หลาย ๆ คนอาจตื่นขึ้นมาพบตัวเองในบ้านที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเฉพาะเพื่อเรา แต่กลับเป็นบ้านสำเร็จรูปที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นของใครก็ได้ จนเราต้องอยู่อาศัยอย่างประนีประนอม ใช้สอยพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะกับเราเลยตลอดเวลา แต่บางครั้ง…ความรู้สึกแบบนั้นก็อาจเป็นแรงผลักดันให้บ้านหลังถัดมาของเรากลายเป็น “บ้าน” ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเสียที
อย่างเช่นการเปลี่ยนผ่านของความทรงจำจากบ้านหลังเก่าย่านบางแค โอนย้ายมายังบ้านกึ่งโฮมออฟฟิศหลังใหม่ในย่านทวีวัฒนา พร้อมกับมวลความสุขที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวนรเศรษฐกร
// ถ้าคุณนำฟังก์ชันของตัวเองมาสร้างเป็นบ้านในแบบของคุณ เราจะมีบ้านที่ไม่เหมือนกันเลย และสนุกกับการสร้างบ้าน //
“ครอบครัวเรามีกันสี่คนพี่น้องและคุณพ่อคุณแม่ แต่เดิมบ้านเราอยู่ใกล้ตลาดบางแค มีเสียงดังวุ่นวายทั้งวันทั้งคืน และบ้านตึกแถวเก่าก็อึดอัด ต้องคอยปิดประตูเพราะฝุ่นเยอะ วัน ๆ อยู่กับหลอดไฟซึ่งต้องเปิดตลอดเวลาเพราะบ้านไม่ค่อยมีหน้าต่าง ผมกับน้องชายจึงตกลงใจกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องขยับขยายบ้านเสียที จึงชวนกันไปดูที่ใหม่ ไปมาหลายที่จนเจอที่นี่ซึ่งผมว่าสงบดี”
คุณเก่ง – พีรเดช นรเศรษฐกร เล่าถึงความเป็นมาก่อนที่บ้านชานเมืองหลังนี้จะถือกำเนิดขึ้นด้วยฝีมือของสองพี่น้อง แม้จะจบดีกรีด้านโปรดักต์ดีไซน์ แต่ด้วยประสบการณ์ในสายงานสถาปัตยกรรมของคุณเก่งก็ช่วยเติมเต็มและหลอมรวมเข้ากับพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมไทยของ คุณนิว – กิตติธัช นรเศรษฐกร น้องชายคนเล็กของบ้านได้อย่างลงตัว ทุกรายละเอียดความต้องการถูกตีความและแปลออกมาเป็น “บ้าน” ที่สร้างขึ้นเพื่อพวกเขาอย่างแท้จริง งานออกแบบครั้งนี้เกิดจากการวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกทุกคนเป็นหลัก จากแผนผังความคิดเริ่มต้นจนนำไปสู่โมเดลบ้านในรูปแบบสุดท้าย ระหว่างทางเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ต้องใส่ใจ เพื่อเติมเต็มการใช้งานทุกแง่มุมให้สมบูรณ์ที่สุด
“บ้านหลังนี้ ‘Form Follows Function’ มาก ๆ รูปแบบของบ้านเริ่มมาจากการทำ Mind Map ของแต่ละคน เนื่องจากเราอยู่กันถึง 5 – 6 คน แม้พี่สาวคนโตจะไม่ค่อยอยู่บ้าน แต่เราก็เผื่อสเปซไว้ให้ เราจะดูว่าคนนี้ตื่นเวลานี้ คนนี้นอนเวลานี้ คนนี้ใช้ชีวิตแบบนี้ แล้วจึงนำรายละเอียดเหล่านั้นมาออกแบบ โดยต้องมีการเช็กทิศทางแสงและลมในแต่ละช่วงวันและในแต่ละเดือนเรียกว่าเช็กกันอยู่เป็นปีก่อนจะสร้างจริง”
เราเดินผ่านประตูเหล็กลายสนิม พร้อม ๆ กับน้อมเคารพภาพของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บนฟาเซดด้านหน้า ไม่ต้องบอกก็เดาได้ไม่ยากว่าความเป็นนักออกแบบและสถาปนิกของทั้งคู่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นจากรั้วศิลปากร เงยหน้าขึ้นอีกครั้งก็พบกับบานประตูไม้สไตล์จีนเปิดนำเราไปสู่ตัวบ้านที่มีระเบียงทางเดินไม้ทอดตัวเฉียงไปกับแนวคอร์ตหญ้ากลางหมู่ตึกคอนกรีตเรียบ ๆ ซึ่งมีทั้งเหลี่ยมมุมและความดิบกระด้าง แต่ทว่าดูอบอุ่น มีชีวิตชีวาด้วยบรรยากาศของคำว่า “ครอบครัว”
“บ้านนี้มีแมสหลักสามส่วน คือ ส่วนที่ใช้เป็นสตูดิโอ ห้องนอนผมกับน้องชาย และพื้นที่ส่วนตัวของพ่อ แม่ ป้า และพี่สาวที่อยู่ด้านหลัง โดยทุกห้องสามารถมองเห็นสนามหญ้าที่อยู่ตรงคอร์ตกลางได้เพราะตั้งใจออกแบบให้ช่องเปิดทุกช่องสามารถมองเห็นสวนได้อย่างสบายตา แม้จะอยู่ในห้องน้ำก็ตามผมคิดว่าการได้อยู่กับธรรมชาติตลอดเวลาช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่อยากให้ทุกคนกลับมาแล้วต่างคนต่างไปอยู่ในห้องนอนตัวเอง อย่างพี่สาวนาน ๆ กลับมาทีก็มานั่งทำงานในสตูดิโอ จากตรงนี้เราก็จะเห็นญาติพี่น้องเดินไปเดินมาทั้งวัน”