หลายคนคงคุ้นเคยกับงานศิลปะของศิลปินอย่าง P7 มาบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เขาทำงานศิลปะหลากหลายแขนง โดยทำการแสดงศิลปะแบบโซโลทั้งในไทยและต่างประเทศสลับไปมาตั้งแต่ปี 1998 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งงานที่เขาถนัดที่สุดคืองานแนว Realistic ที่ใส่ความคลาสสิกเข้าไป จนออกมาเป็น Contemporary Painting ผ่านรูปแบบของงานศิลป์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด งานสตรีทอาร์ต และประติมากรรม
โดยในปี 2020 นี้ P7 ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะระดับนานาชาติอย่าง Bangkok Art Biennale 2020 หรืองาน BAB2020 ภายใต้โจทย์ของงานอย่าง Escape Route : ศิลป์สร้างทางสุข room จึงขอย้อนไปทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น เพื่อค้นหาตัวตน จิตวิญญาณ และแก่นในการทำงานของเขากัน
P7 ผลิตผลงานประเภทไหนบ้าง
“จริง ๆ ผมเป็นคนไม่กำหนดรูปแบบตายตัว เป็นคนชอบทำอะไรก็ได้ผ่านมีเดียหลาย ๆ อย่าง จากเพ้นต์ติ้งมาทำประติมากรรมแบบลอยตัวสามมิติ โดยช่วงแรกได้ตัดทอนรายละเอียดบางอย่างลงเพื่อให้เกิดคาแร็กเตอร์ ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำงานประติมากรรมคือ มีลูกค้าต้องการนำงานประติมากรรมไปตั้งที่สวน ผมก็ดีไซน์ออกมาเป็นกวาง อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำประติมากรรมแรก จากนั้นก็ทำไปเรื่อย ๆ ทำไปแสดงงานบ้าง ทำไปตกแต่งพื้นที่ต่าง ๆ บ้าง มันอิสระ
“ช่วงหลัง ๆ เรามีงานออกแบบให้แบรนด์ต่าง ๆ โรงงาน หรือสถานที่ต่าง ๆ เป็นงานตกแต่งที่ต้องใช้ศิลปะไม่ว่าจะเป็นการเพ้นต์ หรือใช้การสเปรย์ รวมทั้งงานออกแบบด้วยอย่างพวกแบรนด์แฟชั่น แต่เป็นงานวาดมือ แล้วให้แบรนด์เขาไปพิมพ์ออกมาเป็นโปรดักต์ นอกจากนี้ยังได้รับงานออกแบบเธียร์เตอร์ก็มี เป็นการทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะหมดเลย และเริ่มทำประติมากรรมควบคู่ไปด้วยในช่วงปี 2005”
จากงานสองมิติสู่สามมิติ
“งานสามมิติมีกระบวนเยอะกว่า อย่างภาพวาดเราจบที่สตูดิโอ แต่พอเป็นประติมากรรมต้องใช้วัสดุสำหรับปั้น ทุกชิ้นจะเริ่มจากการปั้นดินก่อน จากนั้นมาขึ้นโฟม เอาไฟเบอร์หล่อ แล้วก็ลงสี กระบวนการจะมี 4-5 ขั้นตอน โดยเราได้นำสกิลการเพ้นต์ติ้งเข้ามาควบคุมในเรื่องของโครงสร้างและการลงสี ถามว่ายากไหม มันไม่ยาก เราก็พอมีเทคนิคในกระบวนการอยู่ แค่มันมีกระบวนการที่เยอะขึ้นเท่านั้น แต่ทุกอย่างเราก็คุ้นเคยกับมันอยู่แล้ว”
หัวใจคืองานทำมือ
