เมืองเป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนของหลายสิ่ง ผู้คน ถนน รถรา ต้นไม้ สวน ตึกรามบ้านช่อง และองค์ประกอบอีกนับไม่ถ้วน นำมาซึ่งข้อสังเกตที่หลายคนเห็นตรงกันว่า เมืองเมืองหนึ่งจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองและแตกต่างจากเมืองเมืองอื่น แต่ในขณะเดียวกัน องค์ประกอบที่หลากหลายของเมืองนั้นก็อาจนำมาซึ่งความสลับซับซ้อนไปจนถึงสับสน หรือกระทั่งถูกมองว่าเป็นปัญหาของผู้อยู่อาศัยในหลายๆ การถกเถียง
หนังสือ The Image of the City ตีพิมพ์ในปี 1960 เป็นความพยายามหนึ่งของการทำความเข้าใจและอธิบายความสลับซับซ้อนของเมือง ที่ Kevin Lynch นักคิดนักเขียนด้านผังเมืองชาวอเมริกันได้นำเสนอหนึ่งในวิธีคิดเกี่ยวกับเมืองในช่วงศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลาที่หลายทฤษฎีเกี่ยวกับชุมชนเมืองปะทะสังสรรค์กันมากในโลกตะวันตก คำอธิบายของ Lynch ในเวลานั้นนับเป็นแง่มุมใหม่ที่แพร่หลาย และหลายคนก็ได้ยึดใช้เป็นทฤษฎีในการทำความเข้าใจเมือง ที่ยังคงส่งอิทธิพลต่อแนวคิดการออกแบบชุมชนเมืองมาจนถึงเวลาปัจจุบัน
บทความนี้จะนำทฤษฎีของ Lynch จากหนังสือ The Image of the City โดย Kevin Lynch มาอธิบายอีกครั้ง โดยจะมาดูว่าใจความสำคัญคืออะไร มีอะไรที่น่ารู้หรือปรับใช้ได้บ้าง และอะไรคือความสำคัญของการ “อ่านเมือง” ที่ผู้เขียนนำเสนอ
แนวคิดเรื่องชุมชนเมืองในศตวรรษที่ 20
เพื่อจะทำความเข้าใจความสำคัญของแนวคิดของ Kevin Lynch เราอาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปสังเกตแนวคิดด้านชุมชนเมืองก่อนหน้า Lynch โดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก่อน ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาหลายเมืองในโลกตะวันตกประสบปัญหาคล้ายกันคือ ความเสื่อมโทรมของเมืองอันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของย่านอุตสาหกรรมในจุดต่างๆ การเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากจากชนบทเข้าสู่เมือง และความแออัดรวมถึงการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเนื่องจากตัวเมืองไม่อาจรองรับปรากฎการณ์ดังกล่าวได้
ในช่วงเวลานี้ หลายแนวคิดเกี่ยวกับชุมชนเมืองได้เกิดขึ้นเพื่อตอบรับปัญหาดังกล่าว โดยหนึ่งในแนวคิดที่แพร่หลายคือแนวคิดที่เรียกว่า Garden City ริเริ่มโดยนักทฤษฎีด้านชุมชนเมืองชาวอังกฤษ Ebenezer Howard ตั้งแต่ช่วงปี 1898 ใจความสำคัญของแนวคิดนี้ คือการเลือกและผสานข้อดีของการอยู่อาศัยในเมืองและในชนบท โดยคัดข้อเสียของทั้งคู่ทิ้งไป แล้วมาจำลองเป็นรูปแบบของชุมชนต้นแบบ แนวคิดดังกล่าวนำมาซึ่งแผนผังจำลองชุมชนการอยู่อาศัยในจินตนาการ ที่มีการแบ่งโซนระหว่างโซนที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรมชัดเจน และมีการระบุรูปแบบการเดินทาง สาธารณูปโภค รวมถึงระบุจำนวนประชากรในแต่ละเขตอย่างแน่นอนชัดเจนด้วย แม้จะถูกอ้างถึงและมีอิทธิพลรวมถึงมีการปรับใช้ในการออกแบบหลายชุมชน แต่แนวคิด Garden City ก็เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นแนวคิดที่เอนเอียงไปในทางการจำลองชุมชนในอุดมคติหรือโลกแบบยูโทเปีย (Utopia) ขึ้น คล้ายเป็นการปฏิเสธโลกใบเดิมแล้วสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาแทน รวมถึงเป็นการมององค์ประกอบทั้งหลายในเมืองเป็นหน่วยย่อยในเชิงนามธรรมที่ตัดรายละเอียดและความหลากหลายในความเป็นจริงออกไป
อีกแนวคิดเรื่องชุมชนเมืองที่คล้ายคลึงกันในเชิงการปฏิเสธสิ่งเดิมแล้วนำเสนอสิ่งใหม่ในช่วงเวลาต่อมา คือแบบจำลองเมือง The Radiant City โดยสถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลในโลกสถาปัตยกรรม Le Corbusier ที่ถูกเผยแผ่ในช่วงทศวรรษที่ 1920 – 1930 แผนผังเมืองใหม่ของ Le Corbusier เป็นการเริ่มสร้างชุมชนใหม่จากจุดเริ่มต้นคล้ายกับแนวคิด Garden City แต่ The Radiant City นั้นเน้นการอยู่อาศัยในทางตั้งมากกว่าในแนวราบ นอกจากนั้น แผนผังทั้งหมดก็จะถูกวางลงบนกริด (Grid) โดยยึดแนวคิดการทำทุกอย่างให้เป็นมาตรฐาน เน้นอาคารและการอยู่อาศัยที่เป็นแบบแผน ได้รับแสงแดดเพียงพอ มีเส้นทางการเดินทาง (โดยรถยนต์) ที่สะดวก พร้อมพื้นที่โล่งสีเขียวขนาดใหญ่ที่หลายเมืองในยุโรปในขณะนั้นโหยหา แต่ก็เช่นเดียวกับ Garden City วิสัยทัศน์ของ Le Corbusier นี้มีจุดร่วมคล้ายกันคือการสร้างโลกในอุดมคติขึ้นทาบทับชุมชนเมืองเดิม แม้จะมีการนำปรับไปใช้รวมถึงมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายๆ โครงการโดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยทางตั้งทั้งหลายที่เราคุ้นตา แต่ก็ยากจะชี้ชัดได้ว่ามีโครงการไหนที่บรรลุเป้าหมายดังภาพฝันของ Le Corbusier ทุกประการเมื่อมันมาปรากฏบนโลกของความเป็นจริง
แนวคิดด้านชุมชนเมืองสองแนวคิดที่ได้กล่าวถึงไปแล้วกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดที่เน้นการนำเสนอภาพของการอยู่อาศัยแบบที่ทุกปรากฏการณ์การใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ถูกคิดขึ้นใหม่ราวกับถูกวาดจากกระดาษเปล่า หรือกล่าวอีกแบบว่าเป็นการจินตนาการถึงเมืองใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือเป็นภาพฝันของเมืองในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง มาถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้รวมความหลากหลายและปรากฏการณ์ในชีวิตจริงทั้งสองแบบนั้นไม่เคยบรรลุเป็นชุมชนเมืองในฝันได้ตามต้นความคิด ในยุคหลังสงคราม ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 จึงเกิดแนวคิดอีกกระแสที่แตกต่างจากแนวทางการวาดสร้างโลกใบใหม่ แต่เริ่มเป็นการเริ่มจากการมองหาสิ่งที่มีอยู่เดิม และหยิบเอาประสบการณ์ร่วมของผู้คนในสังคมมาเกี่ยวข้องมากขึ้น แนวคิดของ Kevin Lynch ที่จะนำเสนอในส่วนถัดไปนี้ ก็กล่าวได้ว่าเป็นอีกวิธีการที่เป็นการทำความเข้าใจผู้คนและองค์ประกอบของเมืองที่มีอยู่เดิม เพื่อจุดประสงค์ในการนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านชุมชนเมืองแบบใหม่ที่อาจนำไปสู่แนวทางการออกแบบและวางแผนชุมชนเมืองต่อไปได้
ความสำคัญของ Kevin Lynch และ the Image of the City
หนังสือ The Image of the City ของ Kevin Lynch คือการศึกษาและอธิบายทฤษฎีชุมชนเมืองผ่าน 3 เมืองในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บอสตัน เจอร์ซีย์ซิตี และลอสแอนเจลิส โดยจากในหนังสือ จุดตั้งต้นของ Lynch คือการกล่าวถึงการทำความเข้าใจเมืองโดยการมอง หรือกล่าวอีกแบบคือ การมอง ในเชิงประสาทสัมผัสหนึ่งของมนุษย์ เป็นแง่มุมที่มีความสำคัญและนำไปสู่ความเข้าใจเมืองในมุมมองใหม่ๆ มากขึ้นได้
โดยในที่นี้ Lynch ได้เชื่อมโยงการมองเมืองไปสู่การเปรียบเปรยในเชิงภาษา โดยเขากล่าวว่า คุณสมบัติที่ดีของเมืองนั้นได้แก่การ “อ่านออก” หรือ “Legibility” กล่าวคือ สำหรับ Lynch เมืองที่อ่านออกได้คือเมืองที่เมื่อผู้คนมองแล้วสามารถเข้าใจ หรือจินตนาการได้ถึงแพทเทิร์นบางอย่างของเมืองที่ได้ถูกจัดการให้เป็นระเบียบและมีความสอดคล้องต่อเนื่อง หรือมีสัญลักษณ์บางอย่างเป็นที่สังเกตจดจำได้ เขายังกล่าวอีกว่า เมืองที่อ่านได้ (legible city) จะเป็นเมืองที่ประกอบไปด้วยบรรดาย่าน เส้นทางเดิน รวมถึงแลนมาร์คที่ผู้คนระบุลักษณะหรือตำแหน่งได้ง่าย รวมถึงเมื่อผู้คนมองแล้วสามารถจัดกลุ่มหรือเรียงร้อยสิ่งเหล่านี้ในความคิดให้อยู่ในแพทเทิร์นหรือภาพรวมบางอย่างได้ด้วย[1]
สำหรับ Lynch แล้ว เมืองที่อ่านได้ง่ายจะหมายถึงเมืองที่เอื้อให้ผู้คนไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่มากกว่านั้น เมืองที่สังเกตการก่อรูปได้ชัดเจน และมีความสอดคล้องกันโดยตลอด จะนำมาซึ่งภาพของเมืองที่มีความแจ่มชัด มีศักยภาพ อันนำไปสู่การให้ความรู้สึกปลอดภัย เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้คน ไปจนถึงสามารถสร้างความทรงจำร่วมของผู้คนในสังคมได้[2] โดยสิ่งที่ Lynch ใช้ในการประเมินคุณภาพของการอ่านได้ของเมืองคือสิ่งที่ Lynch เรียกว่า “Image” หรือ “จินตภาพ” อันหมายความถึงภาพในเมืองที่ไม่ใช่เพียงฉากต่างๆ ในเชิงกายภาพที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า แต่ Lynch เน้นไปที่ภาพในความคิด ที่หมายรวมถึงประสบการณ์และความทรงจำของผู้คนที่มีต่อเมืองนั้นๆ ด้วย
มาถึงตรงนี้ จึงจะสังเกตได้ว่าการอธิบายถึงเมืองที่ดีนั้น Lynch มุ่งไปที่ประเด็นด้านความคิดและจิตใจของผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ ก่อน ซึ่งเป็นแง่มุมที่แตกต่างจากแนวคิดในกระแสที่เน้นหน้าที่ใช้สอยและความถูกต้องในหลักเหตุผลดังที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น Lynch ยังอธิบายต่อว่าจินตภาพของเมืองใดเมืองหนึ่งนั้นไม่ได้เกิดมาจากการประสบการณ์ ความทรงจำ หรือจินตนาการของใครแค่คนใดคนหนึ่ง แต่จะเกิดจากการประมวลร่วมกันของคนหมู่มาก คล้ายเป็นข้อตกลงร่วมกันของผู้คนในสังคมถึงภาพของเมืองที่พวกเขาอยู่อาศัยร่วมกัน Lynch จึงเน้นคำว่า “public images” หรือ “จินตภาพสาธารณะ” หรือกล่าวอีกแบบว่าเป็นจินตภาพที่เป็นฉันทามติ ที่เน้นจุดร่วมของความเข้าใจของประชากรในชุมชนเมืองนั้นๆ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นมุมมองที่ให้ความสำคัญกับผู้คนที่อยู่อาศัยจริงในชุมชนนั้นๆ มากขึ้น หรือกล่าวอีกแบบว่า ผู้คนในทฤษฎีของ Lynch ได้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดภาพของเมืองของพวกเขา มากกว่าการถูกคิดในเชิงข้อมูลและถูกบรรจุลงในแผนผังต่างๆ เหมือนสองทฤษฎีที่กล่าวถึงไปข้างต้นนั่นเอง
องค์ประกอบของจินตภาพเมือง
ในหนังสือ Lynch ยังได้นำเสนอหลักการซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างจินตภาพในทฤษฎีของเขา ซึ่งถูกพูดถึงและปรับใช้อย่างแพร่หลาย ในทฤษฎีนี้ Lynch กล่าวถึงองค์ประกอบทางกายภาพของเมือง 5 ประการ ที่ช่วยในการสร้างจินตภาพของเมือง ได้แก่ 1.Path หรือ เส้นทาง 2.Edge หรือ เส้นขอบ 3.Districts หรือ ย่าน 4.Nodes หรือ ชุมทาง/ชุมนุมชน และ 5.Landmarks หรือ ภูมิลักษณ์[3]
- Path หรือ เส้นทาง
เส้นทาง คือ ทางสัญจรที่ผู้คนใช้เดินทางผ่านไปในที่ต่างๆ อันได้แก่ ทางเดิน ถนน รวมไปถึงคลอง หรือแม้แต่ทางรถไฟ Lynch อธิบายว่าเส้นทางเป็นองค์ประกอบรากฐานในบรรดา 5 องค์ประกอบ เพราะเป็นองค์ประกอบที่ผู้คนใช้รับรู้เมืองและสร้างจินตภาพของเมืองไปในขณะที่พวกเขาเดินทาง รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ก็จะเกาะเกี่ยวไปบนเส้นทางด้วยเช่นกัน - Edge หรือ เส้นขอบ
เส้นขอบ คือ ขอบเขตที่คั่นแบ่งระหว่างพื้นที่สองพื้นที่ เช่น กำแพง ขอบของเมือง หรือเส้นแบ่งทางธรมชาติอย่างหาดทรายริมทะเล เส้นขอบนี้ทำหน้าที่หลักคือการจัดระเบียบ รวมถึงแบ่งและเชื่อมระหว่างพื้นที่สองพื้นที่ เส้นขอบหลายครั้งก็ทำหน้าที่เดียวกับการเป็นเส้นทาง เหมือนที่หลายครั้งถนนหรือลำธารในการรับรู้ของคนเป็นเส้นแบ่งระหว่างเขตแดนสองเขตนั่นเอง - Districts หรือ ย่าน
ย่าน คือ พื้นที่สองมิติขนาดกลางถึงใหญ่ที่ขยายขอบเขตไปถึงขอบเขตหนึ่งตามการประมาณในความคิดความเข้าใจของผู้คน ซึ่งภายในนั้นพื้นที่นั้นอาจมีคุณลักษณะบางประการในด้านต่างๆ ที่คล้ายกัน โดยย่านเป็นพื้นที่ที่นิยามตัวเองจากการมองออกไปเปรียบกับย่านอื่น รวมถึงเปรียบจากย่านอื่นมองกลับเข้ามาไปด้วยพร้อมๆ กัน - Nodes หรือ ชุมทาง/ชุมนุมชน
ชุมทางหรือชุมนุมชน คือ จุดหรือลานต่างๆ ที่เรียกความสนใจและเรียกให้ผู้คนสัญจรเข้าไปได้ เช่น หัวมุมถนน แยกของเส้นทางที่ตัดกัน หรือลานกลางเมือง โดยธรรมชาติชุมทางสัมพันธ์กับเส้นทางเพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับการสัญจรของคน และชุมทางอาจทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมหรือใจกลางของย่านด้วย - Landmark หรือ ภูมิลักษณ์
แลนด์มาร์ค เป็นองค์ประกอบที่มีลักษณะเป็นจุดอ้างอิงในเมืองคล้ายชุมทาง แต่แตกต่างที่ผู้คนจะไม่ได้สัญจรเข้าไป หรือเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือวัตถุที่มีอ้างถึง เช่น ป้าย ร้านค้า ตึกต่างๆ หอคอย หรืออนุสาวรีย์ แลนด์มาร์คจึงเป็นองค์ประกอบที่อาจอยู่ไกล แต่อ้างอิงได้เมื่อถูกมองเห็นจากหลายมุมมองเมื่อยืนอยู่ในจุดต่างๆ ในเมืองได้ด้วย รวมถึงแม้แต่องค์ประกอบเล็กๆ อย่าง บานประตูของร้านค้าหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ หรือป้ายที่สร้างความคุ้นเคยให้กับชุมชน Lynch ก็ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คในระดับย่อยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม Lynch ยังระบุว่าในสถานการณ์จริงองค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบนั้นไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กัน รวมถึงอาจซ้อนทับหน้าที่กันในเวลาเดียวกันด้วย รวมถึง จินตภาพของเมืองนั้นไม่ได้เกิดจากองค์ประกอบทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่มีความหมายหรือถูกอ้างอิงได้ เช่น ชื่อเรียกของสถานที่ต่างๆ ประวัติศาสตร์ของมัน รวมถึงหน้าที่ของสิ่งต่างๆ ที่ตอบสนองคนในเมือง[4] (อาจนึกถึงการเกิดขึ้นของตลาดนัด หรือวินมอเตอร์ไซค์ ที่ความสำคัญอยู่ที่การตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในละแวก) แต่การสังเกตในทางกายภาพนั้นเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมการสร้างจินตภาพที่แข็งแรงร่วมกันของคนในเมืองนั้นๆ ได้ โดย Lynch ได้กล่าวว่า ความสำคัญของทฤษฎีนี้ คือความสอดคล้องกันของทั้ง 5 องค์ประกอบ ที่ถ้าหากองค์ประกอบทั้งหมดสอดประสานกันอย่างดีแล้ว ก็จะนำมาซึ่งจินตภาพของเมืองที่แจ่มชัด และสถิตอยู่ในการรับรู้เมืองในภาพระดับกว้าง[5] นำไปสู่การออกแบบหรือการวางผังเมืองที่ดีต่อไปได้
