ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่กำลังจะเปิดใหม่ ARTISAN AYUTTHAYA - room
ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา

ARTISAN AYUTTHAYA สถาปัตยกรรมบล็อกแก้วที่สถาปนิกและธรรมชาติร่วมกันออกแบบ

ใครกำลังมองหา ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ในช่วงหยุดยาว นี่คือ ที่เที่ยวอยุธยา ที่กำลังเข้าคิวแล้วเสร็จเป็นอีกหนึ่งจุดหมายใหม่

DESIGNER DIRECTORY :
ออกแบบ : Bangkok Project Studio

อีกคราที่ คุณเอส-สรวีย์ วิศิษฏ์โสพา เจ้าของธุรกิจร้านอาหารแกรนด์เจ้าพระญา ลุกขึ้นมาสร้างหมุดหมายสำคัญให้กับบ้านเกิด หลังจากก่อนหน้านี้เธอได้ส่ง ที่เที่ยวอยุธยา ในรูปแบบสถาปัตยกรรมไม้อัดโครงสร้างน็อกดาวน์ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “The Wine Ayutthaya” ไปเป็นทัพหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนและการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนเป็น ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่ประสบความสำเร็จเกินคาดหมายมาแล้ว

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยาTHE WINE AYUTTHAYA จิบไวน์เคล้างานดีไซน์ในกรุงเก่า

สำหรับความตั้งใจครั้งใหม่นี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่คุณเอสได้ไปทำบุญที่วัดในวันพระอยู่เป็นประจำ จึงมีโอกาสได้เห็น “ป้ายาย” ซึ่งเป็นคำที่เธอใช้เรียกแทนตัวคุณป้าและคุณยายผู้อาวุโสในชุมชนตำบลบ้านรุน ที่ต่างตั้งใจทำอาหารดี ๆ ไปตักบาตรถวายพระในตอนเช้า การได้คลุกคลีและพูดคุยกับบรรดาป้ายายในทุก ๆ ครั้ง ทำให้เธอยิ่งรับรู้ได้ว่าป้ายายแต่ละท่านมีฝีมือการทำอาหารไม่ธรรมดา ทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่น กรรมวิธีสูตรโบราณที่ยังใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงแทนเเก๊สหุงต้ม รวมถึงรสชาติอาหารที่อร่อยยอดเยี่ยม อันเกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ยากจะลอกเลียนน้ำหนักมือได้เสมอเหมือน

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา
บันไดทางขึ้นด้านหน้าคือจุดเริ่มต้นการเดินผ่านเข้าสู่ตัวอาคารภายใน ก่อนจะทะลุจากอาคารสามเหลี่ยมก้อนแรกไปสู่อีกก้อนจนครบทั้ง 5 หลัง

จากเหตุผลดังกล่าวจึงกลายเป็นที่มาของการถือกำเนิดโปรเจ็กต์ใหม่ล่าสุดในชื่อ “Artisan” อันเป็นเสมือนสถานที่ส่งต่อสูตรอาหารฝีมือ “ป้ายาย” ผู้เป็นเจ้าของตำราที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ไม่ได้รับการจดบันทึกไว้อย่างเป็นรูปธรรม ดังที่คุณเอสย้ำกับเราถึงจุดมุ่งหมายของการสร้างสถาปัตยกรรมบล็อกแก้วหลังนี้ขึ้นมาว่า

“ที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นเหมือนคัมภีร์ที่ยังมีลมหายใจ” 

ซึ่งงานนี้เป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่เธอเชื่อมือคนเดิมอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา แห่ง Bangkok Project Studio เจ้าของผลงาน The Wine Ayutthaya มาเป็นผู้ออกแบบกลุ่มอาคารสามเหลี่ยมมุมฉากจำนวน 5 หลัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาบข้างกับอาคารไม้อัดที่เขาได้ฝากฝีมือไว้ก่อนหน้านั้น

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา

Artisan มีต้นกำเนิดมาจาก Art4D Pavilion ในงานสถาปนิก’18 จากสถาปัตยกรรมชั่วคราวภายในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในร่มครั้งนั้น ผศ.บุญเสริม ได้พัฒนารูปแบบขึ้นใหม่เพื่อให้ตัวอาคารที่ใช้วัสดุธรรมชาติอย่าง ไม้ และเหล็ก เดินทางมาเจอกับวัสดุที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมอย่าง “บล็อกแก้ว” (Glass Block) จำนวนกว่าสองหมื่นก้อน ให้สามารถเป็นทั้งผนัง และโครงสร้างรับแรงที่ทนทานต่อสภาพลม ฝน และแดดกลางแจ้งได้อย่างถาวร โดยต้องใช้การคำนวณรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงการปรับสเกลที่แตกต่างจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่กลางชุมชนเป็นสำคัญ โดยสถาปนิกบอกว่าต้องผ่านการปรับแก้แบบในระหว่างก่อสร้างไปจากแบบแรกมากพอสมควร

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา
สถาปนิกตั้งใจให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหวภายในอาคารผ่านอิริยาบถของมนุษย์ ทั้งการเดินผ่านช่องประตู ยืนอยู่ริมหน้าต่าง หรือเดินข้ามสะพานจากอาคารหลังหนึ่งไปสู่อีกหลังหนึ่ง เพื่อพบกับพื้นที่ส่วนตัวหรือค้นหาพื้นที่ในจินตนาการตามมุมมองเฉพาะตัวของแต่ละคน

“เหตุผลที่ผมแยกอาคารออกเป็น 5 หลัง ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่ได้อยากทำอาคารสเกลใหญ่” ผศ.บุญเสริม อธิบาย

“ผมเลือกที่จะทำสเกลเล็กแล้วมาประกอบเข้าด้วยกัน จนเกิดสเปซเป็นช่องทางเดินระหว่างอาคาร ซึ่งทำให้มีพื้นที่ทั้งภายนอกและภายใน อาคารนี้จะทำให้คนที่เข้ามารู้สึกถึงความเซอร์ไพร้ส์ เพราะตั้งใจออกแบบที่นี่ให้ดูเหมือนถูกซ่อนอยู่กลางชุมชน จากกิมมิกนี้ผมเลยอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกซ่อนเข้าไปอีก เหมือนอาหารที่คุณเห็น หรือคุณป้าคุณยายที่เป็นช่างฝีมือด้านอาหาร คนเหล่านี้คือองค์ความรู้ดี ๆ ของชาวอยุธยาที่คนกรุงอย่างพวกเราไม่เคยรู้จักมาก่อน

“อาคารนี้ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าข้างในเราจะพบกับอะไร ผมเชื่อว่าคนเห็นก็คงสงสัยว่าข้างในนั้นมีอะไรเช่นกัน นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะถ่ายทอดความสงสัยของคนในยุคปัจจุบัน ที่มีต่อประวัติศาสตร์ในด้านที่ไม่มีใครเขียนบันทึกไว้ โดยให้มันสะท้อนไปสู่ตัวอาคาร สร้างความเซอร์ไพร้ส์ให้ปรากฏทั้งบนจานอาหาร เเละพื้นที่ภายใน-ภายนอกอาคาร

“แบบอาคารมีการปรับจากเดิมที่ค่อนข้างทึบ ผมรู้ว่าผมจะทำอะไร แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าทำให้เราจินตนาการต่อไปว่ามันควรจะเป็นอะไร มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้แบบ เเต่เป็นเรื่องที่คุณเข้าไปแล้วรู้สึกเพียงพอหรือยัง ถ้ายังไม่เพียงพอ อีกนิดเดียวก็ต้องเปลี่ยน โชคดีที่คุณเอสให้เสรีภาพกับผม คนชอบบอกว่าบุญเสริม คุณโชคดีมากที่เจ้าของเชื่อมือ แต่คุณรู้หรือเปล่าว่า การได้เสรีภาพจาก owner นี่มันยากมากเลยนะ ถ้าคุณทำงาน ๆ หนึ่งที่มีข้อจำกัด มีขอบเขต มีโจทย์ทุกอย่างเต็มไปหมด ผมคิดว่าเสรีภาพเนี่ยคือข้อจำกัดที่ยากที่สุด เพราะเหมือนคุณต่อยมวยบนเวทีที่ไม่มีเชือก ไม่มีกฏ คุณต้องคิดกฏขึ้นมา คิดข้อจำกัดของคุณขึ้นมา ข้อจำกัดของผมคือเสรีภาพที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มีกฏ

