บทสนทนาระหว่างเราในวันนั้นยังมีคำอธิบายที่บ่งบอกแนวคิดและความสนใจต่องานออกแบบเพื่อพัฒนาบริบทของสังคมให้ดีขึ้นอีกมากมาย นับจากบรรทัดนี้ไป คุณจะมีโอกาสได้รู้จักตัวตนของสองผู้นำแห่ง Creative Crews มากขึ้น

/ ตึกเก่ามันไม่ใช่มือถือ
ที่อยู่ดี ๆ เราจะโยนทิ้ง
แล้วก็ซื้อเครื่องใหม่ได้ /

เล่าให้ฟังได้ไหมว่าแนวคิดและวิธีการทำงานของ Creative Crews เป็นอย่างไร

ปุยฝ้าย : “แล้วแต่จังหวะเวลา เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเขา (ลูกค้า) มีปัญหาให้เราแก้ เราก็เริ่มดูจากปัญหาก่อน หรือถ้าเป็นโจทย์จากการประกวดแบบ มันจะเปิดกว้าง แล้วเราจะไม่มีบทสนทนา หรือไม่ได้พูดคุยกับลูกค้าก่อน เขาให้โจทย์ ให้ TOR มา อันนั้นเราก็ทำรีเสิร์ชกันเอง Brainstorm ในออฟฟิศแล้วเริ่มงานเลย แต่โดยปกติแล้วถ้าเป็นแบบอื่น ถ้ามีลูกค้า เราจะคุยกับลูกค้าก่อนว่าเขาอยากได้อะไร หรือมีปัญหาอะไรให้เราแก้ เราจะดูว่าปัญหาอะไรที่สำคัญที่สุด ปัญหาและศักยภาพเป็นคำเดียวกัน ปัญหาที่มีเราจะมาดูเราจะหาวิธีแก้ได้ยังไง”

เอกฉันท์ : “เราพยายามทำงานที่หลากหลาย เราทำตั้งแต่สเกล 130 ตารางเมตร ไปจนถึง 1.3 แสนตารางเมตร โลกมันกำลังมุ่งหน้าไปสู่ความหลากหลายในการใช้งานมากกว่าแค่ Type เดียว เราพยายามมองในมุมของเมืองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ช่วงหลังที่เราสนใจเป็นพิเศษคือการพัฒนาอาคารเก่า เรามองว่าเมืองไม่ใช่ทุบแล้วสร้างใหม่ตลอด มันสามารถอยู่กับของเดิม ต่อยอดจากของเดิมได้  อย่างโปรเจ็กต์ล่าสุดก็คือ BOT ของแบงค์ชาติ ที่เราไปรีโนเวตอาคารเก่า หรือว่าทำออฟฟิศตัวเองก็เป็นรีโนเวตอาคารเก่า ซึ่งตึกแถวมันเป็น Typology เก่าที่มีอยู่เยอะ โดยเฉพะในกรุงเทพฯ มันมีศักยภาพที่จะใช้งานแบบ mix-used มากกว่าแค่ Type เดียว”

ปุยฝ้าย : “คนมักจะพูดกันเรื่อง Sustainability เรื่องสิ่งแวดล้อม จะทำอย่างไรให้มันประหยัดทรัพยากร ในแง่ของเราก่อนที่เราจะเริ่มต้นไปดูระบบที่เป็น Active คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้เราใช้พลังงานน้อยลง จริง ๆ เราน่าจะดูจากสิ่งที่เรามีอยู่ก่อน อย่างเมืองทีเริ่มมีตึกเก่า หรือสาธารณูปโภคเดิมอยู่ จริง ๆ เวลาเราสร้างขึ้นมามันสามารถอยู่ได้ถึง 30, 40, 50 ถึง 70 ปีเลยนะ แต่พอ used มันเปลี่ยนไป ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป มันก็ไม่ได้รับการใช้งานตามสภาพที่มันควรจะเป็นเหมือนเมื่อก่อน แล้วเราจะทำยังไงกับมัน