จินตภาพ และความเข้าใจเมือง
มาถึงตรงนี้ เราก็จะสามารถสรุปได้ว่าความสำคัญของการ “อ่านเมือง” ที่ Kevin Lynch กล่าวถึงใน The Image of the City นั้น นำมาซึ่งความเข้าใจเมืองในอีกมิติ และอาจนำไปสู่การออกแบบเมืองโดยคำนึงจากประสบการณ์และความทรงจำร่วมของประชากรผู้อยู่อาศัยจริงมากขึ้น กล่าวคือ เป็นวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมืองที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการร่างแนวคิดนามธรรมบนกระดาษเปล่า แต่เริ่มจากการสังเกตและอ้างอิงจากปรากฏการณ์และความเป็นไปในสถานที่จริง ในแง่นี้ วิธีคิดของ Lynch จึงกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามเชื่อมโยงและประยุกต์เข้ากับสิ่งที่มีอยู่เดิมมากกว่าการลบทิ้งแล้วเริ่มใหม่เหมือนหลายทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้าเขา ถึงแม้ว่าจะได้ร่างภาพเมืองที่ควรจะเป็น ผ่านการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของ 5 องค์ประกอบที่คล้ายกับเป็นการนำเสนอรูปร่างของชุมชนเมืองในอุดมคติรูปแบบหนึ่ง แต่การจับเอาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง แล้วนำมาอธิบายเป็นองค์ประกอบย่อย ก็เอื้อให้เห็นภาพการอ้างทฤษฎีรวมถึงการประยุกต์ใช้องค์ประกอบนั้นๆ กับเมืองต่างๆ ต่อไปได้
นอกจากนั้น แนวคิดที่เริ่มจากการการอ้างอิงความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่อยู่อาศัยจริง ก็ฉายให้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านวิสัยทัศน์ในเชิงการวางผังเมือง ที่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลายแผนผังและการออกแบบนั้นถูกผลิตจากอัจฉริยะภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วเผยแผ่ต่อสาธารณะชน แต่ Kevin Lynch ได้หันความสนใจไปสู่จุดร่วมของประสบการณ์และความทรงจำรวมถึงเรื่องราวของปัจเจกแต่ละคน ผู้คนในทฤษฎีของ Lynch จึงมีตัวตน มีประวัติ มีหน้าตา รวมถึงมีอำนาจในการคิดฝันถึงเมืองที่พวกเขาจะมีประสบการณ์ร่วมด้วย ต่างจากผู้คนในสองทฤษฎีก่อนหน้าที่ประชากรถูกมองในเชิงข้อมูล หรือเป็นคนที่มีวิถีชีวิตเหมือนกันตามมาตรฐานบางประการที่ถูกกำหนดไว้ ยังไม่นับว่าการมองเมืองของ Lynch นั้นเอนเอียงไปในเชิงสุนทรียะร่วมด้วยมากกว่าการอ้างความสะดวกสบายในเชิงหน้าที่ใช้สอยเพียงอย่างเดียว เหมือนที่เขากล่าวว่า “เราต้องการสถาพแวดล้อมที่ไม่เพียงแต่มีการจัดการที่ดี (well-organized) แต่ต้องมีความสุนทรี (poetic) และมีนัยยะ (symbolic) ด้วย”[6]
อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นว่า Lynch เริ่มให้ความสำคัญกับประชากรในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีตัวตน แต่การสร้างจินตภาพของเมืองในความหมายของ Lynch ก็มีข้อจำกัดด้านกลุ่มประชากรอยู่บางประการ เช่น Lynch ได้กล่าวถึงความหลากหลายของกลุ่มคนและความเป็นไปได้ของการสร้างจินตภาพว่า กลุ่มคนแต่ละกลุ่มย่อมมีจินตภาพของเมืองที่แตกต่างกันไป โดยผู้คนที่ถูกจับให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันตามเกณฑ์บางอย่าง เช่น อายุ เพศ วัฒนธรรม อาชีพ รวมถึงชนชั้นเดียวกัน ย่อมมีแนวโน้มที่จะ
