ก้นบุหรี่ ภัยร้ายที่น่ากลัวกว่าหลอดพลาสติก เชื่อหรือไม่ว่า ขยะที่ปนเปื้อนไหลลงทะเลนั้น มากกว่าหลอดพลาสติก มันคือก้นบุหรี่ที่เป็นขยะยากแก่การรีไซเคิล
อาจจะดูเหมือนเป็นวัสดุนุ่มนิ่มที่น่าจะรีไซเคิลได้ไม่ยาก แต่แท้จริงแล้วก้นบุหรี่เหล่านี้ประกอบขึ้นจากพลาสติก ประเภทเซลลูโลสอะซีเตต (Cellulose Acetate) เป็นประเภทเดียวกับที่ใช้ทำแผ่นฟิล์มกันแสงจอโทรทัศน์ ฟิล์มถ่ายรูป และฝาครอบหลอดไฟ มีความเหนียว และทนทานต่อแรงกระแทก ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ในการย่อยสลายเลยทีเดียว และมักจะจบลงที่การนำไปฝังกลบ โดยเฉพาะก้นบุหรี่ใช้แล้วยังมีเศษยาสูบที่มีสารท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง นิโคตินเหล็ก สารก่อมะเร็ง และเอทิลฟีนอล ซึ่งเป็นสารพิษที่จะตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อฝังกลบแล้ว อาจถูกพัดพาไป จนเป็นขยะทางทะเลในที่สุด
ด้วยเหตุนี้เอง Sachi Tungare นักออกแบบชาวอินเดีย จึงเริ่มต้นโปรเจ็กต์ let’s (not) kick butt ตั้งแต่ปี 2019 โดยเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ทางการศึกษาที่ Design Academy Eindhoven ประเทศเนเธอร์แลนด์ก่อน ซึ่งในโครงการนี้ก็คือการหาวิธีที่จะนำเอาเศษก้นบุหรี่เหลือทิ้ง มาขจัดสารพิษออกด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะผสมสีลงไปในวัสดุเพื่อให้ดูเป็นมิตร และน่านำกลับไปใช้มากขึ้น ก่อนจะทดลองการขึ้นรูปให้กลายเป็นชิ้นงานต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันการขึ้นรูปนั้นยังทำได้ในระดับหนึ่ง ผลลัพธ์ในตอนนี้จึงเป็นเหมือนกับผลงานศิลปะ โดยล่าสุดก็ถูกจัดแสดงไปในฐานะแจกันทรงแปลกจากวัสดุเหลือทิ้งแบบ Upcycling นั่นเอง
ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามเพื่อโลกที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน เพราะ Good Design นั้นอาจไม่เพียงพอเสียแล้วในปัจจุบัน Better Design จึงกลายมาเป็นคำตอบเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และโลกที่ดีกว่าของเราทุกคน
จนถึงตอนนี้โครงการก็ยังดำเนินการอยู่ สามารถติดตามผลงานของเธอได้ทาง https://www.sachitungare.com
ภาพ : https://www.sachitungare.com
เรื่อง : Wuthikorn Sut