“ตึกเก่ามันไม่ใช่มือถือ ที่อยู่ดี ๆ เราจะโยนทิ้งแล้วก็ซื้อเครื่องใหม่ จริง ๆ มือถือก็ไม่ควรจะโยนทิ้งแล้วซื้อเครื่องใหม่นะ เราจึงคิดว่าการรีโนเวตอาคาร หรือดูว่าจะทำอย่างไรกับสถาปัตยกรรมหรือตึกเก่า มันเป็นเรื่องของอนาคตที่เราจะต้องพยายามทำ ต้องพยายามศึกษาหาวิธีแทรกการใช้งานให้อาคารเก่ามันเกิด used, สร้างโปรแกรมให้อาคารเก่ามันใช้ได้ แทนจะทุบทิ้งอย่างเดียว คือมันต้องทุบบ้างบางส่วน เพื่อปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนให้มันดีขึ้น อันนั้นก็จริง แล้วมันก็ควรจะดูว่าจะทำอย่างไรกับมันได้”

Creative Crews Office แบบสำนักงาน
CC Office จากแนวคิดเรื่องเมืองไม่ควรทุบสร้างใหม่ตลอด หากควรต่อยอดพื้นที่เดิมให้เกิดฟังก์ชันหลากหลาย สองหัวเรือใหญ่แห่ง Creative Crews จึงตัดสินใจซื้อตึกแถวสองคูหาติดกันในชุมชนโชฎึกย่านตลาดน้อย เพื่อรีโนเวตเป็นฐานทัพถาวรโดยเก็บเอกลักษณ์ของความเป็นตึกแถวเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งเหล็กดัด หน้าต่างบานเกล็ด ประตูเหล็กยืด ร่องรอยการทุบและสีอาคารเดิม แล้วจึงต่อเติมตกแต่งพื้นที่ด้วยวัสดุง่าย ๆ แต่ว่าใช้งานได้จริง อ่านต่อ: CC Office ผลลัพธ์เชิงทดลองจากประสบการณ์บนตึกแถวเก่าย่านตลาดน้อย

สิ่งใดคือความยากหรือสิ่งท้าทายในการรีโนเวตตึกเก่า

เอกฉันท์ : “ความยาก จริง ๆ ทุกโปรเจ็กต์มันยากหมด การรีโนเวตออฟฟิศเราเองก็ยากเพราะมันเข้าลำบาก”

ปุยฝ้าย : “ตอนยกต้นไม้ (ลำดวน) ขึ้นมา ด้วยความที่มันเป็นไม้ล้อม เราจึงต้องพันตุ้มแล้วยกขึ้นมาพาดไปบนชั้น 5 ให้ยึดกับคาน ใช้คานตึกเป็นรอก มีคนดึงอยู่ข้างล่างเพื่อ safety คนที่อยู่ชั้น 2 คอยดัน แล้วดึงขึ้นมาจนตุ้มมันลอยเหนือระเบียง แล้วค่อยดึงเข้ามาให้มันนอนลง แล้วค่อยเอาตั้ง เราจึงต้องใช้มืออาชีพเป็นคนที่ยก แล้วเราต้องเล็มกิ่งออกเยอะ เพราะมันสูงเลยเพดาน คือด้วยความที่ข้างในมันแสงไม่เยอะ เราจะปลูกต้นไม้ต้นเล็กให้มันโตเป็นต้นใหญ่มันเป็นไปไม่ได้

“อย่างตึกเก่าที่เราอยู่ตอนนี้ถ้าเกิดว่าเราไม่ซื้อ หรือเช่าระยะยาวมันจะเสียค่า fee หรือค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ การที่เราลงทุนรีโนเวตออฟฟิศ มันไม่คุ้มความเสี่ยงเพราะอาจโดนยกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้ ก็เลยคิดว่าถ้าไม่เป็นสัญญาเช่าระยาว 10 ปีขึ้นไปก็ต้องซื้อ อย่างออฟฟิศเก่าที่เอกมัย เรื่องเราจะซื้อตัดทิ้งไปได้เลยด้วยปัญหาเรื่องราคา”

Creative Crews Office
คุณเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ และคุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ กับมุมสังสรรค์บาร์บีคิวใต้ต้นลำดวนบนชั้น 2 ของอาคาร ที่ออกแบบในลักษณะคอร์ตยาร์ดเปิดโปร่งเพดานสูงแบบ Double Volume เป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง

กับ BOT Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นการรีโนเวตตึกเก่า ความยากหรืออุปสรรคของโปรเจ็กต์นั้นคืออะไร เล่าให้ฟังได้ไหม

ปุยฝ้าย : “มันยากทุกขั้นตอน ตอนเราเริ่มทำประกวดแบบข้อมูลที่ได้มามันค่อนข้างจำกัด พอทำแบบไปช่วงก่อสร้างสำหรับเรามันคือช่วงที่ยากลำบากที่สุดในการทำงาน เพราะทำไปเราก็ไปเจอนู่นเจอนี่ ซึ่งแบบที่ทำไปตอนแรกจริง ๆ ก็ไม่ได้ตอบหรือครอบคลุมปัญหาทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง คือมันยังมีปัญหาเรื่องการ Operate อาคารหลังการสร้างเสร็จแล้วอีก ซึ่งโดยปกติดีไซเนอร์หรือสถาปนิกอาจจะไม่ได้เข้าใจมาก เหมือนเราออกแบบอาคารเสร็จแล้วมอบให้ลูกค้า เวลาเราทำอาคารหรือสำนักงาน หรือคอนโดมิเนียมก็ตาม เสร็จแล้วเขาจะมีหน่วยงานที่มาดูแลรักษาอาคาร

“ยิ่งเป็นอาคารสาธารณะ เราอาจจะออกแบบมาสำหรับโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง แต่ในอนาคตมันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง มันอาจเกิดการใช้งานตามฟังก์ชันเดิมที่แพลนไว้แล้วมันไม่เวิร์ก มันต้องเปลี่ยน อันนี้มันสำคัญกว่าแบบตอนแรกที่เราออกแบบมา ดังนั้นมันต้องทำงานร่วมกับลูกค้าให้เข้าใจในการที่จะออกแบบอาคาร หรืออะไรก็ตามให้มันยืดหยุ่นสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและยากที่สุดที่จะต้องเรียนรู้ เพราะมันไม่มีหลักสูตรชัดเจนแน่นอน มันต้องใช้กึ๋นในการคาดเดาอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วพยายามที่จะออกแบบให้มันรองรับ”

“หรือแม้แต่การออกแบบออฟฟิศของเราเอง ความมั่นใจในการออกมาตามหาอาคารเก่า แล้วออกแบบหรือปรับปรุงอาคารให้มันเป็นไปตามที่เรานึกคิด ก็เป็นความมั่นใจที่เราได้มาจากการทำโครงการในหลาย ๆ ประเภท ที่เราทำหรือมีประสบการณ์ตั้งแต่เราเริ่มทำงานมา เราเช่าพื้นที่ทำงานเปิดออฟฟิศร่วม 10 ปี ถ้าซื้อป่านนี้เราได้ตึกนั้นไปแล้ว แต่ว่าตอนนั้นความมั่นใจหรือความกล้าหาญที่จะทำอะไรแบบนี้มันยังไม่มี”

BOT Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อบทบาทหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป อาคารเดิมที่ถูกสร้างมาเพื่อเป้าหมายในอดีตจึงต้องเปลี่ยนแปลงตาม ดังนั้นความท้าทายของทีมออกแบบและปรับปรุงอาคารผู้อยู่เบื้องหลัง นำโดย Creative Crews คือจะทำอย่างไรให้ฟอร์ม สเปซ และฟังก์ชันที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเป็นศูนย์การเรียนรู้ตั้งแต่แรกทลายลงอย่างราบคาบ ให้เหมาะสมกับบทบาทใหม่เอี่ยมที่เปลี่ยนจากพื้นที่ซึ่งเคยถูกปิดให้เปิดกว้างสู่โหมดสาธารณะมากขึ้น อ่านต่อ: BOT Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
BOT Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
อาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ สถาปัตยกรรมจากยุคโพสต์โมเดิร์นที่ยังคงถูกเก็บรักษาเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ โดยเฉพาะส่วนหลังคาคอนกรีตหล่อรูปไข่ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ป้องกันและซับเสียงของเครื่องจักรไม่ให้ดังทะลุออกไปรบกวนภายนอก

เหตุผลสำคัญในการเลือกย่านตลาดน้อยและรีโนเวตตึกแถวเป็นออฟฟิศ Creative Crews Office

เอกฉันท์ :  “เราพยายามเลือกพื้นที่ที่มันเปลี่ยนไม่ได้ เพื่อให้ดูว่าจริง ๆ แล้วมันก็สามารถทำอะไรกับอาคารเก่าได้ หรือว่าพัฒนามันอย่างไร เช่น การนำต้นไม้เข้ามาใส่ในอาคารเก่า”

ปุยฝ้าย : “เราจึงคิดว่าการที่เราหาที่ที่มันเหมาะสม ซึ่งมีการพัฒนาแต่ว่าไม่ได้อยู่ในอัตราเร่งแบบกราฟพุ่งขึ้น มันน่าจะให้เวลาในการพัฒนาหรือว่า insert เราเข้าไปในย่าน ในชุมชน หรือพื้นที่ตรงนั้น แล้วพัฒนาพื้นที่ในฐานะที่เราเป็นคนเข้ามาอยู่ให้มันดีขึ้นในสเกล หรือในระยะเวลาที่เราคิดว่ามันเหมาะสม แบบไม่ใช่ซื้อที่มาเก็งกำไร ซื้อมาขายไป”

“ตอนที่แบงค์ (คุณเอกฉันท์) เกริ่นตอนแรก ก็คือตอนที่แบงค์ไปเรียนแล้วกลับมา เราวางแผนกัน กาง Map พื้นที่ของกรุงเทพฯ ตาม criteria ที่เราวางแผนกันมา คือต้องอยู่ในระยะที่เดินได้จากรถไฟฟ้า หรือ Mass transit และอยู่ในส่วนของย่านนี้ซึ่งเราคิดว่ามีความน่าสนใจ มีความผสมผสานระหว่างส่วนเก่ากับส่วนใหม่ แล้วก็ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการพัฒนาไปเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้ เพื่อให้เนื้อเมืองมันยังคงมีความน่าสนใจไปอีกได้ในระยะเวลาหนึ่ง คนอื่น ๆ ที่เขาเดินเข้ามาโดยเฉพาะลูกค้าที่เข้ามาประชุม หรือน้องนักศึกษาที่ต้องมาเรียนกับเราก็ถามว่านี่ว่าตึกเก่าของพ่อหรอ (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ มันคือความตั้งใจ แล้วก็พยายามมากกว่าจะหาที่ตรงนี้มาได้”

เอกฉันท์ : “นอกจากคนถามว่าตึกเก่าของพ่อใช่ไหม ยังมีคำถามว่านี่เสร็จแล้วเหรอ จริง ๆ มันเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ในหลาย ๆ โครงการ มันจะเกิดคำถามที่คนเกิดความรู้สึกแปลกหรือประหลาด ซึ่งเรามองว่ามันน่าสนใจนะ”

ปุยฝ้าย : “คิดว่าดีกว่าน่าเบื่อ ดีกว่าคาดเดาได้”

Creative Crews Office จากมุมมองด้านหน้าอาคาร
Creative Crews Office จากมุมมองด้านหน้าอาคาร ตึกแถวคูหาลึกสุดในตรอกเล็ก ๆ ที่มีตึกแถวจำนวน 2-3 ตึกเรียงกันอยู่ เราเดินถัดเข้ามาจากศาลเจ้าในพื้นที่ซึ่งอยู่ไม่ห่างนักจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง ภายในชุมชนโชฎึกที่เงียบสงบจนเราเองก็แอบหวั่นว่านี่เรามาผิดที่หรือไม่ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่ดูไม่น่าจะมีออฟฟิศสถาปนิกตั้งอยู่ได้ หรือแม้กระทั่งภาพที่เราคิดไว้ในหัว คือบริเวณชั้นล่างของออฟฟิศต้องมีพนักงานนั่งทำงานอยู่แน่ ๆ แต่หารู้ไม่ นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง

/ มีคนบอกว่าเมืองที่ดี หรือความเป็นอยู่ที่ดี
มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตึก แต่เราไม่เชื่อ!
เราเชื่อว่าตึกมันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ /