คุยกับ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้ฝันอยากให้ เมืองทองธานี เป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่

พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้ฝันอยากให้ เมืองทองธานี เป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป

หากใครเดินทางเข้าสู่ เมืองทองธานี จะเห็นได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีทุกอย่างครบพร้อมสำหรับการอยู่อาศัยและใช้ชีวิต สมกับที่เรียกว่า ‘เมือง’ มีที่พักอาศัย ศูนย์การค้า สถานศึกษา โรงแรม พื้นที่พักผ่อนสันทนาการ ไปจนถึงศูนย์การแสดงสินค้าและงานคอนเสิร์ต อย่าง อิมแพ็ค อารีน่า และ อิมแพ็คชาเลนเจอร์

ทุกอย่างที่ก่อร่างสร้างขึ้นมาตลอด 20 กว่าปี ภายใน เมืองทองธานี เกิดขึ้นจากเป้าหมายที่ชัดเจนของผู้พัฒนาพื้นที่ที่คิดว่า “อยากให้มีคนเข้าออกเมืองนี้เยอะขึ้นจนรู้สึกว่าถ้ามาบ่อยขนาดนี้ ก็เข้ามาอยู่ที่นี่เสียเลยดีกว่า”

มาถึงวันนี้เป้าหมายที่มากไปกว่านั้นของ คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแล อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในปัจจุบัน คือการสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน บ้านและสวน จึงขอชวนคุณพอลล์นั่งลงบนโซฟาในโรงเรียนสอนทำอาหาร Lenôtre Culinary Arts School Thailand ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี แล้วพูดคุยกันถึง “เมืองน่าอยู่” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบ

เมืองน่าอยู่ต้องยั่งยืน

เมื่อถามถึงนิยามของเมืองน่าอยู่ คุณพอลล์บอกว่าเราสามารถตีความออกมาได้หลายรูปแบบ และแต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน สมัยก่อนเมืองที่น่าอยู่สำหรับบางกอกแลนด์ คือ คนสามารถทำงาน อยู่อาศัย และสันทนาการในพื้นที่ เมืองทองธานี ได้แบบครบวงจร แต่สำหรับวันนี้ไม่นับว่าครบวงจรแล้วเพราะว่าผู้คนใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมากขึ้น ความต้องการจึงไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของโลกออนไลน์เข้ามาด้วย ประกอบกับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ได้กลายเป็นคำถามอันดับต้นๆ ที่คนรุ่นต่อไปถามหา

“ผมเพิ่งคุยกับผู้บริหารเชนโรงแรมแห่งหนึ่งเขาบอกว่าต่อไปนี้ลูกค้าจะถามว่าคุณมีการจัดการด้านความยั่งยืนอย่างไร มีการลดใช้พลังงานอย่างไร ถ้าไม่มีเขาก็ไม่มา นั่นแค่เรื่องโรงแรมที่เขาจะมาอยู่ 1-2 วัน แต่ถ้าเราอยู่กันเป็นเมืองและหวังว่าเขาจะมาอยู่ที่นี่ถาวร หน้าที่ของเรานอกจากจะทำเรื่องพื้นฐานอย่าง ถนนต้องสะอาด น้ำไม่ท่วม รถไม่ติด ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักเยอะขึ้น”

ตอนนี้ เมืองทองธานี ดำเนินการด้านความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED ส่งเสริมให้ใช้กระดาษน้อยลง ไม่ใช้พลาสติกเมื่อไม่จำเป็น ติดโซลาร์เซลล์ รวมถึงการจัดการขยะที่คุณพอลล์มองภาพอนาคตว่าอยากทำให้เมืองทองเป็น Zero waste คือไม่มีขยะออกจากเมืองนี้เลย

“ขยะจะไม่เป็นขยะถ้าเราจัดการรีไซเคิล พวกเก้าอี้ออฟฟิศประกอบด้วยไวนิล โฟม พลาสติก ล้อ เหล็ก เต็มไปหมด คุณขายเป็นซากไปทั้งตัวก็อาจจะได้ 20 บาท แต่ถ้าคุณแยกทุกชิ้น เหล็กขายเป็นเหล็ก ล้อขายเป็นล้อ คุณอาจจะได้ 30-40 บาทก็เป็นวิธีเพิ่มมูลค่า เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านที่เขามักจะโยนโซฟาทั้งตัวทิ้งไว้ที่หน้าคอนโด แล้วพวกเราจะต้องไปเก็บ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม นำทางให้กับลูกบ้านให้รวมตัวกันทำให้ดีขึ้นเมืองก็น่าอยู่มากขึ้น การพัฒนาเมืองไม่ใช่แค่หน้าที่ของเราอย่างเดียว ทุกคนที่อยู่ในเมืองควรจะมีส่วนร่วมช่วยกันทำให้พื้นที่น่าอยู่”

เมืองปลอดภัยเพราะคนกินดีอยู่ดี

อีกเรื่องที่คุณพอลล์และทีมงานกำลังทำงานกันอยู่คือทำให้เมืองปลอดภัยกว่าเดิม ยกตัวอย่างที่ผ่านมาเคยมีกรณีรถมอเตอร์ไซค์ถูกขโมย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำจึงต้องแก้กันตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหาด้วยการทำให้ลูกบ้านมีรายได้มากขึ้น

“เรากำลังทำงานร่วมกับ Robinhood โดยให้ร้านอาหารทุกร้านที่อยู่ในเมืองทองเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม แล้วจะให้ผู้จัดแสดงสินค้า (Exhibitors) ที่มาออกงาน เช่น มาออกงานบ้านและสวน 5 วัน ถ้าสมมติว่าต้องสั่งอาหารข้าวกล่องจากอิมแพคกินวนไปแค่ 3 วันก็เบื่อแล้ว ทุกคนคงอยากสั่งขาหมูเมืองทอง อยากสั่งพิซซ่า เราจะเปิดโอกาสให้ร้านค้าทุกร้าน ให้คนสั่งอาหารได้ เราจะจัดพื้นที่ที่อิมแพคเพื่อให้มอเตอร์ไซค์ไปจอดเพื่อให้ไรเดอร์นำอาหารไปส่งให้กับผู้จัดแสดงงานอย่างชัดเจน เราอยากให้ลูกบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วเราอยากให้คนที่อยู่ในเมืองทองที่ว่างงานอยู่ หรืออาจจะมีเวลาว่างวันละ 3 ชั่วโมงมาเป็นไรเดอร์รับอาหารไปส่ง ร้านอาหารได้รายได้ ไรเดอร์ก็ได้รายได้ exhibitors ก็ได้กินอาหารหลากหลาย”

หนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีงานจัดแสดงสินค้าหรือคอนเสิร์ต คือ มักมีแท็กซี่วิ่งเข้ามาไม่เพียงพอหรือคิดราคาเหมาแทนที่จะกดมิเตอร์ การเรียกรถจาก Robinhood Ride ก็เป็นวิธีแก้ปัญหา รถที่เข้ามาจะได้รับเงินจากอิมแพ็ค 100 บาท และเมื่อลูกค้าขึ้นแท็กซี่ก็สามารถบวกราคาได้อีก 50 บาทเหมือนการใช้บริการแท็กซี่ที่สนามบิน

คำถามคือทำไมอิมแพ็คจึงยอมจ่าย 100 บาท คุณพอลล์ให้คำตอบว่า “เราต้องมองว่าการที่เขาเข้ามาจากในเมืองเขาวิ่งรอบเปล่า เขาก็ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าทางด่วนเข้ามาเราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจว่าค่าแท็กซี่เริ่มต้น 35 บาทมากี่ปีแล้ว แต่ค่าน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ Robinhood เป็นคนเริ่มไม่ใช่เราคิดเอง ผมก็เห็นด้วย ถ้าเราทำให้แท็กซี่มีรายได้เพิ่ม และถ้าลูกบ้านว่างวันนั้น มีคอนเสิร์ตเลิก 4-5 ทุ่ม เขาก็มาสมัครรับ-ส่งลูกค้า แก้ปัญหาให้เราด้วย ก็ทำให้เมืองดีขึ้น ผมเชื่อในพื้นฐานของคนถ้าพวกเขามีรายได้ดีขึ้นก็ไม่คิดซิกแซก ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เราอยากทำเมืองที่คนบอกว่าอยู่ที่นี่ดีกว่า คนที่ดูแลเมืองนี้เขาเข้าใจเรื่องอนาคตของโลกและเข้าใจผู้คน พยายามจะหาเงินให้ ไม่ได้หมายความว่าหาเงินมาแจกแต่เราหางานให้เขา เราก็สามารถทำให้เมืองทองธานีเป็นเมืองที่น่าภูมิใจ”