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา
สะพานที่เชื่อมต่อกับอาคารแต่ละหลัง คือจุดที่ผู้มาเยือนสามารถหยุดมองบริบทโดยรอบซึ่งมีทั้งภาพวิถีชีวิตในชุมชน บ้านเรือนท้องถิ่น เเละวิวแม่น้ำเจ้าพระยาที่เงียบสงบผ่านพื้นที่ว่างระหว่างอาคารสามเหลี่ยมทั้ง 5 หลัง 

อีกหนึ่งความท้าทายที่สถาปนิกบอกกับเรา คือการเลือกใช้บล็อกแก้วที่ถูกคนมองข้ามมากที่สุดมาเป็นวัสดุหลัก

“ผมถามเขา (เจ้าของผลิตภัณฑ์) ว่าลายไหนที่ขายไม่ดีบ้าง ผมจะเลือกลายนั้น” ผศ.บุญเสริม เท้าความพร้อมรอยยิ้ม   “ในส่วนอินทีเรียร์นั้นผมใช้คำว่าเราไม่ได้คาดคิดมาก่อน คนอาจจะบอกว่าบุญเสริมคิดทั้งหมดจะเก่งเกินไปแล้ว (หัวเราะ) เปล่าเลย งานอินทีเรียร์นั้นมันเกินกว่าที่คิด เกินกว่าที่คาด เราอาจจะออกแบบไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 50 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เข้ามามีส่วนช่วยให้เกิดเอฟเฟ็กต์ ทำให้ภายนอกกับภายในอาคารมีมุมมองแตกต่างกัน”

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา
ฝ้าเพดานและเสาอาคารปิดผิวโครงสร้างเหล็กด้วยไม้อัด ขณะที่หน้าต่างทุกบานเลือกใช้แผ่น PVC Sheet ซึ่งมีน้ำหนักเบาและราคาประหยัดแทนการใช้กระจก

ในส่วนโครงสร้าง สถาปนิกยังได้เลือกใช้ไม้เนื้อแข็งอย่าง ไม้เต็ง มาเป็นวัสดุปิดผิวทับโครงสร้างเหล็กภายใน ซึ่งต้องใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นในการจัดเรียงบล็อกแก้วขึ้นไปทีละชั้นเเละทีละก้อน โดยสถาปนิกได้อธิบายให้ฟังว่า

“การควบคุมการทำงานที่เรามีช่างโดยตรง ไม่มีผู้รับเหมา (เป็นตัวกลาง) ช่วยให้เราทำงานละเอียดขึ้น แต่มันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม เพราะเป็นเรื่องที่ผมทำมาสักพักหนึ่งแล้ว ด้วยการคิดวิธีการให้ช่างสามารถทำงานได้ง่าย การเขียนแบบบางครั้ง เราไม่ได้เขียนแบบสองมิติเหมือนกับให้ผู้รับเหมาดู แต่เราต้องเขียนแบบเป็นสามมิติเพื่อให้ช่างเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ

“ที่ The Wine นั้น มี PVC Sheet คอยป้องกันน้ำ ส่วนอาคารนี้โดนน้ำเต็ม ๆ เราจึงต้องใช้ไม้ที่สามารถทนน้ำได้ดีที่สุดนั่นก็คือ ไม้เต็ง ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติ มีทั้งสีอ่อน-เข้ม เผยสีสันของวัสดุจริง ๆ ตามธรรมชาติ ผนวกกับฝีมือของช่าง เเละความเเม่นยำของระบบอุตสาหกรรมในการผลิตบล็อกแก้ว ก่อนนำข้อดีของทั้งหมดนี้มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยไม้มีคุณสมบัติของความยืดหยุ่น สามารถปรับขนาดได้ ไสได้ ส่วนบล็อกแก้วก็มีขนาดที่เท่ากันเที่ยงตรง เเม้วัสดุที่เลือกใช้จะเเตกต่างกัน เเต่ก็ลงตัวได้อย่างดี ให้มุมมองเเละความรู้สึกในอีกมิติ”

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา

ปัจจุบันที่นี่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายในการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนจะพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ Artisan จะไม่เพียงทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ผู้เก็บรักษาสูตรอาหารตำรับโบราณที่กำลังจะถูกหลงลืมไป หากเเต่ยังเป็นสถานที่ส่งต่อเเรงบันดาลใจให้ผู้สนใจกรรมวิธีการทำอาหารจากภูมิปัญญาโบราณฝีมือคุณป้าคุณยายอายุตั้งแต่ 70-90 ปี ได้เข้ามาเรียนรู้ ลองชิม และนำกลับไปทดลองทำตาม เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้ยังคงถูกสืบสานต่อไป ไม่จบตรงนี้เป็นรุ่นสุดท้าย

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา
มิติของแสงที่ลอดผ่านบล็อกแก้วซึ่งมีพื้นผิวขรุขระมากระทบผิวไม้ คือการค้นพบระหว่างทางดังคำสถาปนิกบอก “เขาออกแบบสถาปัตยกรรม 50% ที่เหลืออีก 50% ธรรมชาติเป็นผู้ออกแบบ”

“มีคนถามผมว่าทำไมไม่เปิดเผยให้เห็นโครงสร้างทั้งหมด แล้วทำไมต้องเปิด? ผมก็สงสัย คุณกำลังพูดถึงทฤษฏี Structuralism ซึ่งผมว่าในโลกนี้มีพื้นที่ที่แตกต่างกัน อาร์คิเทคเจอร์ที่สร้างเรื่องเซ้นส์ เรื่องอารมณ์ ไม่ได้มองเรื่องนี้ อาคารนี้มีสัจจะของมันอยู่แล้ว สัจจะนั้นก็คือ กลาสบล็อก ผมอยากแสดงให้เห็นถึงการใช้วัสดุที่มีเพียงกลาสบล็อกกับไม้เท่านั้น ถ้าคุณอยากเผยให้เห็นทั้งหมดคุณต้องเผยตั้งแต่ฐานราก แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ผมในฐานะคนออกแบบต้องเข้าใจว่าเราต้องการจะสื่ออะไร วัสดุไหนที่เราควรจะสื่อออกไป อะไรที่ไม่ควรเผยก็ปิดไว้” – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา

ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เที่ยวอยุธยา THE WINE AYUTTHAYA ร้านอาหารอยุธยา
อาคารที่ดูโปร่งแสงในยามเช้า และดูขุ่นมัวในยามบ่าย เกิดจากคุณสมบัติของวัสดุ “บล็อกแก้ว” ซึ่งเมื่อมีแสงลอดผ่านในแต่ละช่วงเวลา ช่วยสร้างมิติแปลกตาให้กับอาคารต่างออกไปอย่างไม่ซ้ำ

เจ้าของ : คุณสรวีย์ วิศิษฏ์โสพา
ออกแบบ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา
Bangkok Project Studio
www.facebook.com/BangkokProjectStudio
โทร.08-1812-8224

บทสนทนาในห้องทำงานกลางแจ้ง แหล่งแรงบันดาลใจของ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา แห่ง BANGKOK PROJECT STUDIO

รวมที่เที่ยวอยุธยาท่องกรุงเก่าเคล้าดีไซน์ เที่ยวอยุธยาแบบไม่ได้ไปแค่วัดเก่าและกินกุ้งเผาตัวโต

เรื่อง: นวภัทร
ภาพ: ศุภกร