บ้านโมเดิร์นที่ออกแบบภายนอกทึบตันให้ตัดขาดจากโลกภายนอก ป้องกันเสียงรบกวนจากทางด่วน แต่สเปซภายในกลับเสมือนเป็นพื้นที่ภายนอก ด้วยการเปิด 5 คอร์ตเชื่อมต่อสเปซแนวตั้งและแนวนอน ให้แสงแดด สายลม และท้องฟ้าได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านแบบเป็นส่วนตัว
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Studio Krubka
หากมองจากภายนอกบ้านจะเห็นแต่กรอบผนังทึบตันสีเข้มที่ดูตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง เพราะพื้นที่ตั้งของบ้านอยู่ท่ามกลางย่านที่พักอาศัยหนาแน่นมาก มีบ้านพักอาศัยล้อมรอบอาคารทั้ง 3 ด้าน ด้านหน้าบ้านเป็นถนนซอยแคบ อีกทั้งหลังบ้านยังอยู่ใกล้กับทางด่วนที่มีเสียงรบกวนสูง โจทย์จากเจ้าของบ้านที่ให้ไว้กับสถาปนิก – คุณดนัย สุราสา แห่ง Studio Krubka Co.,Ltd. คือต้องการความเป็นส่วนตัวสูงที่สุด ไม่อยากให้คนภายนอกมองเข้ามาเห็นการใช้ชีวิตภายในบ้านได้เลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ชอบเสียงดัง แต่กลับชอบการใช้ชีวิตกลางแจ้ง และชอบระเบียงที่มีลมพัดผ่านตลอดเวลา ซึ่งมีความขัดแย้งค่อนข้างสูงกับบริบทที่ตั้งอาคาร การวางผังเรือนไทยจึงถูกนำมาพิจารณา และใช้เป็นแนวคิดตั้งต้นในการออกแบบวางผังบ้านหลังนี้ บ้านโมเดิร์นมีคอร์ต
แนวคิดผังเรือนไทยในบ้านทึบ
แน่นอนว่าไม่สามารถนำการวางผังแบบเรือนไทยมาใช้ได้แบบตรงไปตรงมา ผู้ออกแบบสังเกตว่าการวางผังเรือนไทยนั้น เป็นการจัดวางกลุ่มอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูง โดยมีชานเป็นตัวเชื่อมกิจกรรมและกลุ่มอาคารต่างๆเข้าด้วยกัน การจัดวางตำแหน่งของอาคารแต่ละหลังนั้น เป็นการจัดวางที่คำนึงถึงทิศทางแดดและการระบายอากาศเป็นสำคัญ บ้านนี้ได้นำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการวางผังและการออกแบบรูปตัดของอาคาร เพื่อกำหนดการวางตัวของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง
5 คอร์ตเล็กใหญ่ที่สัมพันธ์กับแรงลม
ออกแบบสเปซภายในบ้านให้กลุ่มของกิจกรรมแต่ละก้อนวางตัวเหลื่อมล้ำ สลับกันไปมาทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยคำนึงถึงทิศทางลมเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดคอร์ตขนาดน้อยใหญ่ขึ้นจำนวน 5 คอร์ต โดยขนาดแต่ละคอร์ตนั้นเป็นตัวกำหนดความแรงลมในส่วนต่างๆของอาคาร ผลลัพธ์ที่ได้ คือ คอร์ตเหล่านั้นได้ทำหน้าที่สอดประสานกัน บังคับทิศทางการไหลผ่านของลมให้หมุนเวียนทะลุทั่วทั้งตัวอาคารได้เป็นอย่างดี การกำหนดตำแหน่งและรูปทรงของต้นไม้ให้เป็นทรงสูงจัดวางในคอร์ตต่างๆ นอกจากจะช่วยลดความแข็งของผนังปูนสีเทาได้เป็นอย่างดี ยังช่วยลดความแรงลมยามที่ลมพัดเข้ามาในตัวอาคารได้อีกด้วย บ้านโมเดิร์นมีคอร์ตดิร์นมีคอร์ต
ปราการทึบที่เปิดเชื่อมกับท้องฟ้า
หลังจากการออกแบบให้มีการไหลเวียนของอากาศภายในอาคารได้อย่างดีแล้ว จึงมาพิจารณาเปลือกนอกของอาคารที่ทำหน้าที่สร้างความเป็นส่วนตัวภายในบ้าน โดยการทำผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบตันหนา 2 ชั้น เพื่อตัดขาดความสัมพันธ์จากภายนอกอย่างสิ้นเชิง ทั้งทางด้านมุมมองและเสียงรบกวนจากทางด่วน แต่สิ่งที่สัมผัสและรับรู้ได้เมื่ออยู่ในอาคารนี้คือ สายลม แสงแดด และท้องฟ้าเท่านั้น แล้วยังมีเสียงของสระน้ำแบบ infinity pool ที่มีน้ำไหลตลอดเวลา ทำหน้าที่กลบเสียงรบกวนจากภายนอกได้อย่างดี โดยผนังภายนอกอาคารที่เป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนมีขนาดใหญ่มากและไม่มีรอยต่อเลย ผู้ออกแบบเลือกใช้สีพ่นเท็กเจอร์ที่มีความยืดหยุ่นสูงถึง 700% เพื่อป้องกันการแตกร้าว
มิติแห่งแสงและที่ว่าง
แสงแดดที่ร้อนแรงของประเทศไทย เป็นอีกประเด็นหลักที่ผู้ออกแบบให้ความสำคัญ โดยออกแบบครีบบังแดดคอนกรีตบริเวณดาดฟ้าอาคาร ให้แต่ละครีบมีความลึก 70 เซนติเมตร ห่างกัน 1.25 เมตร ช่วยบังแดดและความร้อนจากแสงอาทิตย์ผ่านมาในปริมาณจำกัด ทำให้ภายในอาคารไม่ร้อน ในขณะเดียวกันเมื่อเวลาเปลี่ยนไป แสงแดดในแต่ละช่วงเวลาก็สร้างมิติที่น่าสนใจและหลากหลายให้กับพื้นที่ภายในอาคารอีกด้วย
เรื่อง : ดนัย สุราสา
เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : Beersingnoi