สร้างจินตภาพที่แข็งแรงและตรงกันมากกว่า โดยผู้ที่เป็นนักวางผังเมืองนั่นเอง ที่จะเป็นผู้ได้รับแรงผลักดันจากจินตภาพใดจินตภาพหนึ่งแล้วนำมาสร้างสภาพแวดล้อมจริงที่จะถูกใช้โดยคนทุกกลุ่ม[7] นอกจากนั้น Lynch ยังกล่าวว่า คุณภาพของจินตภาพสามารถพัฒนาได้ โดยการฝึก (Lynch ใช้คำว่า train) ให้ผู้คนรู้จักมองเมือง และรู้จักสังเกตรูปแบบของฟอร์มที่แตกต่างหลากหลายในเมือง โดยเขายังเสนออีกว่า การฝึกสอน (education) นี้เป็นกระบวนการที่สำคัญ และสามารถทำได้กระทั่งในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย[8] ในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า การมอง ในความหมายของ Lynch เป็นทักษะพิเศษ หรือเป็นความเชี่ยวชาญในบางรูปแบบที่ผู้คนควรจะมี หรือกล่าวอีกแบบว่า ประชากรที่จะมีศักยภาพพอที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างจินตภาพที่มีคุณภาพในความหมายของ Lynch ได้นั้น จะต้องเป็นกลุ่มคนที่ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ หรือผ่านการศึกษา จนเมื่อผ่านการศึกษาแล้วพวกเขาจึงจะสามารถสร้างจินตภาพที่เฉียบแหลม (acutely) ต่อโลกมากขึ้นได้[9]
ในแง่นี้ จึงฟังดูไม่ง่ายที่จะแยกแยะว่าจินตภาพแบบใดที่มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ หรือความเฉียบแหลมต่อการมองโลกที่ Lynch กล่าวถึงนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร และใครจะเป็นผู้ประเมิน จากมุมมองนี้ จึงกล่าวได้ว่า Lynch ยังให้ความสำคัญกับผู้ที่มีทักษะบางอย่างเหนือกว่าผู้ที่ไม่มี และประชากรทั้งหลายควรจะได้รับการฝึกฝนเพื่อนำมาซึ่งการผลิตจินตภาพของเมืองที่ได้มาตรฐานในบางรูปแบบ ดังนั้นแล้ว จึงเป็นเรื่องท้าทายในการนำทฤษฎีของ Lynch มาประยุกต์ใช้ในโลกศตวรรษปัจจุบัน เมื่อผู้คนยิ่งหลากหลาย และเมืองยิ่งสลับซับซ้อน การคำนึงถึงเมืองโดยให้ความสำคัญกับการมองผ่านเลนส์แค่บางเลนส์ อาจไม่เพียงพอต่อการเอื้อให้ผู้คนต่างที่มาและต่างสถานะได้มีส่วนร่วมต่อเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้อย่างแท้จริง
เรื่อง: กรกฎา
[1] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 3
[2] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 4
[3] อ้างอิงคำแปลภาษาไทยจาก อ่านอัตลักษณ์เมือง: วิธีคิดว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรม ภูมิทัศน์ และถิ่นที่ โดย สิงหนาท แสงสีหนาท ใน วารสารหน้าจั่ว: ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม วารสารวิชาการ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 33 (มกราคม-ธันวาคม 2561)
[4] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 46
[5] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 108
[6] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 119
[7] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 7
[8] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 117
[9] The Image of the City โดย Kevin Lynch หน้า 120