รูป แบบบ้านปูนเปลือย ขนาดกะทัดรัดดูโดดเด่น ขัดแย้งกับความเขียวขจีของธรรมชาติโดยรอบ แม้จะห่างจากตัวเมืองหัวหินเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่บรรยากาศของที่นี่กลับเย็นสบาย มีลมพัดเอื่อยๆ ให้ความรู้สึกคล้ายหมู่บ้านบนเชิงเขามากกว่าบ้านในเมืองตากอากาศริมทะเลอย่างหัวหิน
และนี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณป๊อก-วชิรศักดิ์ มณีวัฒนาพฤกษ์ และครอบครัวตัดสินใจย้ายจากเมืองหลวงที่แสนวุ่นวาย มาใช้ชีวิตสุขสงบและเรียบง่ายในบ้านร่วมสมัย ภายใต้รูป แบบบ้านปูนเปลือย หลังนี้
“ตอนที่คุณพ่อจะเกษียณ พวกเราตัดสินใจกันว่าคงไม่อยู่กรุงเทพ ฯ แล้ว อากาศมันแย่และวุ่นวายเกินไป และพอดีเรามีที่ดินอยู่ที่หัวหิน ประกอบกับช่วงนั้นน้ำท่วมกรุงเทพ ฯ เราจึงต้องพากันย้ายมาอยู่ที่นี่ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเวิร์คนะ สงบดี จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ถาวรเสียเลย”
/ เราอยากได้บ้านที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นบ้านไทย
แต่ไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบว่าต้องเป็นหลังคาแบบไหน เราแค่อยากสร้างบ้าน
ที่อยู่ได้ในเมืองไทยไม่ต้องเปิดแอร์หรือแสงไฟตลอดเวลา /
บนที่ดินเปล่าเชิงเขาหินเหล็กไฟ คุณป๊อก ลูกชายคนโตและควบตำแหน่งสถาปนิกหนุ่มของครอบครัว ได้ลงมือออกแบบบ้านชั้นเดียวขนาด 170 ตารางเมตร นี้ขึ้นสำหรับคุณพ่อกับคุณแม่โดยเฉพาะ ส่วนคุณป๊อกเลือกแยกไปใช้ชีวิตส่วนตัวที่บ้านหลังเล็กที่อยู่ด้านหลังแทน โดยเขาได้ออกแบบบ้านตามคอนเซ็ปต์ “บ้านไทยร่วมสมัย” ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ บ้านทรงกล่องดีไซน์เรียบเท่ ค่อนไปทางโมเดิร์น เชื่อมโยงสถาปัตยกรรมให้เข้ากับคำว่า “วิถีชีวิต” ได้อย่างลงตัว
“ผมอยากออกแบบบ้านแบบไทยร่วมสมัย แต่ไม่ดึงเส้นสายหรือรูปทรงที่ดูเป็นไทยมาใช้ตรง ๆ เพราะผมตีความไปถึงเรื่องวิถีชีวิตของคนไทยยุคปัจจุบันมากกว่า แม้จะมองย้อนกลับไปที่พื้นฐานการสร้างสถาปัตยกรรมยุคก่อน แต่ก็ต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ อากาศ ภูมิประเทศ และวิถีชีวิตเป็นหลัก ไม่ใช่แค่ความสวยงามอย่างเดียว แต่ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้คนสมัยนี้ ผมไม่อยากต้องปรับตัวเพื่อบ้าน แต่อยากออกแบบบ้านที่ตอบสนองและตรงกับรูปแบบชีวิตของเรามากกว่า”
บ้านมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียบง่ายไม่มีส่วนยื่นหรือเว้าให้ดูยุ่งยาก แถมยังรวบรวมทุกประโยชน์ใช้สอยอย่างโรงจอดรถหรือส่วนเซอร์วิสไว้ครบถ้วนภายใต้หลังคาเดียวกัน ออกแบบส่วนครัวและส่วนรับประทานอาหารให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันกินอาณาเขตเกือบครึ่งหนึ่งของบ้าน ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์การใช้ชีวิตของทุกคนในครอบครัว และการรีเควสของคุณแม่ที่ชื่นชอบการทำอาหารเป็นพิเศษ ตรงกลางบ้านทำคอร์ตหญ้าเล็ก ๆ กั้นพื้นที่ระหว่างภายในกับภายนอกด้วยบานเฟี้ยมไม้ หากต้องการจะชมสวนหรือเปิดพื้นที่โล่งกว้าง มีแสงสว่าง และให้ลมพัดผ่านได้ตลอดทั้งวันก็แค่เปิดบานเฟี้ยมออกเท่านั้น วิธีนี้แทบไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีใด ๆ บ้านก็ดูน่าอยู่ขึ้นได้ไม่ยาก
“จริง ๆ ผมก็ไม่ได้อีโค่จ๋าขนาดนั้น แต่ไหน ๆ เราก็ออกแบบบ้านแบบไทยแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องเปิดแอร์หรือเปิดไฟในเวลากลางวัน ผมให้ความสำคัญกับทิศทางการวางตัวบ้าน และออกแบบกันสาดให้ยื่นยาวเป็นพิเศษ แม้ในเวลาฝนตกเราก็สามารถเปิดประตูบ้านเพื่อปล่อยให้อากาศถ่ายเทและให้แสงส่องเข้ามาได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องฝนสาดแต่อย่างใด”
เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ของคุณป๊อกให้อิสระในการออกแบบอย่างเต็มที่ เขาจึงใส่สไตล์และเลือกใช้วัสดุตามความชอบส่วนตัวแบบไม่ลังเล วัสดุที่นำมาใช้เน้นคอนกรีตจับคู่กับไม้เป็นหลัก เพื่อสร้างบรรยากาศที่แตกต่างระหว่างภายในและภายนอกบ้าน ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าบ้านหลังนี้แทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเลย เพราะเจ้าของออกแบบให้เฟอร์นิเจอร์ดูกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นม้านั่งคอนกรีต เคาน์เตอร์ครัวปูน หรือขอบคอนกรีตยกสูงบริเวณคอร์ตหญ้าที่ใช้นั่งเล่นได้ตลอดแนว
“ผมทดลองมาหลายครั้งแล้วว่าจะมีวัสดุใดที่เข้ากันได้บ้าง แต่ก็พยายามลดทอนใช้วัสดุให้น้อยที่สุด บ้านคอนกรีตอาจจะดูเป็นเหมือนโรงงาน ดิบ ๆ ไม่น่าอยู่ เราจึงเพิ่มบรรยากาศภายในให้ดูอบอุ่นขึ้นด้วยไม้ ทั้งในส่วนของประตูบานเฟี้ยม และเฟอร์นิเจอร์ที่พยามยามจัดวางให้น้อยที่สุด หรือทำเป็นตู้บิลท์อินไปเลย และยังเลือกของตกแต่งที่เป็นแบบฟรีฟอร์ม มีผิวสัมผัสนุ่มนวลสบายตาเพื่อให้เกิดความขัดแย้งแต่น่าสนใจ”
หลายต่อหลายครั้งที่ “ความเป็นไทย” ถูกค้นหาและหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้สร้างสไตล์ในงานออกแบบ และหลายครั้งที่ความเป็น “ไทยร่วมสมัย” หมายถึงเพียงรูปลักษณ์ในเชิงรูปธรรม แต่กลับไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนไทย บางทีอาจจะดีกว่าถ้าเราจะก้าวข้าม “สไตล์” เพื่อหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เหมาะสมกับเราจริง ๆ
เรื่อง : Mone
ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา
วิดีโอ : New Media
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : January 2014 No.131
อ่านต่อ: บ้านปูนเปลือย ออกแบบโดย “ความรัก”