บ้านญี่ปุ่น หลังนี้ไม่ใช่แค่ที่พักอาศัย แต่ยังเป็นเหมือนกล่องบรรจุความทรงจําของคนในครอบครัวที่ไม่มีวันเต็ม
ถ้าพูดชื่อเมืองอะสึงิ จังหวัดคะนะกะวะ หลายคนคงขมวดคิ้ว เพราะชื่ออาจไม่คุ้นหูนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นมากนัก แม้จะไม่ได้เป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ แต่ที่นี่คือสถานที่ตั้งสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาถึง 6 สถาบัน และหนึ่งในน้ันคือ Tokyo University of Agriculture Botanical Garden ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทําไมเมืองอะสึงิจึงเต็มไปด้วยแปลงเกษตรกรรมท้ังสองฝั่งถนน ทั้งนี้ใช่ว่าจะได้เห็นแต่บ้านชนบทปลูกสร้างด้วยไม้หรือมีเตาทำอาหารอยู่กลางบ้าน เพราะเราจะพาคุณมาเยี่ยมเยือน บ้านญี่ปุ่น บ้านไม้กลางฟาร์มรูปทรงทันสมัย ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางแปลงเกษตรได้อย่างกลมกลืนน่าอัศจรรย์
เมื่อมองไปยังปลายสุดของแปลงเกษตรของครอบครัวกิกคาวะ จะพบกับบ้านรูปทรงเรียบง่ายตั้งโดดเด่นอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดูอ่อนน้อมถ่อมตนในแบบฉบับของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเกิดจากคุณมาซาชิ กิกคาวะ ลูกชายที่ควบตำแหน่งสถาปนิก และคุณอิเคดะ ฮิซาชิ ตั้งใจอยากสร้างบ้านหลังนี้ให้คุณพ่อและคุณแม่วัยเกษียณทั้งสองท่านได้อยู่อย่างมีความสุข ไปพร้อมๆ กับการทำเกษตรที่ท่านรัก
คุณมาซาชิเล่าจุดเริ่มต้นให้เราฟังว่า บ้านญี่ปุ่น หลังนี้สร้างบนที่ดินเดิมของครอบครัวที่มีอาชีพทำการเกษตรโดยย้ายมาจากบ้านหลังเก่าที่เคยอยู่ติดถนนหลัก มีเสียงรบกวนตลอดเวลา เมื่อคุณพ่อเกษียณจึงอยากออกแบบบ้านหลังนี้ขึ้นใหม่ เนื่องจากตัวเองมีความคุ้นเคยกับที่ดิน รู้อุปนิสัย รวมไปถึงความต้องการของคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างดี การออกแบบบ้านหลังนี้จึงเป็นไปอย่างราบรื่น โดยคํานึงถึงความต้องการของคุณพ่อเป็นหลัก เช่น ต้องการให้บ้านหลังนี้เหมาะแก่การพักผ่อนจริงๆ แต่ยังสามารถรองรับการจัดปาร์ตี้ในโอกาสสำคัญได้ รวมถึงการตกแต่งภายในต้องเป็นสไตล์ญี่ปุ่น แม้ภายนอกจะเป็นแบบโมเดิร์นก็ตาม โดยให้ทั้งสองสไตล์ไปด้วยกันได้อย่างเหมาะสม และต้องรู้สึกอยู่สบายเป็นสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้น กว่าจะออกมา เนี้ยบทุกรายละเอียดแบบนี้ ผู้ออกแบบต้องใช้เวลาออกแบบนานถึง 10 เดือน และก่อสร้างอีก 6 เดือนจึงแล้วเสร็จ
ส่วนรูปทรงของบ้าน เนื่องจากต้องการให้ดูเรียบง่าย ภายในโปร่งโล่ง และที่สำคัญ ฝ้าเพดานต้องสูง แปลนจึงออกมาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดาดูคล้ายห้องขนาดใหญ่ แต่ละห้องมีพาร์ทิชันสามารถสไลด์เปิด-ปิดได้ เผื่อบางเวลาต้องการแบ่งพื้นที่เพื่อความเป็นสัดส่วนชัดเจน อีกทั้งยังช่วยเชื่อมบ้านกับธรรมชาติ รวมไปถึงแปลงเกษตรที่อยู่รายล้อม นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังตั้งใจดีไซน์หน้าต่างบานใหญ่ให้อยู่ทางทิศใต้เพื่อเปิดรับลมเย็น นําความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ตัวบ้านยามฤดูหนาวมาเยือน
เมื่อเราถามถึงโครงบ้านว่ามีอะไรซับซ้อนหรือไม่ ทางผู้ออกแบบเล่าเพิ่มเติมว่าบ้านหลังนี้ใช้โครงสร้างที่มีรูปแบบเรียบง่าย ไม่ได้ใช้เทคนิคใดๆ ให้ยุ่งยาก แต่ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องความพิเศษจริงๆ ก็น่าจะเป็นการใช้ช่างท้องถิ่นที่มีความชํานาญเรื่องโครงสร้างไม้มาช่วยดูแลเรื่องการก่อสร้างให้ เนื่องจากโครงสร้างเหล็กที่ญี่ปุ่นนั้นแพง จึงจำเป็นต้องใช้ไม้แทน นอกจากนี้ แม้บ้านจะเป็นแบบโมเดิร์น แต่ก็ยังคงดึงเอกลักษณ์แบบบ้านญี่ปุ่นมาใช้ เห็นได้จากประตูสไลด์ ขนาด 90×180 เซนติเมตร รางประตูไม้ด้านบนเรียก “คาโมอิ” ส่วนด้านล่างเรียก”ชิกิอิ” เหตุผลที่เลือกเป็นประตูสไลด์ เพราะสามารถเชื่อมพื้นที่ต่างๆ ถึงกันได้ง่าย ทั้งยังนำกระดาษหรือท่ีเรียกว่า โชจิ (Shoji) มาใช้กรุบานประตู อย่างที่มีให้เห็นทั่วไปในบ้านดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น
สำหรับความท้าทายในการออกแบบบ้านหลังนี้ คุณมาซาชิเล่าว่า เป็นเรื่องยากอยู่ทีเดียวว่าจะทำอย่างไรให้บ้านออกมาเรียบง่ายมากที่สุด โดยยังคงสัดส่วนที่สวยงาม และดีเทลการออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนในบ้าน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมรอบๆ จนเมื่อบ้านสร้างเสร็จ และได้เห็นคุณพ่อชื่นชอบห้องนั่งเล่นเป็นพิเศษ เพราะท่านสามารถใช้เวลาจากมุมนี้ ชื่นชมสวนสวยๆ ได้ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนก็เงียบสงบ เรียกว่าสามารถอยู่ที่ห้องนั่งเล่นได้ทั้งวัน ในฐานะของผู้ออกแบบจึงถือว่าบ้านหลังนี้เป็นความสำเร็จทั้งในเรื่องของการทํางานและคุณค่าทางจิตใจอย่างแท้จริง อย่างคำโบราณที่ว่า “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่” แต่ปัจจุบันแค่ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่เห็นจะไม่พอ เพราะนอกจากผู้อยู่จะ “ถูกใจ” แล้ว ความ “สุขใจ” ที่ได้อยู่บ้านก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน