Mary Help of Christian Church (Chaweng) – วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์ไร้การปรุงแต่ง บนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Juti Architects
จากการขยายตัวของชุมชนคาทอลิคบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี กอปรนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสงค์จะเข้าร่วมมิสซามีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้อาคารโบสถ์น้อยหลังเดิมไม่สามารถรองรับจำนวนศาสนิกชนได้เพียงพอ พระสังฆราช โยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล จึงมีแนวคิดที่จะสร้างโบสถ์หลังใหม่ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ของอาคาร 722.5 ตารางเมตร ขึ้นมาแทนที่ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และได้ประทานชื่อโบสถ์หลังใหม่ที่สร้างแล้วเสร็จนี้ว่า วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง
คุณจุติ กลีบบัว สถาปนิกจากบริษัท จุติ อาร์คิเท็คส์ จำกัด ผู้ได้รับเลือกให้ออกแบบ วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ ถอดความจากบทอ่านนักบุญลูกา บทที่ 1:35 และ 1:38 ในไบเบิ้ลซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับหน้าที่ของพระนางมารีย์ โดยมีความว่า
บทอ่านนักบุญลูกา 1:35
ทูตสวรรค์ตอบว่า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่านและพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน เพราะฉะนั้น บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า”
บทอ่านนักบุญลูกา 1:38
พระนางมารีย์จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” แล้วทูตสวรรค์ก็จากพระนางไป
จากบทอ่านข้างต้น จะสังเกตุได้ว่าการมาปรากฏตัวของทูตสวรรค์เพื่อแจ้งข่าวต่อพระนางมารีย์นั้น เป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลังยิ่ง เป็นการยินยอมให้พระจิตสถิตในครรภ์ของนางเพื่อก่อเกิดเป็นพระผู้ไถ่บาป พระนางมารีย์ยอมสละตนเพื่อเป็นสื่อกลางทางธรรมชาติแก่ทางรอดของมนุษย์ ผู้ออกแบบจึงนำแรงบันดาลใจจากบทอ่านนักบุญลูกา มาออกแบบรูปทรงของอาคารโดยมุ่งเน้นให้รูปทรงมีความเรียบง่าย เบาสบาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ภายในอาคารที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยประหนึ่งอยู่ในครรภ์ของมารดา
ผู้ออกแบบอธิบายว่า รูปทรงจากภายนอกอาคารสื่อถึงลักษณะของมือซึ่งยกขึ้นภาวนา ผนวกกับลักษณะของปีกเทวฑูต และรัศมีการสถิตย์ของพระจิต การใช้แสงจากธรรมชาติภายในอาคาร สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกต่อการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าในธรรมชาติรอบตัว และในสิ่งที่เหนือกว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแสงที่ลอดผ่านช่องแสง และเงาของเมฆที่ทอดลงบนผนังอาคารขณะเคลื่อนตัวผ่านอาคารด้านบน การจะสื่อสารสิ่งเหล่านี้ในสภาวะอากาศร้อนชื้นของเกาะสมุย จึงจำเป็นจะต้องสร้างช่องแสงที่มีลักษณะแคบ ยาว และมีฉากรับเงาขนาดใหญ่ รวมถึงปีกที่ยื่นขึ้นทะลุช่องแสง เพื่อสร้างขอบของเงาจากแสงแดดให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลาจากธรรมชาติภายนอก โดยให้เกิดการสูญเสียภาวะสบายภายในอาคารให้น้อยที่สุด
ผู้ออกแบบนำเสนอการตกแต่งอาคารด้วยรูปเชิงสัญลักษณ์ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ร่วมพิธีกรรมสนใจอยู่กับการภาวนา พิธีกรรม และบรรยากาศของธรรมชาติเท่านั้น วัสดุที่ผู้ออกแบบเลือกใช้จึงเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด อย่างผนังปูนขาว พื้นหินขัด กระจก เฟอร์นิเจอร์ไม้ไวท์โอ๊คสีธรรมชาติ และหินอ่อนสีขาวลายเทา ทั้งนี้เพื่อให้ตัวอาคารเป็นเพียงฉากหลังของพิธีกรรมและธรรมชาติโดยรอบ เพื่อการระลึกถึงความสงบภายในจิตใจผู้ภาวนา และความนอบน้อมต่อความยิ่งใหญ่อันแสนเรียบง่ายของพระเจ้าผู้สร้างสรรค์ธรรมชาติทั้งปวง
อาจกล่าวได้ว่า “ไร้ซึ่งการตกแต่ง คือการตกแต่งที่ดีที่สุด” คือบทสรุปในภาพรวมทั้งหมดของ วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ หลังนี้ได้ดีที่สุด
เจ้าของ : มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี
ออกแบบ : คุณจุติ กลีบบัว จาก Juti architects
วิศวกรรมโครงสร้าง : น.ต.รณยุทธ วงศ์มณี
ผู้รับเหมา : บริษัทโฮมเบส คอนสตรัคชั่น จำกัด
ที่ตั้ง : https://goo.gl/maps/h7xAxnbH1wR2
เรียบเรียง : ND
ภาพ : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ , จุติ กลีบบัว