คาเฟ่กลางนา และห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน ในเมืองผิงหนาน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศสาธารณรัฐประชนชนจีน เดิมทีที่นี่เคยเป็นที่อยู่อาศัยถูกทิ้งร้าง โดยยังคงเหลือไว้ซึ่งผนังกำแพงดินสามด้าน และรั้วขอบเขตที่ดินที่ทรุดโทรม
ส่วนของโครงสร้างใหม่อย่างคอนกรีตและเหล็กที่เสริมเข้าไปถูกซ่อนไว้ในโครงของบ้านเก่า เมื่อดูจากภายนอก คาเฟ่กลางนา จึงดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เพื่อคงบรรยากาศและรูปลักษณ์ของอาคารเก่าในวันวานไว้ ทั้งยังเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน เป็นการผสมผสานความร่วมสมัยและความดั้งเดิมเข้าไว้ด้วยกัน
ผนังคอนกรีตทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร โดยมีการยื่นส่วนของฝ้าเพดานที่เป็นคอนกรีตที่ทำการเว้นช่องว่างไว้เล็กน้อยเพื่อทำเป็นสกายไลท์ให้แสงธรรมชาติส่องเข้ายังพื้นที่ด้านในได้ แต่ยังเชื่อมเข้ากับผนังดินบริเวณหัวมุมเพื่อให้โครงสร้างมีความมั่นคง
สำหรับการจัดสรรพื้นที่ภายใน ชั้นวางหนังสือถูกจัดวางไว้ในส่วนเชื่อมต่อระหว่างโครงสร้างคอนกรีตใหม่กับผนังกำแพงดินเดิม พื้นที่โรงละครซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในอาคารถูกวางตัวแทรกระหว่างชั้นหนังสือสองด้าน กลายเป็นสเปซที่สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับแขกผู้มาเยือน ที่ตอนแรกจะได้พบกับชั้นหนังสือที่ดูแคบ ก่อนจะเปิดไปเจอเซอร์ไพร้ส์สเปซอย่างโรงละคร และในส่วนของพื้นที่ระเบียงฝั่งตะวันตกที่เป็นที่ตั้งของคาเฟ่ที่เปิดรับวิวท้องนาและหมู่บ้านแบบสุดลูกหูลูกตา
บริเวณใจกลางอาคาร ออกแบบโครงสร้างเป็นเสาเหล็กที่ทะลุผ่านโครงสร้างคอนกรีตเพื่อรองรับหลังคาทรงร่ม โดยเป็นตำแหน่งและทรงหลังคาที่ล้อไปกับบ้านเก่าในพื้นที่ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวยังเอื้อให้ผู้มาเยือนรู้สึกเหมือนได้อยู่ในที่หลบภัย และใช้ช่องว่างของหลังคาสำหรับดื่มด่ำไปกับทิวทัศน์โดยรอบ เหมือนกับศาลาหลังน้อยที่โผล่ขึ้นมาจากท้องนา
ทั้งนี้หลังคาทรงร่มได้ยื่นผ่านคานหลัก ถ่ายเทแรงและน้ำหนักไปยังเสาเหล็ก ทำให้แรงทั้งหมดของโครงสร้างถูกถ่ายเทลงสู่ศูนย์กลางของอาคาร และใช้เหล็กกล่องในมุมทั้งสี่ในการรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาแทนเพื่อสร้างความสมดุล ทั้งยังเอื้อต่อการระบายน้ำฝนบนหลังคาไปยังแผ่นหลังคาคอนกรีต
ร่องรอยของวันวานยังมีให้เห็นในอาคารหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นรอยสนิมที่กระจายเป็นจุด ๆ บนผนังดิน ไม้สนท้องถิ่นผิงหนานที่ถูกนำมาทำเป็นไม้แบบหล่อคอนกรีตที่ทิ้งความดิบประด้างไว้บนผิวสัมผัส กลายเป็นความลงตัวระหว่างโครงสร้างใหม่และผนังดินเดิม
ออกแบบ: TAO (Trace Architecture Office)
ภาพ: CHEN Hao, ZHUO Yuxing
เรียบเรียง: BRL