“กระบวนการทำงานของผมทั้งหมดไม่ใช้คอมพิวเตอร์เลย เพราะผมชอบงานแฮนด์เมด อะไรที่ออกจากมือผม แม้กระทั่งงานสเก็ตช์ก็ต้องผ่านการทำมือของผม จะไม่ผ่านคอมพิวเตอร์เลย เพราะเราไม่อยากให้คอมพิวเตอร์มันคำนวณ เราต้องเขียนออกมาให้เห็นภาพด้วยตัวเอง หรือลูกมือเราก็จะต้องเห็นจากที่เราอธิบาย ในระหว่างทำงานเราก็สามารถปรับแก้ได้
“ผมจะดูหน้างานทุกขั้นตอนแล้วก็ทำเอง สมมติว่าตาเบี้ยว หรือหน้าหักไปหน่อย เราก็เติมเข้าไป จะไม่ได้ไปแก้ในคอมพิวเตอร์ ผมอยากทำด้วยตัวเอง มันจะออกมาจากความรู้สึกของเรามากกว่า มันจะไม่เหมือน 3D เวลาขณะที่การออกแบบให้แบรนด์ต่าง ๆ เราก็วาดมือลงกระดาษ แต่เวลาลงสีเราใช้วิธีการหยอดสีลงไปแบบวิธีแอนะล็อก แค่ให้เขาเอาไปพิมพ์เท่านั้น เพราะถ้าเราระบายสีไปเลย พอไปพิมพ์สีจะเพี้ยน”
สีสันฉูดฉาดกับการด้นสด
“ผมชอบที่จะใช้สีและกล้าใช้สี พอเราเพ้นต์เรื่อย ๆ เราก็เปิดกว้างเรื่องสีเยอะ แล้วก็ใช้ความรู้สึกกับเคสตรงนั้นในการคำนวณสีออกมา แต่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์นะ ผสมสีสด ๆ เลย อย่างตอนที่พรีเซนต์เขาอยากรู้หน้าตา อารมณ์ประมาณไหน ก็สเก็ตช์มือ แต่พอไปทำจริง มันดีกว่าสเก็ตช์ มันเปลี่ยนไป แต่ยังคงความเป็นฟีลลิ่งที่เราพรีเซนต์อยู่ เพราะฉะนั้นผมจะเน้นอะไรที่สด ๆ ตรงนั้น เราทำแบบอิสระ ไม่มีกรอบ เราฝึกฝนฝีมือจนช่ำชอง เวลาเราคิดอะไรก็เอาฝีมือมารองรับ เพื่อให้มันเกิดขึ้นได้จริง”
Jack-Zack-Max ตุ๊กตา Ventriloquist ในนิทรรศกาลศิลปะระดับนานาชาติ
“ผมเป็นคนหลีกหนีจากกรอบอยู่แล้ว เวลาทำงานจะไม่ทำซ้ำ ดีไซน์ก็ไม่ซ้ำ ประติมากรรมก็ไม่ซ้ำ จะสังเกตว่า 3 ตัว นี้ คนละฟีลลิ่งเลย ทั้งหน้าตามันไม่ได้เป็นตัวเดียวกัน โดยมีชื่อว่าแจ็ค แซ็ค แล้วก็แม็กซ์ ทั้ง 3 ตัวเหมือนเกิดใหม่ จะไม่มีแจ็คซ้ำอีกแล้ว ถ้าผมจะมีตัวใหม่มันจะมีฟีลลิ่งเหมือนเลนทิล คือจะบิดไปตามหน้าตาที่เราอยากให้เกิดมา”
ทั้งผลงานภาพวาดและประติมากรรมที่จัดแสดงอยู่บนชั้น 8 ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เขาได้แรงบันดาลใจมาจากหุ่น Ventriloquist หรือหุ่นพากย์เสียงที่สามารถขยับปากได้ด้วยมือคนเชิด เป็นหุ่นที่มีต้นกำเนิดมานานในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหุ่นที่ P7 หลงใหลและเก็บสะสม โดยแต่ละตัวจะเกิดจากช่างฝีมือในแบบแอนะล็อก เป็นงานแฮนด์เมดที่มีกลไกลง่าย ๆ ทว่าส่งผลให้ละตัวมีหน้าตาที่แตกต่างกันออกไป โดยแต่ละตัวจะมีใบหน้าเป็นของตัวเอง นำไปสู่จินตนาการที่จะสร้างหุ่นพากย์เสียงในสไตล์ของ P7 ที่บอกเล่าจินตนาการแบบไร้ขีดจำกัดและความรู้สึกสุดพิศวง
แม้ทั้งสามตัวจะถูกสร้างขึ้นมาคนละเวลา แต่ต่างมีคาแรกเตอร์ที่ดูชวนผวา พรั่นพรึง เหมือนที่เราคุ้นตากันในหนังสยองขวัญที่หุ่นนี้มักถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้าย การฆาตกรรมจนกลายเป็นภาพติดตา แต่ P7 กลับจินตนาการข้ามความเป็นอีโรติกด้วยการเพิ่มรายละเอียดที่ดูเกินจริงไปบ้าง หรือเพิ่มความมุ้งมิ้งสดใสแกมเสียดสีแบบมีนัย