เมืองที่คนอยากเที่ยว

 นอกจากจะเป็นเมืองน่าอยู่ คุณพอลล์อยากให้เมืองทองเป็นเมืองน่าเที่ยวด้วย เมื่อมองไปรอบๆ เมืองทองจะเห็นทั้งศูนย์แสดงสินค้า สนามฟุตบอล สนามโกคาร์ท รวมถึงโรงเรียนสอนทำอาหาร Lenôtre Culinary Arts School Thailand ที่เรานั่งพูดคุยกันอยู่นี้ ล้วนเป็นจุดหมายของชาวต่างชาติ

“มีเชฟจากต่างประเทศมาเรียนที่นี่ หลักสูตรของเรามีเรียนทำขนมปัง 2 เลเวล ทำอาหาร 3 เลเวล และทำขนมหวาน 2 เลเวล นักเรียนที่มาจากต่างประเทศเขาก็มาพักในเมืองทองธานีอยู่แล้ว อาจจะเป็นห้องพักที่เช่ารายเดือน ร้านอาหาร ร้านเอาต์เล็ทมีรายได้เพิ่ม ก็ทำให้เมืองนี้เจริญขึ้น การที่จะดึงคนต่างชาติมาอยู่ที่นี่เยอะขึ้นทำให้เมืองมีอำนาจซื้อ (Spending Power) ที่สูงขึ้น สนามโกคาร์ทด้านข้างนี้บางวันเราเดินเข้าไปมีคนฮ่องกงเต็มไปหมดเพราะฮ่องกงไม่มีโกคาร์ทเขาต้องมาเล่นที่ต่างประเทศ รวมถึงคนสิงคโปร์ มาเลเซีย ทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถเป็น Tourist Destination ได้”

ในปี 2568 จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาถึง สถานีแรกมาจอดที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสถานีที่สองมาจอดริมทะเลสาบ จึงเป็นโอกาสที่ต้องวางแผนเรื่องการพัฒนาที่ดินครั้งใหญ่อีกรอบ อาทิ โครงการมิกซ์ยูสที่จะมีทั้งห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ โรงแรม และจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว

“ใน 5 ปีข้างหน้าเราก็คงจะต้องมีแผนเรื่องการลงทุนพัฒนาที่ดินเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายที่ว่าคนที่อยู่รอบๆ เมืองทอง นักท่องเที่ยว หรือคนมาที่อิมแพค ต้องมีอะไรให้เขาทำมากขึ้น เพราะคนที่มาอิมแพค เช่น คนที่มาประชุมจากต่างประเทศ หรือมางานแสดงสินค้า ตอนนี้เขาอาจจะมาพักที่โรงแรมเรา 2-3 คืน พอเสร็จงานเขาก็อาจจะไปพัทยาหรือภูเก็ตต่อ แต่เราก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าถ้าเรามีทุกอย่างครบ เขาอาจจะเลือกอยู่ต่ออีก 2 วันเพื่อเรียนทำอาหาร หรือเราอาจจะมีสปา หรือตีกอล์ฟ”

ทุกอย่างที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยั่งยืน ความปลอดภัย และการพัฒนาพื้นที่ ทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งไปตรงจุดเดียวคือทำให้เมืองทองธานีน่าอยู่

“ผมฝันว่าสักวันหนึ่งเราต้องทำให้เมืองทองธานีเป็นเมืองตัวอย่างให้ประเทศไทยได้เห็นว่าพวกเราทำอย่างไร ผมไม่สามารถเข้าไปในรัฐสภาได้ แต่เรามีพื้นที่ตรงนี้ที่สามารถดูแลให้ดีแล้วเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า เมืองทองธานียังทำแบบนี้ได้ แล้วทำไมกรุงเทพฯ จะทำไม่ได้