วัดตัวตนด้วยคุณภาพของงาน
“ผมไม่ได้คิดเรื่องใครจำงานของผมได้ ต้องการทำออกมาแล้วให้คนลุ้นว่าเดี๋ยวมีตัวอะไรโผล่ออกมา บางคนนึกว่าเราทำงานแบบสตรีท พ่นสเปรย์ แต่พอเราแสดงงานโซโล่ เราเพ้นตืติ้งออกมาเป็น Realistic คนก็งงว่าเพ้นต์ด้วยหรอ คือจริง ๆ งานเพ้นต์มาก่อน พอเราทำอะไรแข็งแรง คนจะมองว่าอันนี้เป็น P7 แต่จริง ๆ ทุกอันเป็น P7 หมดเลย คนจะจำเราในฐานะประติมากรไปหมด ต่างจากตอนแรกที่จำผมในฐานะเพ้นต์ติ้ง บ้างก็จำผมได้จากงานตรีทอาร์ต ถ้าเราทำงานพวกนี้แล้วออกมามีคุณภาพ คนก็จะจดจำเราผ่านงานที่มีคุณภาพนั้น ๆ เรื่องไอเดีย เรื่องดีไซน์ เราใส่เต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้เองมันจะช่วยให้คนจำเราได้”
ความไม่ยึดติด+กิเลส = แรงบันดาลใจ
“ผมมีความหลากหลายในสไตล์มาก ผมไม่ได้สนใจในสไตล์นะ แต่อยากทำในสิ่งที่อยากทำ ทำในสิ่งที่เราคิดค้นขึ้นมา ไม่ได้อยากทำตามรูปแบบนั้รูปแบบนี้ คิดขึ้นเองไม่ได้มีใครมาตั้งโจทย์ให้ ผมอยากทำ Realistic ก็สร้าง Realistic สไตล์ใหม่ขึ้นมา ถ้าเป็นกราฟิกก็สร้างกราฟิกสไตล์ใหม่ขึ้นมา หรือเป็นงานเพ้นต์ติ้งก็สร้างงานสไตล์ใหม่ขึ้นมาโดยมีเอกลักษณ์ของเรา แต่ไม่ได้แช่อยู่นะ เพราะไม่อยากให้ซ้ำใคร ไม่จำเจ
“ส่วนแรงบันดาลใจไม่ได้หาจากข้างนอก ผมเป็นคนเปิดกว้าง อิสระ ให้งานออกมามีคุณภาพ สรุปถ้า Realistic ก็ต้อง Realistic แบบมีคุณภาพเลย ถ้ากราฟิกก็ต้องกราฟิกเต็มร้อย ไม่ใช่แค่ให้มันเป็น แต่ทำแล้วต้องออกมาดี แล้วเวลาผมนำกราฟิกมาผสมกับ Realistic ซึ่งเราชำนาญทุกอย่าง เราก็เอามารวมกันได้ ด้วยความที่เราเป็นศิลปิน เราไม่ได้ยึดติด ไอเดียมันก็มาเรื่อย ๆ”
เชื่อว่าหลายคนคงคอยติดตามผลงานของเขาอยู่ห่าง ๆ ซึ่ง P7 ได้บอกกับเราว่า “ผมอยากให้คนจดจำงานที่มีคุณภาพ พอมีงานใหม่ก็จะยังให้มันมีคุณภาพ มากกว่าที่จะแช่แข็งงานตัวเองไปตลอด มีชิ้นใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพอยู่เรื่อย ๆ” ฟังแล้วการันตีได้เลยว่าเขาจะผลิตงานศิลปะมากคุณภาพมาให้เราได้ชมพร้อมความแปลกใหม่อีกแน่นอน ก่อนจบการสนทนาเขาตบท้ายแบบคม ๆ ที่ว่า
“ศิลปะสำหรับผมไม่มีคำว่าประสบความสำเร็จ เราต้องพัฒนาไปตลอดชีวิต”
เรื่อง : Woofverine
ภาพ : นันทิยา, P7
DRAGONERPANZER เมื่อครั้งศิลปะ มีค่ามากกว่ากองทหาร
10 งานศิลปะจัดวางที่ต้องไปเห็นกับตาถึงจะอิ่มใจใน BANGKOK ART BIENNALE 2020
BAB 2020 : Bangkok Art Biennale 2020 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เริ่มแล้ว